xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนมีเครียด! ‘ทรัมป์’ เล็งตั้ง ส.ว.สายเหยี่ยว ‘มาร์โก รูบิโอ’ เป็น รมว.ต่างประเทศ เคยโหวตค้านแพกเกจช่วย ‘เคียฟ’ มาแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สื่อสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะแต่งตั้ง ส.ว.มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวใกล้ชิดเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) ซึ่งจะทำให้นักการเมืองชาวฟลอริดาผู้นี้กลายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายละตินคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตสูงสุดของสหรัฐอเมริกา

รูบิโอ ถูกมองว่าเป็น “สายเหยี่ยว” ที่สุดในลิสต์รายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรีต่างประเทศของทรัมป์ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาเรียกร้องให้วอชิงตันใช้นโยบายการทูตที่แข็งกร้าวกับบรรดาศัตรูทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะจีน อิหร่าน และคิวบา

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รูบิโอ ยอมผ่อนจุดยืนลงบ้างในบางเรื่องเพื่อให้เข้ากับมุมมองของทรัมป์ ซึ่งกล่าวหาผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ว่านำอเมริกาเข้าไปพัวพันกับสงครามที่สิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์ รวมถึงสนับสนุนให้สหรัฐฯ ปรับไปใช้นโยบายต่างประเทศแบบ “จำกัดควบคุม” มากขึ้น

แม้ ทรัมป์ จะได้ชื่อว่าเป็นคนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ และอาจเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายได้เสมอ แต่สำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศนั้นดูเหมือนจะลงตัวที่ มาร์โก รูบิโอ ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ทรัมป์ สมัยที่ 2 จะต้องเตรียมตัวเผชิญหน้ากับสถานการณ์โลกที่ผันผวนและอันตราย ทั้งสงครามร้อนระอุในยูเครนและตะวันออกกลาง รวมถึงจีนซึ่งหันไปร่วมมือใกล้ชิดกับรัสเซียและอิหร่านมากขึ้น

วิกฤตการณ์ยูเครนถือเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่สุดสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ โดย รูบิโอ วัย 53 ปี เคยออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยูเครนจำเป็นต้องหาวิธี “เจรจาทำข้อตกลง” กับรัสเซีย มากกว่าจะมุ่งเน้นทวงดินแดนคืนให้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งใน 15 ส.ว.รีพับลิกันที่โหวตคัดค้านแพกเกจความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมูลค่า 95,000 ล้านดอลลาร์ที่ผ่านสภาคองเกรสเมื่อเดือน เม.ย.

แม้ รูบิโอ อาจจะไม่ใช่นักการเมืองประเภทนิยมแนวทาง “โดดเดี่ยว” (isolationist) มากที่สุด ทว่าการแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศของรีพับลิกันภายใต้การนำของทรัมป์ จากเดิมที่เคยเป็นพรรครวมนักการเมืองสายเหยี่ยวที่สนับสนุนการแทรกแซงทางทหารและใช้อิทธิพลทางการทูตแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เวลานี้พันธมิตร ทรัมป์ ส่วนใหญ่ออกมาพูดถึงการ “อดกลั้นยับยั้ง” (restraint) มากขึ้น โดยเฉพาะกับพันธมิตรใน “ยุโรป” ที่พวกรีพับลิกันส่วนใหญ่มองว่า ยังไม่แบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมในสัดส่วนที่เป็นธรรม

“ผมไม่ได้ยืนอยู่ข้างรัสเซีย แต่น่าเสียดายที่ความเป็นจริงก็คือ สงครามยูเครนจำเป็นต้องยุติลงด้วยการเจรจาทำข้อตกลงกัน” รูบิโอ เคยให้สัมภาษณ์กับ NBC ไว้เมื่อเดือน ก.ย.

ที่มา : รอยเตอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น