โครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service - C3S) ของสหภาพยุโรป (EU) ระบุวันนี้ (7 พ.ย.) ว่าปี 2024 อาจจะเป็นปีที่อุณหภูมิทั่วโลก “ร้อนที่สุด” นับตั้งแต่มีการจดบันทึก โดยแซงหน้าสถิติของปีที่แล้ว
ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 หรือ COP29 ซึ่งจะจัดขึ้นที่อาเซอร์ไบจานในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าประเทศต่างๆ จะพยายามแสวงหาข้อตกลงร่วมในการระดมทุนเพื่อรับมือกับสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ทำให้ความคาดหวังจากที่ประชุมครั้งนี้ลดลงไปมาก
C3S ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมาก จนทำให้ปี 2024 คาดว่าจะเป็นปีที่โลกร้อนที่สุด เว้นเสียแต่ว่าอุณหภูมิในช่วงปลายปีจะลดต่ำลงจนแตะเกือบศูนย์องศา
“สาเหตุพื้นฐานที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนทุบสถิติในปีนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
“สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นในภาพรวม และอุ่นขึ้นในทุกทวีป ทุกแอ่งมหาสมุทร ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้เห็นการทำลายสถิติ”
นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนด้วยว่า ปี 2024 อาจเป็นปีแรกที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1850-1900
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติคือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
โซเนีย เซเนวิรัตเน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยวิจัย ETH Zurich เผยว่า “ไม่รู้สึกแปลกใจ” กับการทำลายสถิติใหม่ในครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคี COP29 จัดทำข้อตกลงเพิ่มความพยายามให้มากยิ่งขึ้นในการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
“ขีดจำกัดต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสกำลังพังทลายลง เพราะรัฐบาลทั่วโลกยังคงล่าช้าในการกำหนดมาตรการต่อสู้โลกร้อน” เธอกล่าว
นานาชาติได้ร่วมลงนามข้อตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งกำหนดให้ทุกฝ่ายร่วมกันยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ร้ายแรงที่อาจจะตามมา ซึ่งจนถึงตอนนี้โลกก็ยังไม่ละเมิดเป้าหมายดังกล่าว แต่ C3S คาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะพุ่งสูงทะลุขีดจำกัดของข้อตกลงปารีสในราวๆ ปี 2030
ที่มา : รอยเตอร์