xs
xsm
sm
md
lg

‘สื่อจีน’มองยังไงกับการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรับฯระหว่าง ‘ทรัมป์’ กับ ‘แฮร์ริส’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา


อัลเคนต์ โปเซกู ศิลปินชาวคอซอวอ ตกแต่งผลงานภาพโมเสกทำจากเมล็ดข้าวและเมล็ดพืชต่างๆ ของเขา ซึ่งรังสรรค์เป็นภาพเหมือนของรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ที่เมืองกจาโควา ของ คอซอวอ ในวันเลือกตั้งสหรัฐฯ 5 พฤศจิกายน 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

How Chinese media see Trump vs Harris on election eve
by Jeff Pao
04/11/2024

ผู้รู้และคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนบางรายเสนอแนะว่า หาก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้มีชัยในการเลือกตั้งของสหรัฐฯคราวนี้ มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรสำหรับจีนเสียทีเดียว เนื่องจากแผนการขึ้นภาษีศุลกากรของเขายังอาจจะสร้างความอ่อนแอให้แก่กลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งคณะบริหารไบเดนพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านแดนมังกร

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันอังคาร (5 พ.ย.) นี้ จะเป็นตัวตัดสินว่า นโยบายว่าด้วยจีนของวอชิงตัน จะยังคงอยู่ในเส้นทางปัจจุบันของพวกเขาภายใต้สมัยแห่งระบอบประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส หรือว่า หันเหเข้าสู่ทิศทางใหม่ที่ยังไม่ทราบชัดเจนว่ามันจะเป็นยังไงกันแน่ภายใต้คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ยุค 2.0 รายงานของพวกสื่อจีนระบุเช่นนี้

บรรดาผู้รู้และนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีน ต่างเชื่อว่า แฮร์ริส จะเป็นคนที่สามารถทำนายคาดการณ์ได้มากกว่า เนื่องจากพรรคเดโมแครตของเธอนั้นขับดันเดินหน้าด้วยอุดมการณ์และการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องมากกว่า ขณะที่ ทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่สามารถทำนายคาดการณ์อะไรได้ โดยที่ผู้รู้และคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนจำนวนมาก คาดเดากันว่าเขาอาจจะมีความปรารถนาที่จะเจรจากับจีนมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าหากดีลที่จะตกลงทำกันจะนำพาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงมาให้แก่สหรัฐฯในแนวทางซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “อเมริกาต้องมาเป็นอันดับแรก” (America First) ของเขา

“ถ้าแฮร์ริสได้รับเลือก โดยทั่วไปแล้วเธอก็จะเดินหน้ายุทธศาสตร์จีนของคณะบริหารไบเดนต่อไป” เป็นความเห็นของ ซิว ซินโป (Shiu Sin-por) ประธานของบริษัทมูลนิธิกระบวนทัศน์ใหม่จำกัด (New Paradigm Foundation Company Limited) กลุ่มคลังสมองโปรปักกิ่งที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งกล่าวไว้ในข้อเขียน [1] ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม “กระทั่งถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนอะไรกันขึ้นมา ขนาดขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงก็จะจำกัด แนวโน้มอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯจะมีความชัดเจนแจ่มแจ้ง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_29202471)

เขาบอกว่า ไม่ว่าพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันต่างก็มองจีนว่าเป็นปรปักษ์รายสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ แต่ทางเดโมแครตนั้นให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องอุดมการณ์มากกว่า อีกทั้งเชื่อว่าการผงาดขึ้นมาของจีนจะยังคงเป็นเครื่องท้าทายค่านิยมต่างๆ ของระเบียบโลกปัจจุบันของสหรัฐฯและของฝ่ายตะวันตก

ซิวมองว่า ถ้า แฮร์ริส ชนะ สหรัฐฯก็จะยังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อชะลอการเติบโตขยายตัวของจีนทั้งในด้านแสนยานุภาพทางทหาร, พวกอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ, และภาคเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักอื่นๆ

“แต่ถ้า ทรัมป์ชนะ การเปลี่ยนแปลงในนโยบายจีนของสหรัฐฯก็จะใหญ่โตกว้างขวางกว่า และยากแก่การคาดการณ์ทำนายยิ่งกว่า” เขากล่าว “ทรัมป์บางทีกระทั่งอาจจะใช้พวกเครื่องมือที่มุ่งผลในทางปฏิบัติบางอย่างบางประการ เป็นต้นว่า ภาษีศุลกากร และแผนการมุ่งสร้างแรงจูงใจ เพื่อดึงให้บริษัทต่างๆ หวนกลับไปสหรัฐฯ”

“พิจารณาจากทัศนะมุมมองของจีนแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จีนจะสามารถตกลงอะไรกันได้กับคณะบริหารแฮร์ริส เมื่อเปรียบเทียบกับคณะบริหารทรัมป์ ทรัมป์น่ะเป็นนักธุรกิจที่ฉลาดหลักแหลมมาก และมีความปรารถนาที่จะเจรจาต่อรองกับจีน” ชิว ย้ำ “แน่นอนทีเดียว เรายังต้องไม่เพิกเฉยละเลยกับเรื่องที่ทรัมป์เป็นคนแปรปรวน, ยึดถือหลักการอะไรน้อยมาก, และมีบุคลิกภาพแบบสุดโต่งอีกด้วย”

ชิว ให้ความเห็นต่อไปว่า หาก ทรัมป์ ชนะ กระทั่งความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับสหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, และไต้หวัน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย เนื่องจาก ทรัมป์ ต้องการให้พวกพันธมิตรทั้งหลายต้องร่วมส่วนในแผนการ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) ของเขา ซึ่งเน้นหนักที่การกลับมาสร้างอุตสาหกรรมขึ้นในสหรัฐฯ

ขึ้นภาษีศุลกากร 60% รวดมีโอกาสสูงมาก

เมื่อปี 2018 ทรัมป์ ริเริ่มทำสงครามการค้าเล่นงานจีน ด้วยการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดในอัตรา 25% รวด หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2021 มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปักกิ่งคาดคิดว่าวอชิงตันจะยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีเช่นนี้ รวมทั้งลดระดับการทำสงครามเทคโนโลยีด้วยเหตุผลเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งสองให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะบริหารไบเดนกลับเร่งรัดทั้งสองเรื่องนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นอีก ทั้งด้วยการประกาศใช้กฎระเบียบใหม่ๆ ในการควบคุมการส่งออก เพื่อกีดกันไม่ให้จีนสามารถได้รับพวกชิประดับไฮเอนด์ และพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิประดับไฮเอนด์จากสหรัฐฯ และด้วยการจัดเก็บภาษีศุลกากรใหม่อัตราสูงลิ่วเอากับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ผลิตในจีน นอกจากนั้นแล้ว คณะบริหารไบเดนยังตั้งหน้าตั้งตาขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน รวมทั้งชักชวนโน้มน้าวให้อียูขึ้นภาษีศุลกากรเอากับรถอีวีของจีนด้วย

คอมเมนเตเตอร์จีนบางรายคาดคะแนว่า เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเกิดสงครามการค้ารอบใหม่อย่างดุเดือดเข้มข้นปะทุขึ้นมาภายใต้ทรัมป์ ผู้ซึ่งประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างการรณรงค์หาเสียงคราวนี้ที่จะขึ้นภาษีศุลกากรอัตรา 60% เอากับสินค้านำเข้าจากจีนทุกอย่าง กระนั้นก็ตาม ก็มีคอมเมนเตเตอร์บางรายชี้ว่า จีนอาจจะไม่ใช่เป็นเหยื่อรายใหญ่ที่สุดของการขึ้นภาษีใหม่ครั้งนี้ก็ได้

“ในการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ จีนได้ดำเนินการประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน และกำลังวางแผนการเพื่อ “การลดทอนกระบวนการผูกพันทางการเงิน” (De-financialization) รวมทั้งการจัดตั้งระบบชำระเงินของกลุ่มบริกส์ (BRICS) เพื่อลดทอนผลกระทบทางลบที่เกิดจากการตัดลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ” คอลัมนิสต์ที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลซานซีรายหนึ่งเขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในข้อเขียนซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า “ถ้าทรัมป์ชนะ ใครจะเป็นเหยื่อรายใหญ่ที่สุด?”

ทั้งนี้ “การลดทอนกระบวนการผูกพันทางการเงิน” (De-financialization) หมายถึงนโยบายระดับชาติของจีนที่มุ่งลดทอนพวกกิจกรรมด้านกู้ยืมต่างๆ และฟองสบู่ทรัพย์สินทั้งหลายภายในประเทศ คอลัมนิสต์ผู้นี้ยังกล่าวต่อไปว่า “ถ้าทรัมป์ขึ้นครองอำนาจ สหรัฐฯจะยุติการให้ความช่วยเหลือยูเครน ในเวลาเดียวกันสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็จะไม่ดำเนินต่อไป” ซึ่งเขามองว่า “รัสเซียจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ และมีสถานะในทางระหว่างประเทศสูงส่งยิ่งขึ้น”

เขาทำนายว่า คณะบริหารทรัมป์ 2.0 “อาจจะริเริ่มเปิดสงครามการค้าเล่นงานอียู, สร้างความท้อใจให้แก่การลงทุนของอเมริกันในอินเดีย, และบีบบังคับพวกพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้ต้องร่วมส่วนทำอะไรมากขึ้นอีกให้แก่แผนป้องกันของสหรัฐฯในเอเชีย”

“แบบแผนของโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งทีเดียว ถ้าทรัมป์ได้กลับคืนทำเนียบขาวอีกรอบ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องเลวร้ายนะ ตราบเท่าที่เรามีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี” คอลัมนิสต์ชาวจีนรายนี้บอก

ความขัดแย้งในทางโครงสร้าง

คอมเมนเตเตอร์รายอื่นๆ คาดเก็งกันว่า แฮร์ริส และ ทรัมป์ จะใช้วิธีการที่แตกต่างกันมากในการจัดการกับความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯ-จีนในอนาคต

“ถ้าแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง พวกนโยบายจีนของสหรัฐฯก็จะค่อนข้างคาดการณ์ทำนายได้มากกว่า แต่เวลาเดียวกันกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีนที่นำโดยสหรัฐฯจะยังดำรงคงอยู่ต่อไป” เฉิง หลี่ (Cheng Li) ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์เพื่อจีนร่วมสมัยและโลก (Centre on Contemporary China and the World) ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) พูดเช่นนี้กับสื่อมวลชน ข้างเคียงเวทีประชุมนัดหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้นในวันที่ 13 ตุลาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.china.com/socialgd/10000169/20241102/47500045_all.html#page_2)

หลี่ บอกว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯจะอยู่ในสภาพคาดการณ์ทำนายได้ยากยิ่งขึ้นถ้าหากทรัมป์เป็นผู้ชนะ เนื่องจากเขามีความโน้มเอียงที่จะตัดสินใจโดยอิงอยู่กับผลประโยชน์ทางการค้าและความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เขามีอยู่กับพวกผู้นำของประเทศต่างๆ

ในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาซึ่งอยู่ในความดูแลของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯซึ่งบัดนี้ล่วงลับไปแล้ว หลี่ ประเมินว่าพลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ของจีนกับสหรัฐฯเวลานี้อยู่ในระดับที่เสมอกัน ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนเลยในทางภูมิรัฐศาสตร์ร่วมสมัย

เขามองว่า ความขัดแย้งทางโครงสร้างของสองชาติ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่สองฝ่ายมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านระบบการเมือง, โมเดลทางเศรษฐกิจ, และอุดมการณ์ จะยังคงดำเนินต่อไปในระยะเวลาหลายๆ ปีข้างหน้านี้ เขาเสนอแนะว่าทั้งสองประเทศควรที่จะตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่าไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่สามารถชนะหรือแพ้ โดยที่ไม่สร้างความพังพินาศให้แก่มนุษยชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น