xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’จะทำอะไรได้บ้างในการยุติ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ซ้าย) พบปะหารือกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เวลานั้นมีฐานะเป็นผู้สมัครชิงทำเนียบขาวของพรรครีพับลิกัน ณ อาคารทรัมป์ทาวเวอร์ ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2024 ทั้งนี้ในช่วงนั้น เซเลนสกี อยู่ระหว่างกำลังพยายามเสนอ “แผนการสู่ชัยชนะ” ของตนให้แก่พวกผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในการพูดคุยกับทรัมป์ (ภาพเผยแพร่โดยสำนักงานบริการสื่อมวลชน ของประธานาธิบดียูเครน)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump and Ukraine: what Russia wants, what Trump could do
by Stephen Bryen
08/11/2024

ทรัมป์อาจจะมีความปรารถนาที่จะต่อรองกับปูติน โดยเสนอจำกัดการขยายตัวขององค์การนาโต้ แลกเปลี่ยนกับการที่รัสเซียลดข้อเรียกร้องมุ่งลงโทษยูเครนให้น้อยลง

กำลังมีรายงานเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งมุ่งคาดเดาหรือรับรองเสนอแนะสิ่งที่คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ชุดที่กำลังจัดตั้งกันขึ้นมา จะกระทำภายในประเทศ รวมทั้งจะใช้กรอบนโยบายอะไรในขอบเขตระดับโลก นอกจากนั้นยังมีข้อวิจารณ์แสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางส่วนก็มาจากพวกที่ปรารถนาใคร่เข้าร่วมคณะบริหารชุดใหม่นี้ ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ควรที่จะกระทำเกี่ยวกับยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://global.espreso.tv/aid-ukraine-policy-at-stake-trumps-advisors-push-competing-agendas)

ทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงคราวนี้ เขาจะยุติสงครามในยูเครนอย่างรวดเร็วมากๆ ในทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่ง เขาพูดเป็นนัยๆ ว่าเขาจะกระทำเรื่องนี้ด้วยการทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบกีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน มีปฏิสัมพันธ์กัน ทว่ารายละเอียดนอกเหนือจากนี้แล้วยังคงเป็นสิ่งที่เราได้แต่เดาเอาเท่านั้น

พวกผู้ปรารถนาต้องการเข้าร่วมคณะบริหารของทรัมป์ กำลังเสนอแนวความคิดกระจัดกระจายไปทั่ว โดยที่หลายๆ อันก็มีความขัดแย้งกันเอง บางคนนั้นต้องการให้มีการเจรจาทำข้อตกลงหยุดยิง อีกหลายคนพูดถึงการจัดตั้งเขตจำกัดควบคุม (รัสเซีย) ขึ้นมาโดยที่ให้ทางยุโรปเป็นผู้ดำเนินการบังคับใช้ กระนั้นยังมีรายอื่นๆ ที่บอกว่าต้องยอมรับความจำเป็นที่จะต้อง “ให้รางวัล” แก่รัสเซีย และปล่อยให้พวกเขาครอบครองดินแดนที่พวกเขายึดเอาไว้ได้ ยังมีบางรายกล่าวว่าเงื่อนไขหนึ่งของดีลที่จะเกิดขึ้นมาก็คืออาจต้องระงับไม่ให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต้สักระยะหนึ่งอาจจะสัก 20 ปี

ทว่าไม่มีใครเลยที่ดูเหมือนมีไอเดียใดๆ ว่าฝ่ายรัสเซียนั้นต้องการอะไรแน่ หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็ดูเหมือนว่าเป็นอย่างนั้น

ทรัมป์เป็นนักเจรจาต่อรองที่ฉลาดหลักแหลม เขาจะต้องการทราบว่าฝ่ายตรงข้ามของเขานั้นต้องการอะไร และเขาจะพยายามหาหนทางต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามของเขารู้สึกสบายอกสบายใจ หรือไม่ก็เพื่อการต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม

รัสเซียนั้นมีความแจ่มแจ้งชัดเจนเป็นอย่างดีเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างน้อยก็เป็นบางส่วน ถึงแม้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง

สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้คือความเข้าใจของผมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ต่างๆ ของรัสเซียในยุโรป การอธิบายเรื่องเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นพ้องกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนะครับ แล้วมันก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดเหล่านี้มีความสำคัญเท่าเทียมกันหมดในสายตาของพวกผู้นำรัสเซีย

รัสเซียจะยืนกรานเก็บดินแดนต่างๆ ที่พวกเขาได้ประกาศผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาวแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้เอาไว้ต่อไป หนทางแก้ไขต่างๆ –ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงหยุดยิง, การตั้งเขตกันชน, หรือรูปแบบบางอย่างของการแช่แข็งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดินแดน—เหล่านี้จะไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่พวกผู้นำของรัสเซียได้หรอก รัสเซียจะเรียกร้องต้องการให้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการประกาศผนวกดินแดนที่พวกเขากระทำไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งหาทางให้มีการสถาปนาเขตแดนที่มั่นคงแน่นอนสำหรับดินแดนเหล่านี้ขึ้นมา นี่หมายความว่าการเจรจาใดๆ เกี่ยวกับดินแดนที่ถูกประกาศผนวกไปแล้วเหล่านี้ แทบจะเป็นเรื่องของการจัดทำแผนที่เท่านั้นเอง

เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องชี้เอาไว้ว่า ไม่เพียงเฉพาะแค่ยูเครนเท่านั้น หากยังพวกผู้สนับสนุนยูเครนในนาโต้ด้วย ที่จำเป็นต้องยอมรับเกี่ยวกับดินแดนที่ถูกรัสเซียผนวกไปแล้วเหล่านี้ ทั้งนี้ มันคงเป็นไปไม่ได้เลยที่รัสเซียจะยอมรับข้อตกลงที่จัดทำเฉพาะกับรัฐบาลของยูเครนเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลทั้งหลายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว

แผนที่ยูเครน แสดงให้เห็นคาบสมุทรไครเมีย ที่ถูกรัสเซียยึดและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาวตั้งแต่ปี 2014  และ 4 แคว้นของยูเครน คือ เคียร์ซอน, ซาโปริซเซีย, โดเนตสก์, และ ลูฮันสก์ ซึ่งรัสเซียประกาศผนวกในเดือนกันยายน 2022
มีช่องทางอยู่บ้างเหมือนกัน -ถึงแม้ไม่มากนัก—สำหรับการยักเยื้องปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องดินแดน เป็นต้นว่าการปรับเปลี่ยนสำหรับอำนวยความสะดวกแก่การเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า, การจัดสรรพลังงานไฟฟ้า, และสำหรับสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอีกประการหนึ่งคือ เรื่องการจัดให้ครอบครัวที่กระจัดพลัดพรายได้กลับมารวมกันใหม่ ตลอดจนการกล่าวอ้างสิทธิและการคัดค้านการกล่าวอ้างสิทธิต่างๆ นานาในเรื่องทรัพย์สินที่ถูกทำลายไป เหล่านี้ก็จะต้องหาหนทางแก้ไขคลี่คลายด้วยเช่นกัน

รัสเซียยังจะต้องการให้มีการค้ำประกันในเรื่องภาษารัสเซียและวัฒนธรรมรัสเซียในยูเครน ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองคริสตจักรออโธดอกซ์รัสเซีย (Russian Orthodox church) ในยูเครน โดยทั้งหมดเหล่านี้ล้วนกำลังถูกโจมตีทำร้ายโดยยูเครน รัสเซียนั้นยืนกรานว่าพวกเขาเข้าสู่สงครามครั้งนี้เพื่อพิทักษ์ปกป้องประชาชนชาวรัสเซียที่พำนักอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในยูเครน แล้วเมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของคริสตจักรออโธดอกซ์ในรัสเซีย ตลอดจนอิทธิพลของคริสตจักรนี้ที่มีต่อ ปูติน และคนอื่นๆ แล้ว ปูตินย่อมไม่สามารถที่จะเดินผละจากไปพร้อมกับยอมรับข้อตกลงที่จะปล่อยทิ้งคนพูดภาษารัสเซียในยูเครนเอาไว้โดยไม่มีการพิทักษ์คุ้มครอง และอยู่ในสภาพอ่อนแอเปราะบาง, ปล่อยทิ้งมองเมินโบสถ์ต่างๆที่ถูกข้าศึกศัตรูเข้าไปยึดครอง, หรือละทิ้งประชาชนให้ตกอยู่ใต้รูปแบบของการแบ่งแยกกีดกันรูปแบบอื่นๆ

เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงยูเครน จู่โจมเข้าตรวจค้นอารามเคียฟ เปเชอร์สก์ ลัฟรา คริสเตียน (Kyiv Pechersk Lavra Christian monastery) ในกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของคริสตจักรออโธดอกซ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2022   หน่วยงานความมั่นคงของเคียฟอ้างเหตุผลการกระทำของตนว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อารมแห่งนี้ถูกใช้ไปในทางบ่อนทำลาย ทว่าแนวความคิดเบื้องหลังจริงๆ ก็คือมุ่งทำลายคริสตจักรออโธดอกซ์รัสเซียในยูเครน
ในระดับของรัฐบาล รัสเซียย่อมต้องการที่จะเห็นรัฐบาลที่เป็นเพื่อนมิตรกับพวกเขามากกว่านี้ขึ้นครองอำนาจในกรุงเคียฟ ว่ากันที่จริง สิ่งที่เริ่มต้นความวุ่นวายยุ่งเหยิงคราวนี้ขึ้นมาทีแรกสุด ก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในกรุงเคียฟจากรัฐบาลที่ยังค่อนข้างเป็นมิตรกับรัสเซีย ให้กลายเป็นรัฐบาลที่เป็นศัตรูกับรัสเซีย และแทนที่สายสัมพันธ์ทางการค้าและทางความมั่นคงที่มีอยู่กับรัสเซีย ด้วยการจัดแจงดำเนินการอย่างใหม่ๆ ของอียูและนาโต้

ยังน่าสงสัยข้องใจอยู่ว่า รัสเซียจะเห็นดีเห็นงามกับเรื่องที่ ยูเครน จะเข้าเป็นสมาชิกของอียูอย่างไรหรือไม่ แต่แน่นอนทีเดียวว่ามอสโกจะต้องเรียกร้องให้นาโต้ถอยออกไปจากยูเครน รัสเซียต้องการให้ยูเครนอยู่ในสภาพที่ปลอดจากการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารใดๆ เป็นส่วนใหญ่ โดยบางทีอาจจะต้องการให้จำกัดจำนวนของพวกอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดหนัก เช่น รถถัง, เครื่องจักรกลไกสู้รบของทหารราบ, ปืนใหญ่, โดรน (ซึ่งฝ่ายรัสเซียอาจเรียกร้องให้นำออกไปทั้งหมด) ขณะที่การป้องกันภัยทางอากาศก็ให้ลดระดับลงหรืออนุญาตให้ใช้สำหรับการคุ้มครองปกป้องพื้นที่บางพื้นที่เท่านั้น

รัสเซียยังจะคัดค้านการจัดส่งอาวุธใดๆ ให้แก่ยูเครนเพิ่มเติมขึ้นอีก และจะเรียกร้องให้ถอนพวกที่ปรึกษาทั้งหมดตลอดจนพวกทหารรับจ้างทั้งหมด รวมทั้งพวกผู้รับเหมารับจ้างด้านการทหารทั้งหลาย ออกไปจากยูเครน

นอกเหนือจากเรื่องของยูเครนแล้ว รัสเซียจะเรียกร้องให้ยกเลิกการแซงก์ชั่นทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกประกาศใช้เพื่อเล่นงานพวกเขา โดยสิ่งที่รัสเซียอาจจะยอมให้ตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยน ก็คือการอำนวยความสะดวกแก่การค้าและการพาณิชย์ของยูเครน

ยังมีพวกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอนาคตของทะเลดำ ซึ่งอาจถูกรวมเข้าไปในการเจรจาต่อรองกัน รวมทั้งประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพวกอาวุธพิสัยยิงได้ไกลๆ ในบางประเทศนาโต้และในรัสเซีย ประเด็นปัญหาที่ใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการลดระดับธรณีประตูก้าวสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ เรื่องนี้สามารถที่จะต่อรองกันโดยเชื่อมโยงกับการเจรจาว่าด้วยยูเครนเลยหรือไม่นั้น ยังไม่มีความกระจ่างชัดเจน
(เรื่องการลดระดับธรณีประตูก้าวสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/russia-nuclear-doctrine-putin-aggressor-fd2f2664c2589cdadfe84bd0bdb7275e)

แน่นอนทีเดียว รัสเซียยังจะเรียกร้องต้องการให้ฟื้นคืนความร่วมมือประสานงานกันทางเศรษฐกิจ และการทำให้ความสัมพันธ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยภาพรวม

ทรัมป์จะต้องพิจารณา “ความต้องการ” เหล่านี้ของฝ่ายรัสเซีย มันอาจจะมากเกินไปสำหรับที่จะรวมเข้าไว้ในการต่อรองดำเนินการเพียงอันเดียว รวมทั้งทรัมป์สามารถคาดหมายได้เลยว่าจะต้องถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงสาหัสจากรัฐบาลเซเลนสกี ด้วยเหตุนี้ ดีลที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าก็คือการทำให้มันเสร็จสิ้นแบบทีละขั้นทีละตอน

สำหรับยุโรป เรื่องใหญ่ก็คือการลดสิ่งที่ฝ่ายยุโรป (และฝ่ายอเมริกัน) คิดเห็นมองกันว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของยุโรป ที่อาจเกิดขึ้นมาได้จากทีท่าการจัดวางกำลังของรัสเซีย ยุโรปนั้นมีความหวาดกลัวว่า รัสเซีย ซึ่งเวลานี้มีกองทัพขนาดใหญ่และประสบการณ์สูง จะเปิดการโจมตีเข้าใส่พวกรัฐริมทะเลบอลติก (Baltic States หมายถึง ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, เอสโตเนีย), หรือเข้าเล่นงานโปแลนด์ หรือ โรมาเนีย

ความพยายามของยุโรปที่จะเสริมความเข้มแข็งให้แก่สมรรถนะทางด้านกลาโหมของพวกเขา เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการกันเป็นระยะยาว และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ามันจะเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน อย่างที่การล้มครืนของคณะรัฐบาลผสมในเยอรมนีเวลานี้ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างสาธิตให้เห็นแล้ว พวกชาติยุโรปบางส่วนนั้นขาดไร้ทรัพยากรต่างๆ แม้กระทั่งสำหรับดูแลรักษาการป้องกันของพวกเขาเองอยู่แล้ว อย่าว่าแต่การจัดสรรเงินทุนออกมาช่วยเหลือกองทัพและรัฐบาลยูเครนเลย

ด้วยเหตุนี้ ยุโรปจะอยู่ในฐานะที่ดีขึ้นกว่านี้ ถ้าหากมีข้อตกลงในลักษณะความตกลงชั่วคราว (modus vivendi) ระหว่างรัสเซียกับยุโรปขึ้นมา โดยที่บรรจุเอาไว้ด้วยการรับประกันต่างๆ ในเรื่องที่จะไม่มีการแทรกแซงกิจการกัน

สำหรับวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯในสงครามคราวนี้นั้น ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะของการกำหนดขึ้นเองเพียงฝ่ายเดียว นั่นคือ ต้องทำให้รัสเซียออกไปจากยูเครน เรื่องนี้จะไม่ใช่จุดยืนของ ทรัมป์ หรอก เนื่องจากเขาจะมีความเข้าอกเข้าใจดีว่าการยืนกรานเรื่องนี้จะทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นพูดจาอะไรกันได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อฝ่ายรัสเซียกำลังเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้

แต่ทรัมป์นั้นทราบดีถึงวิธีการในการทำให้ดีลดูมีเงื่อนไขน่าสนใจเป็นที่ยอมรับกันได้มากขึ้น และทำให้ฝ่ายรัสเซียยอมรับฟังอย่างน้อยก็ในขนาดขอบเขตหนึ่ง ดังนั้นบางทีเขาอาจจะสามารถจัดทำข้อจัดแจงดำเนินการต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การยุติการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ก็เป็นได้

หนึ่งในวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ ซึ่งสมควรที่จะอยู่ในส่วนหนึ่งของแนวคิดของฝ่ายอเมริกัน ทว่าไม่เคยเป็นเช่นนั้นเลย ก็คือว่า การหาทางลดพันธะความผูกพันของอเมริกาที่มีอยู่กับนาโต้ให้น้อยลงมาอย่างสำคัญ นาโต้อยู่ในโหมดของการขยายตัวมาได้พักใหญ่แล้วเมื่อนับถึงเวลานี้ และมันเป็นการขยายตัวที่เสี่ยงจะทำให้ต้องทำสงครามกับรัสเซีย ทรัมป์อาจจะมีความปรารถนามากกว่าที่จะต่อรองกับฝ่ายรัสเซียในเรื่องนาโต้ โดยแลกเปลี่ยนกับการที่มอสโกเรียกร้องต้องการลงโทษยูเครนให้ลดน้อยลงมา

สตีเฟน ไบรเอน เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ และเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเทคโนโลยีความมั่นคง ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น