เกาหลีเหนือแถลงว่าได้ทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยไกลข้ามทวีปในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ซึ่งเป็นการยกระดับ “อาวุธทางยุทธศาสตร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก” ของตน ขณะที่โฆษกทำเนียบเครมลินปฏิเสธไม่ให้ความเห็นใดๆ เมื่อถูกสอบถามว่า มอสโกกำลังช่วยเหลือเปียงยางพัฒนาขีปนาวุธหรือเทคโนโลยีทางทหารอื่นๆ หรือไม่ ทั้งนี้หลังจากเกาหลีใต้ออกปากแสดงความข้องใจว่า โสมแดงอาจได้รับเทคโนโลยีมิสไซล์จากแดนหมีขาว เพื่อแลกกับการส่งทหารไปช่วยรบกับยูเครน
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า ผู้นำคิม จองอึน ที่ร่วมชมการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ในวันพฤหัสฯ (31) คราวนี้ กล่าวว่า การยิงทดสอบนี้เป็นการปฏิบัติการทางทหารที่เหมาะสมซึ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเตือนศัตรูที่จ้องคุกคามอธิปไตยของเกาหลีเหนือและปลุกปั่นสถานการณ์ในภูมิภาค ว่า เกาหลีเหนือพร้อมที่จะตอบโต้
นอกจากนั้น เคซีเอ็นเอยังคุยว่า การทดสอบครั้งนี้ได้สร้างสถิติใหม่ๆ เกี่ยวกับสมรรถนะทางด้านขีปนาวุธของตน
โดยที่ทางด้านเกาหลีใต้ก็ระบุว่า การทดสอบซึ่งโสมแดงกระทำในตอนเช้าวันพฤหัสฯ เป็นการยิงขีปนาวุธทิ้งตัวครั้งที่มิสไซล์ใช้เวลาในการเดินทางยาวนานที่สุดเท่าที่เปียงยางเคยทดสอบมา โดยบินอยู่ในอากาศนาน 87 นาที
ทั้งนี้ ขีปนาวุธที่ส่งโดยจรวดใช้เชื้อเพลิงแข็งลูกนี้ ถูกยิงออกจากฐานปล่อยจรวดใกล้กรุงเปียงยาง ใช้วงโคจรที่พุ่งตรงโด่งขึ้นฟ้ามากๆ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงยืนยันว่ามันบินไต่ระดับถึงความสูง 7,000 กม. และบินได้ระยะทาง 1,000 กม. ก่อนตกลงห่างจากด้านตะวันตกของเกาะโอกูชิริ นอกเกาะฮอกไกโด ของญี่ปุ่นราว 200 กม.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (30) เกาหลีใต้แถลงเตือนว่า เกาหลีเหนืออาจทดสอบไอซีบีเอ็มหรือไม่ก็ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 ของพวกเขา ในช่วงก่อนถึงกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันอังคารหน้า (5 พ.ย.) เพื่อโชว์แสนยานุภาพทางทหารที่เพิ่มขึ้นของตนเอง
หลังการทดสอบล่าสุดของโสมแดง ฌอน ซาเวตต์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวประณามเกาหลีเหนือว่า ละเมิดมติหลายข้อของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่เกาหลีใต้ประกาศว่า จะตอบโต้ด้วยการซ้อมรบร่วมกับอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทรัพยากรด้านยุทธศาสตร์ของอเมริกา
ชิน เซิงกิ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านกองทัพเกาหลีเหนือของสถาบันเกาหลีเพื่อการวิเคราะห์ด้านกลาโหมของรัฐบาลเกาหลีใต้ มองว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเปียงยางน่าจะมีเป้าหมายในการทดสอบประสิทธิภาพของบูสเตอร์ที่ปรับปรุงใหม่ของไอซีบีเอ็มเดิม ซึ่งเป็นไปได้ว่า ได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย รวมทั้งยังอาจต้องการแสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือจะไม่ยอมจำนนต่อการกดดัน และต้องการให้ส่งผลบางอย่างต่อการเลือกตั้งของอเมริกา
สำหรับทางด้านรัสเซีย เมื่อถูกสอบถามในการประชุมนัดหนึ่งในวันพฤหัสฯ (31) ว่ามอสโกกำลังช่วยเหลือเปียงยางเรื่องขีปนาวุธหรือเทคโนโลยีการทหารอื่นๆ หรือไม่ โฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ ก็ตอบว่า เขาไม่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันเป็นข้อมูลข่าวสารเฉพาะเจาะจงที่ควรไปถามกับกระทรวงกลาโหมรัสเซียโดยตรง
อย่างไรก็ดี เปสคอฟ ได้อ้างอิงถึงความสำคัญของสนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน ที่มีมาตราว่าด้วยการป้องกันร่วมกันด้วย ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับผู้นำคิม จองอึน ของเกาหลีเหนือ ได้ลงนามกันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เขาบอกว่า รัสเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญานี้ รวมทั้งยังคงสนใจพัฒนาความสัมพันธ์กับพวกประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน เรื่องนี้เป็นสิทธิทางอธิปไตยของรัสเซียและเกาหลีเหนือ และคนอื่นๆ ไม่ควรวิตกกังวลไป
ก่อนหน้านี้ในวันพุธ (30) รัสเซียังแถลงว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ โช ซอนฮุย ของเกาหลีเหนือกำลังอยู่ระหว่างไปกรุงมอสโก เพื่อจัดการหารือทางยุทธศาสตร์กับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ถือเป็นการเดินทางเยือนรัสเซียครั้งที่ 2 ในรอบ 6 เดือนของเธอ
การทดสอบยิงมิสไซล์ครั้งล่าสุดของโสมแดงคราวนี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลระแวดระวังตลอดจนการส่งเสียงแสดงไม่พอใจของพวกชาติตะวันตกและเกาหลีใต้ ต่อรายงานข่าวที่สหรัฐฯและอีกหลายชาติยืนยันว่า เกาหลีเหนือกำลังจัดส่งทหารราว 11,000 คนไปยังรัสเซีย โดยที่มี 3,000 คนอยู่ใกล้ๆ ชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซียซึ่งอยู่ติดกับยูเครน
ยาง มูจิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาเกาหลีเหนือในกรุงโซล ชี้ว่า การทดสอบขีปนาวุธของเปียงยางดูเหมือนต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติไปจากกรณีการส่งทหารกว่าหมื่นนายไปรัสเซีย นอกจากนั้นด้วยระยะเวลาและระดับความสูงของไอซีบีเอ็มล่าสุดยังบ่งชี้ว่า เกาหลีเหนือต้องการประเมินว่า สามารถโจมตีได้ไกลถึงแผ่นดินใหญ่อเมริกาหรือไม่
ขณะที่ในวันพุธ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และคิม ยอง-ฮย็อน รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันแถลงประณามเกาหลีเหนือที่ส่งทหารไปรัสเซีย
ทั้งคู่ยังเรียกร้องให้เกาหลีเหนือถอนทหารกลับ และออสตินสำทับว่า อเมริกาจะร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อคัดค้านรัสเซียในการนำกำลังทหารเกาหลีเหนือไปร่วมรบในยูเครน
ด้านคิมเชื่อว่า การส่งทหารเกาหลีเหนือไปรัสเซียอาจทำให้ภัยคุกคามด้านความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากมีโอกาสสูงมากที่เปียงยางจะขอให้รัสเซียถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงการอาวุธของตนเองที่รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี ไอซีบีเอ็ม และดาวเทียมสอดแนมเพื่อแลกเปลี่ยนกับกำลังทหารเกาหลีเหนือ
อนึ่ง เมื่อวันอังคาร (29) เพนตากอนระบุว่า มีทหารเกาหลีเหนือกลุ่มเล็กๆ ถูกส่งไปยังแคว้นคูร์สก์ของรัสเซียแล้ว โดยแคว้นดังกล่าวนั้นถูกกองกำลังยูเครนบุกเข้าโจมตีภาคพื้นดินตั้งแต่เดือนสิงหาคม
ออสตินยังย้ำคำเตือนของทำเนียบขาวว่า ทหารโสมแดงจะเป็นเป้าหมายทางทหารโดยชอบธรรม หากร่วมสู้รบในยูเครน
ทั้งมอสโกและเปียงยางต่างไม่ได้ยอมรับโดยตรง แต่ในวันพุธ วาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็นได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดพันธมิตรของรัสเซียอย่างเกาหลีเหนือจึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือรัสเซียในการสู้รบกับยูเครนได้ แต่ประเทศตะวันตกกลับมีสิทธิ์ช่วยยูเครน
กระนั้น เนเบนเซียบอกว่า การกล่าวอ้างว่า กองกำลังเปียงยางถูกส่งไปแนวหน้าเพื่อสู้รบกับยูเครนเป็นแค่การคาดคะเนเท่านั้น
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)