xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมใหญ่ผู้นำอาหรับ-มุสลิม ประณามอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรียกร้องคืนดินแดนทั้งหมด-จัดตั้งรัฐปาเลสไตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย (กลาง) ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับบรรดาผู้นำจากรัฐสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และของกลุ่มสันนิบาตอาหรับ ในการประชุมซัมมิตร่วมกันครั้งพิเศษขององค์การทั้งสอง ที่กรุงริยาด เมืองหลวงซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) (ภาพเผยแพร่โดยสำนักข่าวเอสพีเอ ของทางการซาอุดี)
ผู้นำชาติอาหรับและมุสลิมประณามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอิสราเอลในกาซา พร้อมเรียกร้องยิวถอนออกจากดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดและสถาปนารัฐปาเลสไตน์ ทว่า รัฐมนตรีอิสราเอลดาหน้าคัดค้าน ถึงขั้นประกาศว่า จะดำเนินการเพื่อเข้าผนวกดินแดนบางส่วนในเวสต์แบงก์ปีหน้า

ในการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) บรรดาผู้นำของกลุ่มสันนิบาตอาหรับซึ่งมีสมาชิก 22 ชาติ และขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่มีสมาชิก 57 ชาติ ได้แสดงจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกันเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง หลังจากอิสราเอลและฮามาสทำสงครามในกาซามากว่าหนึ่งปี รวมทั้งลุกลามออกไปยังเลบานอน ตลอดจนอีกหลายชาติในภูมิภาค

ซัมมิตนี้ยังจัดขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประเทศที่เป็นผู้สนับสนุนหลักทางทหารของอิสราเอล

แถลงการณ์ปิดประชุมที่ออกมาในวันจันทร์ (11) ระบุว่า สันติภาพที่เป็นธรรมและครอบคลุมในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ หากอิสราเอลไม่ยุติการยึดครองดินแดนทั้งหมดที่เป็นของปาเลสไตน์ตามเขตแดน ณ วันที่ 4 มิ.ย.1967 ทั้งนี้ ดินแดนดังกล่าวหมายถึงเขตเวสต์แบงก์ เยรูซาเลมตะวันออก ฉนวนกาซา และที่ราบสูงโกลัน

ในแถลงการณ์ยังอ้างอิงมติของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้อิสราเอลถอนออกจากดินแดนเหล่านั้น ตลอดจนแผนริเริ่มสันติภาพอาหรับปี 2002 ที่ประเทศอาหรับเสนอสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติกับอิสราเอล แลกเปลี่ยนกับการที่อิสราเอลทำข้อตกลงสองรัฐ ซึ่งก็คือการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาตามเขตแดนในปี 1967

นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้นานาชาติประกาศแผนการพร้อมขั้นตอนและกำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจงในการสนับสนุนให้รัฐปาเลสไตน์เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็ว คัดค้านการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ โดยกิเดียน ซาร์ ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐยิวคนใหม่ วิจารณ์ว่า แนวทางดังกล่าวไม่สามารถทำได้จริง

เบซาเลล สโมทริช รัฐมนตรีคลังอิสราเอล ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ถึงขั้นประกาศว่า จะผลักดันให้อิสราเอลเข้าผนวกดินแดนบางส่วนในเวสต์แบงก์ในปีหน้า

สำหรับซัมมิตในริยาดคราวนี้ ยังได้แถลงประณามอาชญากรรมน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงของกองทัพอิสราเอลซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ขณะที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดี เรียกร้องให้โลกหยุดการกระทำของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์และเลบานอน พร้อมประณามปฏิบัติการของอิสราเอลในกาซาเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” รวมทั้งยังเรียกร้องให้อิสราเอลยับยั้งการโจมตีอิหร่าน ท่าทีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างริยาดกับเตหะรานซึ่งมีการปรับปรุงกระเตื้องขึ้นมาก

ด้านนายกรัฐมนตรีนาจิบ มิคาติ ของเลบานอน เตือนว่า เลบานอนกำลังเผชิญวิกฤตความอยู่รอด และโจมตีประเทศที่แทรกแซงกิจการภายในของเลบานอน ซึ่งมีนัยหมายถึงอิหร่าน

ขณะที่รองประธานาธิบดีโมฮัมหมัด เรซา อาเรฟของอิหร่าน กล่าวว่า โลกกำลังรอให้ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา ยุติการประหัตประหารผู้บริสุทธิ์ในกาซาและเลบานอนทันที

นอกจากนั้น แถลงการณ์ของที่ประชุมในริยาดยังเรียกร้องให้แบนการส่งออกและการจัดส่งอาวุธให้อิสราเอล

อย่างไรก็ดี มีรายงานจากเว็บไซต์ข่าวแอกซิออสของอเมริกาว่า รอน เดอร์เมอร์ รัฐมนตรีกิจการยุทธศาสตร์ของอิสราเอล ได้เดินทางไปพบทรัมป์ที่รีสอร์ตในฟลอริดาเมื่อวันจันทร์ ก่อนที่เดอร์เมอร์จะไปพบแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน

แอกซิออสรายงานเพิ่มเติมว่า เดอร์เมอร์นำข้อความจากเนทันยาฮูไปถ่ายทอดให้ทรัมป์ฟัง รวมทั้งสรุปแผนการสำหรับกาซา เลบานอน และอิหร่านในช่วง 2 เดือนข้างหน้าก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง

อนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ (10 พ.ย.) ทรัมป์เปิดเผยกับนิวยอร์กโพสต์ว่า จะเสนอชื่อ ส.ส.เอลิส สเตฟานิก ประธานของที่ประชุมพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้มีจุดยืนปกป้องอิสราเอลและต่อต้านอิหร่านอย่างแข็งขัน เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นคนใหม่ของเขา

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น