การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน กับกมลา แฮร์ริส ของพรรคเดโมแครต เคลื่อนเข้าสู่ระยะพุ่งโถมตัวเข้าสู่เส้นชัยซึ่งยังมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่งในวันอังคาร (5 พ.ย.) ขณะที่ผู้ออกเสียงชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง เพื่อตัดสินใจเลือก 2 วิสัยทัศน์สำหรับประเทศชาติซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัด
ในเวลาที่หน่วยเลือกตั้งแห่งแรกๆ เริ่มเปิดต้อนรับผู้ออกมาใช้สิทธิ ผลโพลสำรวจและพวกผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คู่แข่งขันสำคัญทั้งสองคือ รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส วัย 60 ที่เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ วัย 78 ผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน ยังคงอยู่ในสภาพที่มีคะแนนนิยมคู่คี่สูสีจนยากลำบากแก่การตัดสินชี้ขาด ในการต่อสู้ช่วงชิงทำเนียบขาวครั้งที่ถือว่ายากลำบากและพลิกผันไปมามากที่สุดในยุคสมัยใหม่
หน่วยเลือกตั้งในรัฐทางภาคตะวันออก เป็นต้นว่า เวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนา และนิวยอร์ก เปิดให้เข้าไปใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 06.00 น. (ตรงกับ 18.00 น.เวลาเมืองไทย) โดยคาดหมายกันว่าตลอดทั้งวันจะผู้ไปใช้สิทธิกันหลายสิบล้านคน เพิ่มเติมจากจำนวนกว่า 82 ล้านคนซึ่งไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากันแล้วในช่วงหลายๆ สัปดาห์ก่อนหน้านี้
ขณะที่ผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะยังไม่เป็นที่ทราบกันไปอีกหลายวันทีเดียว ถ้าผลมีความคู่คี่กันมากอย่างที่โพลทั้งหลายบ่งชี้ไว้ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในประเทศที่มีการแตกแยกแบ่งขั้วกันอย่างล้ำลึกอยู่แล้วแห่งนี้
นอกจากนั้น ยังมีความหวาดกลัวกันว่าจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และกระทั่งความรุนแรงขึ้นมา ถ้าหาก ทรัมป์ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และท้าทายผลเลือกตั้งอย่างที่เขาเคยกระทำในการเลือกตั้งปี 2020
ในวันจันทร์ (4) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียง ทั้ง ทรัมป์ และ แฮร์ริส ต่างทำงานอย่างไม่ยอมเหน็ดยอมเหนื่อยเพื่อปลุกเร้าให้ผู้สนับสนุนของพวกเขาออกมาใช้สิทธิที่คูหาเลือกตั้ง ขณะเดียวกับที่พยายามหาทางเอาชนะใจพวกผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ได้ตัดสินใจคนท้ายๆ โดยเฉพาะในบรรดารัฐสมรภูมิ ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเป็นผู้ชี้ขาดผลการแข่งขันคราวนี้
ทรัมป์ ให้สัญญาจะนำอเมริกาสู่ “ความรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น” ส่วนกมลา แฮร์ริส เรียกร้อง “การเริ่มต้นใหม่” หลังจากอเมริกาถูกครอบงำด้วยวาทกรรมทางการเมืองซึ่งมุ่งปลุกเร้าความเกลียดชังและความรุนแรงของทรัมป์มาเกือบทศวรรษ
รองประธานาธิบดีหญิงจากพรรคเดโมแครตปิดฉากการหาเสียงที่ร็อคกี้สเต็ปส์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากสำคัญของภาพยนตร์ดัง “ร็อกกี้” ในรัฐเพนซิลเวเนีย 1 ใน 7 รัฐสมรภูมิที่ต้องชนะให้ได้
แฮร์ริสประกาศว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นการแข่งขันที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกคะแนนเสียงมีความสำคัญ และอ้างอิงถึงหนัง “ร็อกกี้” ว่า ขอยกย่องทุกคนที่เริ่มต้นในฐานะมวยรองแต่สามารถฝ่าฝันสู่ชัยชนะสำเร็จ
ที่ผ่านมา แฮร์ริส ย้ำอยู่เสมอว่า ตนเองเป็นมวยรอง โดยเธอได้ตั๋วชิงทำเนียบขาวในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครตแบบกะทันหัน หลังจากเมื่อ 3 เดือนที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยอมจำนนต่อการกดดันภายในพรรคและขอถอนตัวจากการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสยืนยันว่า เธอจะชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้
ทางด้านทรัมป์พาสมาชิกครอบครัวหลายคนขึ้นเวทีทิ้งทวนการหาเสียงที่เมืองแกรนด์ราปิดส์ รัฐมิชิแกน
อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันผู้นี้ก็เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนออกไปลงคะแนนในวันอังคาร (5) เพื่อให้ตนเองสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่ประเทศเผชิญอยู่ รวมทั้งพาอเมริกาและโลกสู่ความรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น
การปราศรัยส่งท้ายของทั้งคู่สะท้อนว่า การออกไปใช้สิทธิมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้ครั้งนี้ โดยทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างบอกว่า รู้สึกมีกำลังใจจากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งสูงถึง 82 ล้านคน และตอนนี้ทั้งคู่จำเป็นต้องระดมผู้สนับสนุนออกไปเลือกตั้งในวันอังคาร
ทั้งนี้ ในการหาเสียงช่วงหลายวันสุดท้าย ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันส่งสาส์นถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งกันคนละประเด็นโดยสิ้นเชิง
ที่เมืองรีดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย ทรัมป์ย้ำว่า อเมริกากำลังตกต่ำและตึงเครียดจากปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายที่เขาเรียกว่า “สัตว์” และบรรยายว่า “โหดเหี้ยม”
ด้านแฮร์ริสชูประเด็นต่อต้านการห้ามทำแท้งทั่วอเมริกา และเรียกร้องการเริ่มต้นใหม่ หลังจากอเมริกาถูกครอบงำด้วยวาทกรรมทางการเมืองของทรัมป์มาเกือบทศวรรษ
ถึงแม้มัวหมองจากการถูกตัดสินกระทำผิดคดีอาญา และเรื่องอื้อฉาวที่เหล่าผู้สนับสนุนบุกโจมตีอาคารรัฐสภาเมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่เขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการแข่งขันกับ โจ ไบเดน แต่ต้องถือว่า ทรัมป์ ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุด มีข้อได้เปรียบหลายอย่างในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะจากการตามจิกเรื่องเศรษฐกิจซึ่งคนอเมริกันกำลังมีความกังวล โดยเฉพาะเกี่วกับอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนการใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตีปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายที่ได้ใจฐานเสียงปีกขวา
ในทางกลับกัน แฮร์ริสมีเวลาสร้างแคมเปญหาเสียงแค่ 3 เดือน กระนั้นก็ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อยๆ ในการปลุกเร้าพรรคเดโมแครต รวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มหนุ่มสาวและผู้หญิงอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน ทั่วโลกกำลังตั้งตารอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากจะมีนัยสำคัญต่อวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามในยูเครน รวมถึงการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทรัมป์กล่าวหาว่า เป็นเรื่องโกหกหลอกลวง
สถานการณ์เฉพาะหน้าที่น่ากลัวที่สุดคือประชาธิปไตยของอเมริกากำลังจะถูกทดสอบ หากทรัมป์แพ้แต่ไม่ยอมรับเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่เหล่ากองเชียร์ของเขาบุกโจมตีอาคารรัฐสภา รวมทั้งการที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์ถูกลอบสังหารถึง 2 ครั้ง ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงดูเป็นไปได้มากขึ้น
ที่กรุงวอชิงตันมีการติดตั้งรั้วสูงรอบบริเวณที่พักแฮร์ริสและทำเนียบขาว ขณะที่ห้างร้านหลายแห่งนำแผ่นไม้อัดมาตีปิดกระจกด้านหน้า
ทั้งรัฐออริกอน วอชิงตัน และเนวาดา ต่างเรียกกองทหารรักษาดินแดน (เนชั่นแนล การ์ด) เข้ารักษาการณ์ และกระทรวงกลาโหมเผยว่า อย่างน้อย 17 รัฐสั่งให้สมาชิกกองทหารรักษาดินแดนรวม 600 นายเตรียมพร้อมหากจำเป็น
ด้านสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) จัดตั้งศูนย์บัญชาการการเลือกตั้งแห่งชาติในวอชิงตันเพื่อตรวจติดตามภัยคุกคามตลอดสัปดาห์การเลือกตั้ง นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในคูหาเลือกตั้งเกือบ 100,000 แห่งทั่วประเทศ
รันเบ็ก อิเล็กชัน เซอร์วิส ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยปฏิบัติการเลือกตั้ง ยืนยันข่าวที่ว่า ได้จัดส่งปุ่มกดฉุกเฉิน 1,000 ชุดสำหรับลูกค้าที่รวมถึงพวกหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย โดยอุปกรณ์นี้มีขนาดเล็กสามารถห้อยคอหรือเก็บในกระเป๋า ซึ่งจะจับคู่กับมือถือของผู้ใช้ และเชื่อมต่อกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี )