(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China’s Skydio curbs sound the alarm for US battery supply chain
by Jeff Pao
02/11/2024
คอมเมนเตเตอร์ชาวจีนพากันตีปีก มาตรการแซงก์ชั่นของปักกิ่งที่มุ่งลงโทษพวกบริษัทอเมริกันขายอาวุธให้ไต้หวัน ส่งผลทำเอา “สกายดิโอ” ยักษ์ใหญ่โดรนสหรัฐฯ สั่งซื้อแบตเตอรีมาติดตั้งในผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ได้ ถึงแม้พวกซัปพลายเออร์ของผู้รับเหมารับจ้างทำงานกลาโหมให้สหรัฐฯมีความเคลื่อนไหวแก้ลำ ด้วยการเพิ่มการตั้งโรงงานใหม่ๆ ที่อยู่นอกประเทศจีน
บริษัทสกายดิโอ (Skydio) โรงงานผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาเมื่อไม่สามารถสั่งซื้อแบตเตอรีที่ผลิตโดยบริษัทย่อยในจีนแผ่นดินใหญ่ของ ทีดีเค (TDK) แห่งญี่ปุ่น ภายหลังบริษัทอเมริกันรายนี้ถูกรัฐบาลจีนแซงก์ชั่นคว่ำบาตรเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน
สกายดิโอ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้หาทางขอความช่วยเหลือ [1] จากคณะบริหารโจ ไบเดน ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่ แอดัม บรี (Adam Bry) ประธานบริหารของบริษัทได้เข้าพบกับรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ที่ทำเนียบขาว ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศ [2] แซงก์ชั่นทั้ง สกายดิโอ, ฮันติงตัน อิงกัลส์ อินดัสทรีส์ (Huntington Ingalls Industries), และ เอดจ์ ออโตโนมี โอเปอเรชั่น แอลแอลซี (Edge Autonomy Operations LLC) รวมทั้งพวกผู้บริหารอาวุโสของบรรดาบริษัทอเมริกันที่เป็นผู้รับเหมารับจ้างทำงานด้านกลาโหมอีก 10 ราย โดยกล่าวหาพวกเขาว่ากำลังจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือทางการทหารที่ทรงความสำคัญไปให้แก่ไต้หวัน
หลังจากออกประกาศดังกล่าวนี้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จีนได้เดินทางไปเยือนพวกซัปพลายเออร์ในแดนมังกรที่ส่งวัสดุชิ้นส่วนต่างๆ ให้สกายดิโอ ซึ่งก็รวมถึง ตงกวน เพาเวอร์แรมป์ (Dongguan Poweramp) กิจการในเครือแห่งหนึ่งของ ทีดีเค แห่งญี่ปุ่น และออกคำสั่งให้พวกเขาตัดสายสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับผู้ผลิตโดรนอเมริกันรายนี้ ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) โดยอ้างอิงบุคคลผู้หนึ่งที่คุ้นเคยกับสถานการณ์ เป็นผู้บอกเล่าให้ฟัง
“นี่คือช่วงเวลาที่จะต้องทำให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมโดรน” บรี กล่าวกับพวกลูกค้าของสกายดิโอ ในจดหมายสั้นๆ ซึ่งไฟแนนเชียลไทมส์ได้รับมา “ถ้าหากมันเคยมีข้อสงสัยอะไรกันมาก่อนหน้านี้ การกระทำคราวนี้ก็สร้างความชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจีนจะใช้ห่วงโซ่อุปทานเป็นอาวุธอย่างหนึ่งในการผลักดันผลประโยชน์ของพวกเขาให้อยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของพวกเรา”
เขากล่าวต่อไปว่า ปักกิ่งต้องการที่จะกำจัดบริษัทโดรนอเมริกันชั้นนำอย่างเช่นบริษัทของเขา และทำให้ทั่วโลกต้องพึ่งพาอาศัยบรรดาซัปพลายเออร์ด้านโดรนสัญชาติจีนอย่างมากมายล้ำลึกยิ่งขึ้นไปอีก
บรี ยังบอก [3] กับพวกสื่อสหรัฐฯว่า สกายดิโอยังคงมีสต็อกแบตเตอรีจำนวนเป็นเรื่องเป็นราว ที่สามารถนำมาใช้ได้ต่อไปอีก ทว่าบริษัทไม่คาดหมายว่าจะได้แหล่งใหม่ๆ ของซัปพลายแบตเตอรีเข้ามาจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า เขากล่าวว่าบริษัทได้มีการลงทุนไปแล้วทั้งในการผลิตภายในสหรัฐฯเอง และการหาแหล่งผลิตอื่นๆ ที่อยู่นอกจีน ทว่าแบตเตอรี เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนไม่กี่อย่างซึ่งบริษัทยังไม่ได้โยกย้ายออกมาจากจีน
สกายดิโอ ที่ได้จัดส่งโดรนมากกว่า 1,000 ลำแล้วให้แก่ยูเครน ซึ่งนำไปใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการรวบรวมข่าวกรองและการตรวจการณ์สอดแนม กำลังมองหาซัปพลายเออร์เจ้าอื่นๆ ในเอเชียที่จะใช้เป็นทางเลือกแทนที่ โดยที่บริษัทมีการติดต่อกับรองประธานาธิบดี เซียว บีคิม ของไต้หวันเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วด้วย
ความเคลื่อนไหวของจีนในการตัดทอนไม่ให้จัดส่งแบตเตอรีแก่สกายดิโอคราวนี้ เกิดขึ้นมาในจังหวะเวลาเดียวกับ [4] ที่มีรายงานข่าวเกาหลีเหนือจัดส่งกองทหารเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนกองทัพรัสเซียในยูเครน รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯเพิ่งแถลงกล่าวหาอย่างเป็นรูปธรรมในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ว่า ทหารเกาหลีเหนือราว 8,000 คนประจำการอยู่ตรงชายแดนรัสเซียแล้ว และกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมการสู้รบในยูเครน “ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า”
ปฏิกิริยาจากผู้รู้และนักวิจารณ์ชาวจีน
ถึงแม้คำสั่งห้ามของปักกิ่งครั้งนี้ ยังไม่สามารถก่อกวนการผลิตโดรนของสกายดิโอให้สะดุดติดขัดได้ แต่พวกนักแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนจำนวนมากเวลานี้ก็กำลังอยู่ในอารมณ์เฉลิมฉลองอย่างเริงร่ากันแล้ว
“การแซงก์ชั่นของจีนเพื่อเล่นงานพวกบริษัทสหรัฐฯและบุคลากรสหรัฐฯบางรายบางคน ได้แสดงให้เห็นผลออกมาในเบื้องต้นแล้ว” คอลัมนิสต์ที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลเหอหนานรายหนึ่งซึ่งใช้นามปากกาว่า “จิตวิญญาณหมายเลข1” (Spirit No.1) กล่าว [5] ในข้อเขียนนำออกเผยแพร่วันศุกร์ (1 พ.ย.) “การสั่งห้ามกำลังมีผลกระทบจริงๆ ต่อพวกบริษัทอเมริกัน ดังเห็นได้ว่าเวลานี้ สกายดิโอ มีซัปพลายแบตเตอรีเหลืออบู่ในระดับจำกัด และจำเป็นต้องเสาะแสวงหาซัปพลายเออร์ทางเลือก”
คอมเมนเตเตอร์รายนี้กล่าวต่อไปว่า “เป็นเรื่องลำบากสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯที่จะช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการเอาชนะความท้าทายนี้ในระยะสั้น เมื่อพิจารณาถึงความซับซ้อนและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่”
เขาบอกว่า จากการที่จีนมีห่วงโซ่อุปทานในภาคโดรนอย่างสมบูรณ์พร้อม ทำให้จีนสามารถจำกัดการผลิตและจำกัดการจัดหาจัดส่งชิ้นส่วนต่างๆ ไปให้แก่พวกผู้ผลิตโดรนใช้ในการทหารของสหรัฐฯ
เขากล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีแต่สะท้อนให้เห็นถึงความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ของสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และเสริมด้วยว่าสหรัฐฯสมควรที่จะต้องคิดทบทวนให้มากขึ้นเป็นสองเท่าว่าพวกเขาต้องการให้เกิดการบานปลายขยายตัวใดๆ ออกไปอีกหรือไม่ เนื่องจากมันจะกลายเป็นการสร้างความเจ็บปวดเสียหายให้แก่พวกเขาเองในวันหนึ่งข้างหน้า
ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง [6] ซึ่งเป็นของนักเขียนที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) แลใช้นามปากกาว่า “ห้องสังเกตการณ์หมายเลข 14” (No.14 Observation Room) บอกเอาไว้ว่า “ก่อนหน้านี้จีนเคยประกาศใช้มาตรการตอบโต้มุ่งเล่นงานพวกกิจการสหรัฐฯมาแล้วหลายรอบ ทว่าผู้คนทั่วไปไม่ทราบหรอกว่ามาตรการเหล่านั้นใช้ได้ผลอย่างไรหรือไม่ มาถึงตอนนี้ผู้คนทั่วไปจึงเกิดความรู้สึกพอใจหลังจากได้เห็นว่า สกายดิโอ ล้มเหลวไม่สามารถสั่งซื้อแบตเตอรีจาก ตงกวน เพาเวอร์แรมป์ ได้”
เขากล่าวต่อไปว่า “สหรัฐฯได้เสกสรรอ้างข้อแก้ตัวต่างๆ ขึ้นมาเมื่อทำการแซงก์ชั่นกิจการและบุคลากรทั้งหลายของจีน และพวกเขายังคิดว่าจีนไม่สามารถทำอะไรได้กับการที่พวกเขาขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน มาถึงตอนนี้การตอบโต้เอาคืนของจีนกลับมีผลเกินกว่าการคาดหมายของสหรัฐฯอย่างสิ้นเชิง สกายดิโอไม่ได้มีซัปพลายเออร์ทางเลือกอื่นๆ เตรียมไว้เลย”
นักเขียนผู้นี้กล่าวอีกว่า การแซงก์ชั่นในเวลานี้ของฝ่ายจีน ซึ่งพึ่งเป้าเล่นงานพวกบริษัทสหรัฐฯที่เป็นผู้รับเหมารับจ้างงานด้านกลาโหม ตลอดจนพวกผู้ผลิตโดรน ได้แสดงให้เห็นเพียงแค่ส่วนน้อยนิดเดียวของสมรรถนะในการตอบโต้แก้เผ็ดของปักกิ่ง เขาพูดอีกว่าพวกซัปพลายเออร์ที่อยู่ในจีนของบริษัทรับเหมารับจ้างงานด้านกลาโหมสหรัฐฯ ก็สามารถที่จะตกเป็นเป้าหมายถูกจีนเล่นงานในเวลาต่อๆ ไป
สำหรับปฏิกิริยาจากทางสหรัฐฯนั้น จอห์น มูเลนาร์ (John Moolenaar) ประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (House Select Committee on the Strategic Competition Between the US and Chinese Communist Party) ออกมาแถลงว่า ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯและรัฐสภาสหรัฐฯจำเป็นต้องทำงานร่วมกับฝ่ายอุตสาหกรรมเพื่อจัดทำเครื่องป้องกันต่างๆ ขึ้นมาสำหรับปกป้องคุ้มครองบริษัทสหรัฐฯไม่ให้ถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้อำนาจบังคับเอาในทางเศรษฐกิจ
เขาบอกว่า การที่จีนมีอำนาจควบคุมห่วงโซ่อุปทานทั้งเรื่องโดรน, ยาเวชภัณฑ์, และภาคอื่นๆ คือ “ปืนที่ขึ้นลำเอาไว้แล้ว” ซึ่งเล็งใส่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เขาโจมตีว่าปักกิ่งกำลังอาศัยการที่สหรัฐฯต้องพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ มาทำให้เป็นอาวุธเพื่อเล่นงานประชาชนสหรัฐฯ
ยุทธศาสตร์จีน +1
ขณะที่ สกายดิโอ กำลังทำงานเพื่อหาแหล่งผลิตแบตเตอรีในที่อื่นๆ อยู่นี้ ทางด้าน ทีดีเค ก็บอกว่า กำลังปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ “จีน + 1” (China Plus One) ของบริษัท ด้วยการเพิ่มโรงงานการผลิตแห่งใหม่ๆ ขึ้นในอินเดีย
ประธานบริหารของ ทีเดีเค โนโบรุ ไซโตะ (Noboru Saito) บอก [7] กับสื่อนิกเกอิ (Nikkei) ของญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อปี 2022 ว่า บริษัทของเขากำลังกระจายเครือข่ายโรงงานการผลิตของตน ด้วยการขยายงานเข้าไปในประเทศต่างๆ อย่างเช่นอินเดีย เขาพูดในตอนนั้นว่า ทีดีเค ไม่ได้มองจีนว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของโลกอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้จะยังคงปฏิบัติต่อจีนว่าเป็นฐานการผลิตแบตเตอรีแห่งหลักของตนอยู่ก็ตามที
ในจีนนั้น ทีดีเค และ บริษัทคอนเทมโพแรรี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยีจำกัด (Contemporary Amperex Technology Co Ltd หรือ CATL) ซึ่งเป็นบริษัทจีนที่เป็นหุ้นส่วนกันมาอย่างยาวนาน เมื่อปี 2021 ได้จัดตั้ง [8] กิจการร่วมทุนขึ้น 2 แห่งในเมืองเซียะเหมิน มณฑลฝู่เจี้ยน เพื่อดำเนินการผลิตแบตเตอรีสำหรับใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมปีนี้ ไซโตะได้กล่าวปราศรัย [9] เนื่องใน “วันนักลงทุน” (Investor Day) ประจำปีของ ทีดีเค ว่า ทางบริษัทได้เริ่มต้นการผลิตตามกระบวนการเสมือนจริงแต่ยังไม่ได้มีการทำผลิตภัณฑ์จริงออกมา (back-end processes) สำหรับพวกแบตเตอรีในอินเดียตั้งแต่ปี 2017 เพื่อเป็นการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ “จีน + 1” จากนั้นบริษัทก็ได้เริ่มต้นการผลิตแบตเตอรีในอินเดียในปี 2022 และจะเริ่มต้นดำเนินการผลิตในโรงงานใหม่แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโซห์นา (Sohna) ของอินเดียในปี 2025
“เราจะยังคงขยายงานไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของดีมานด์ของท้องถิ่น” เขากล่าว “ในความพยายามเพื่อจัดซื้อจัดหาวัสดุต่างๆ ของบริษัท เราจะหาทางสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้ได้สูงสุดด้วยการเพิ่มความแข็งแกร่งของห่วงโซ่มูลค่าของเรา ซึ่งก็ครอบคลุมถึงการแสวงหาทางดำเนินความริเริ่มต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ อย่างเช่น การลงทุนในพวกซัปพลายเออร์ที่จัดหาจัดส่งวัสดุต่างๆ ให้แก่บริษัท”
เวลาเดียวกันนี้ น่าสนใจที่มีคณะนักวิชาการสหรัฐฯหลายราย ร่วมกันเขียนข้อเขียนชิ้นหนึ่ง [10] ตีพิมพ์อยู่ใน เดอะ คอนเวอร์เซชั่น (The Conversation) เมื่อวันศุกร์ (1 พ.ย.) ซึ่งระบุว่า ในบรรดาโครงการโรงงานแบตเตอรีรวม 23 แห่งที่ได้รับการประกาศว่ากำลังจัดสร้างหรือกำลังขยายงาน นับตั้งแต่ที่รัฐบัญญัติการลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) มีผลออกมาบังคับใช้ในสหรัฐฯในสมัยคณะบริหารไบเดนนั้น มีอยู่ถึง 72% ทีเดียวซึ่งอยู่ในเส้นทางที่มีการก่อสร้างเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตตามที่คาดหมายกันเอาไว้
คณะนักวิชาการชุดนี้กล่าวว่า โรงงานใหม่ๆ ในสหรัฐฯของ 23 บริษัทเหล่านี้ คาดหมายว่าจะสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมาราวๆ 30,000 แห่ง โดยที่โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้, ภาคตะวันตกกลาง, และภาคตะวันตกเฉียงใต้, ของสหรัฐฯ
เชิงอรรถ
[1] https://www.ft.com/content/b1104594-5da7-4b9a-b635-e7a80ab68fad
[2] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1812516931668740710&wfr=spider&for=pc
[3] https://dronelife.com/2024/10/31/skydio-responds-to-chinese-sanctions-with-temporary-battery-rationing-for-drone-customers/
[4] https://www.theguardian.com/world/2024/oct/31/north-korean-soldiers-at-ukraine-border-says-us
[5] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1814488623073154917&wfr=spider&for=pc
[6] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1814487751255173155&wfr=spider&for=pc
[7] https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/TDK-reduces-production-risks-with-China-plus-strategy-CEO
[8] https://www.tdk.com/en/news_center/press/20210428_01.html
[9] https://www.tdk.com/en/ir/ir_events/strategy/20240522/speech.html#anchor_03
[10] https://theconversation.com/no-americas-battery-plant-boom-isnt-going-bust-construction-is-on-track-for-the-biggest-factories-with-over-23-000-jobs-planned-242567
หมายเหตุผู้แปล
วิกิพีเดีย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัทสกายดิโอ เอาไว้ดังนี้:
สกายดิโอเป็นบริษัทโรงงานผลิตโดรนอเมริกัน ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแซนแมเทโอ (San Mateo) รัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัทผลิตโดรนหลายประเภทสำหรับใช้ในการระแวดระแวงสถานการณ์ในสนามรบ, การตรวจการณ์ระวังเหตุร้าย, และการตรวจสอบ โดรนของสกายดิโอ ออกแบบมาเพื่อให้ปฏิบัติงานอย่างอัตโนมัติโดยผ่าน คอมพิวเตอร์วิชั่น (computer vision แขนงหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ซึ่งเปิดทางให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์และตีความข้อมูลภาพ เป็นต้นว่าภาพนิ่ง และวิดีโอ เพื่อที่จะสามารถระบุและเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุและบุคคลที่มองเห็น) และสามารถปฏิบัติภารกิจในแบบอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการใช้อู่พัก (dock) ซึ่งจะรีชาร์จโดรนอย่างอัตโนมัติ
จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 โดรนของ สกายดิโอ ถูกนำไปใช้อยู่ในทุกๆ กองทัพของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ , กว่าครึ่งหนึ่งของหน่วยงานทั้งหมดในกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯในระดับรัฐ, และกว่า 200 หน่วยงานด้านความปลอดภัยสาธารณะใน 47 รัฐ โดรนของสกายดิโอ ยังถูกนำไปใช้โดยพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า กระทรวง
กลาโหมสหราชอาณาจักร, กองทัพอิสราเอล, และกองทัพอินเดีย นอกจากนั้นแล้ว โดรนของสกายดิโอ ยังถูกจำหน่ายไปในตลาดเชิงพาณิชย์ โดยที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ 4% ณ ปี 2021 อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม 2023 สกายดิโอ ได้ถอนตัวออกจากตลาดโดรนเพื่อผู้บริโภค เพื่อหันมาโฟกัสที่โดรนสำหรับใช้งานทางการทหาร, ตำรวจ, อุตสาหกรรม
ในเดือนมีนาคม 2021 บริษัทสกายดิโอ มีฐานะเป็นบริษัทยูนิคอร์น เมื่อกลายเป็นบริษัทสหรัฐฯรายแรกที่ทั้งผลิตและขายโดรนของตนเองรวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 สกายดิโอ แถลงว่า บริษัทมีอัตราเติบโตถึง 30 เท่าตัวในช่วง 3 ปีหลัง และเวลานี้กลายเป็นผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
(ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Skydio)