เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเตือนอาจต้องรอหลายวันกว่าจะรู้ว่าใครคือผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่า คะแนนจะออกมาคู่คี่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์และต้องลุ้นกันหืดจับจนถึงวินาทีสุดท้าย
ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกานั้น ประชาชนไม่ได้เลือกผู้นำโดยตรง แต่ถือว่าเป็นการเลือกสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 538 คน ซึ่งจะเป็นผู้โหวตเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีกันจริงๆ
ตามกติกาที่แต่ละรัฐเป็นผู้กำหนด แทบทุกรัฐทางคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐจะโหวตแบบเทคะแนนทั้งหมดให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนป็อปปูลาร์โหวต หรือคะแนนเสียงจากประชาชนสูงสุดในรัฐนั้นๆ โดยที่รัฐขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวน ส.ส. กับ ส.ว.มากกว่า ก็จะมีจำนวนสมาชิกคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าเช่นเดียวกัน
รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน จะต้องได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง นั่นคือ 270 เสียง เพื่อรับประกันว่า จะได้รับกุญแจไขสู่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว
แต่เนื่องจากคาดหมายกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความคู่คี่กันมากและคงต้องลุ้นกันจนวินาทีสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะทราบผลแพ้ชนะเด็ดขาดกันอย่างล่าช้า อีกทั้งน่าจะเกิดสถานการณ์แทรกซ้อนต่างๆ เช่น การท้าทายทางกฎหมายต่อการนับคะแนน
ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า มีผู้ไปใช้สิทธิโหวตล่วงหน้าก่อนถึงวันเลือกตั้งจริงในวันอังคาร (5 พ.ย.) แล้วราว 81 ล้านคน หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2020 เสียอีก
ใช้เวลานับคะแนนนานเท่าใด
สหรัฐฯ เป็นประเทศกว้างใหญ่ และมีการแบ่งเป็นเขตเวลาที่แตกต่างกัน โดยที่เขตเวลาตะวันออก คูหาเลือกตั้งกลุ่มแรกๆ จะปิดในเวลา 18.00 น. วันอังคาร (6.00 น.วันพุธตามเวลาไทย) จากนั้นเขตเวลาอื่นๆ ก็จะทยอยปิดตามๆ กันไป แต่จากสถานการณ์การแข่งขันที่สูสีกันอย่างมาก เป็นไปได้ว่าต้องใช้เวลาหลายวันในการนับคะแนนเพื่อให้ได้ผู้ชนะที่ชัดเจน
ในการเลือกตั้งครั้งก่อนคือเมื่อปี 2020 กว่าที่สื่อใหญ่อเมริกันจะประกาศว่า โจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต เป็นผู้ชนะ ก็คือในวันที่ 7 พ.ย. หรือ 4 วันหลังจากวันเลือกตั้ง 3 พ.ย.
ทั้งนี้ หลังปิดหีบลงคะแนนแล้ว เจ้าหน้าที่เลือกตั้งในท้องถิ่นซึ่งอาจได้รับแต่งตั้งหรือได้รับเลือกตั้งจะประมวลผลและนับคะแนน โดยแต่ละพื้นที่อาจใช้วิธีการนับคะแนนต่างกัน
ภายหลังมีการร้องเรียนและฟ้องร้องกันมากโดยเฉพาะในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังที่ผ่านมา หลายรัฐได้มีการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนระเบียบ เพื่ออนุญาตให้มีการเตรียมพร้อมนับคะแนนจากการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์หรือในต่างประเทศก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทว่า รัฐเพนซิลเวเนียและวิสคอนซินที่ต่างเป็นรัฐสมรภูมิยังคงใช้กฎหมายเดิมคือ ห้ามดำเนินการกับบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับว่า การนับคะแนนอาจล่าช้าออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคะแนนคู่คี่กันมากอาจต้องมีการนับใหม่
ใครเป็นผู้รับรองผลการนับคะแนน
แทนที่จะรอให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประกาศชื่อผู้ชนะอย่างเป็นทางการ พวกสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ มักประกาศผลกันเองโดยอิงกับสิ่งที่รับรู้จากการติดตามความคืบหน้าในการนับคะแนน ทว่า การประกาศดังกล่าวถือว่าไม่เป็นทางการและยังต้องรอให้แต่ละรัฐรับรองผลก่อน ซึ่งกำหนดเส้นตายไว้ที่ไม่เกินวันที่ 1 ธ.ค. จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละรัฐ ก็จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครคนที่ชนะป็อปปูลาร์โหวต
แต่ละรัฐจะต้องส่งผลการลงคะแนนถึงประธานวุฒิสภา (ซึ่งตามกฎหมาย รองประธานาธิบดีคือผู้ครองตำแหน่งนี้ และเวลานี้ย่อมได้แก่ กมลา แฮร์ริส) ภายในวันที่ 25 ธ.ค. และวันที่ 6 ม.ค. รัฐสภาสหรัฐฯ จะประชุมเพื่อนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้ง ก่อนที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.
อุปสรรคที่จะทำให้ล่าช้า
แม้การรับรองผลการเลือกตั้งมีระเบียบแบบแผนที่แน่นอน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีอุปสรรคต่างๆ มาขัดขวางให้ล่าช้า
ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันบรูคกิงส์ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2022 มีเจ้าหน้าที่เลือกตั้งประจำเทศมณฑลอย่างน้อย 22 แห่งโหวตให้ชะลอการรับรองผลการนับคะแนน ซึ่งแทบทั้งหมดก็เป็นพวกเทศมณฑลในพวกรัฐสมรภูมิ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 เกือบ 30%
ขณะที่องค์กรอิสระ อย่างกลุ่มซิติเซนส์ ฟอร์ เรสปอนซิบิลิตี้ แอนด์ เอธิกส์ อิน วอชิงตัน ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่เลือกตั้งอย่างน้อย 35 รายปฏิเสธไม่ขอรับรองผลการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มว่า เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นอีก ซึ่งหากการคัดค้านประสบความสำเร็จ จะส่งผลต่อเส้นตายการรับรองผลการเลือกตั้งของระดับรัฐและระดับรัฐบาลกลาง
ทั้งนี้ กระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งได้ถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเป็นพิเศษ รวมทั้งถูกทำให้กลายเป็นเกมการเมือง นับจากที่ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 2020
ถึงแม้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น การท้าทายทางกฎหมายของทรัมป์และลิ่วล้อนับสิบๆ คดี ในที่สุดก็ถูกศาลตัดสินตีตกไป
นอกจากนั้น ตั้งแต่ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคยังมีการฟ้องร้องอีกหลายคดี ซึ่งอาจทำให้กระบวนการนับคะแนนและรับรองผลการเลือกตั้งเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น
(ที่มา : เอเอฟพี/เอเจนซีส์)