xs
xsm
sm
md
lg

รอดูเลย! รมว.กลาโหมปินส์เชื่อ ‘ทรัมป์’ คงไม่เรียกร้อง ‘ค่าคุ้มครอง’ จากมะนิลา เพราะต่างมี 'จีน' เป็นภัยคุกคามร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กิลเบอร์โต ทีโอโดโร รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์
กิลเบอร์โต ทีโอโดโร รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ระบุวานนี้ (12 พ.ย.) ว่าตนไม่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ต้องจ่ายเงินมากกว่านี้เพื่อแลกกับความคุ้มครองทางทหาร เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ต่างมี “จีน” เป็นภัยคุกคามร่วม

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีขึ้นในการแถลงข่าวระหว่าง ทีโอโดโร กับ ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย เนื่องในพิธีเปิดการประชุมทวิภาคีประจำปีเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม

เมื่อถูกถามว่า ทรัมป์ จะคาดหวังให้ฟิลิปปินส์ต้องจ่ายค่าคุ้มครองเหมือนอย่างที่เรียกร้องจากไต้หวันหรือไม่? ทีโอโดโร ตอบว่า “ผมไม่คิดว่าจะมีคำพูดลักษณะนั้นออกมาจากคุณทรัมป์ หวังว่าคงจะไม่มี”

“ผมเองไม่ได้ตั้งเงื่อนไขหรือสมมติฐานเบื้องต้นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะนำไปสู่อะไรบ้าง เว้นแต่สิ่งที่เราทำร่วมกันอยู่ ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ในระดับสถาบัน” เขากล่าว

“เราทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ต่างมีผลประโยชน์ในการธำรงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน เนื่องจากเรามีภัยคุกคามร่วมกัน --- อาจไม่ทั้งหมด แต่ก็โดยหลักการ --- ซึ่งก็คือกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ก้าวร้าว และเกินขอบเขตของจีน”

ด้าน มาร์เลส กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีความมั่นใจว่าไม่ว่าผลเลือกตั้งสหรัฐฯ จะออกมาในรูปแบบใด ความเป็นพันธมิตรระหว่างแคนเบอร์รากับวอชิงตันจะยังคง “เหนียวแน่น” เหมือนเดิม

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ได้ลงนามบังคับใช้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับซึ่งเป็นการยืนยันอาณาเขตทางทะเลและสิทธิในทรัพยากรทางทะเลของฟิลิปปินส์ ซึ่งก็รวมถึงน่านน้ำทะเลจีนใต้ด้วย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจต่อจีน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด

กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เรียกเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์เข้าพบเพื่อ “ยื่นประท้วงอย่างรุนแรง” นอกจากนี้ทางกระทรวงยังประณามการออกกฎหมายของฟิลิปปินส์ว่าเป็นความพยายาม “ทำให้คำตัดสินที่ผิดกฎหมายของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นผ่านการออกกฎหมายท้องถิ่น”

การเผชิญหน้าระหว่างหน่วยยามฝั่งและกองกำลังทางเรือของจีนและฟิลิปปินส์ในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกลาโหมของฟิลิปปินส์อาจถูกดึงเข้าร่วมวงในที่สุด

สำหรับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่มีชื่อว่า Philippine Maritime Zones Act และ Philippine Archipelago Sea Lanes Act นั้นถูกลงนามโดยประธานาธิบดี มาร์กอส จูเนียร์ ในพิธีซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการย้ำชัดถึงจุดยืนของมะนิลาที่ไม่ยอมรับการอ้างอธิปไตยของปักกิ่งเหนือทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังกำหนดโทษจำคุกและปรับเงินก้อนโตสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย

ที่มา : AP
กำลังโหลดความคิดเห็น