เจาะลึกนโยบายต่างประเทศสองผู้สมัครในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงกับนโยบายต่อยูเครนและหุ้นส่วนอื่นๆ โดยแฮร์ริสนั้นจะสานต่อวาระของไบเดนเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในประเด็นตะวันออกกลาง ขณะที่ทรัมป์มีแนวโน้มแตกหักจากนโยบายต่างประเทศปัจจุบันของอเมริกา
ยูเครน
ไม่มีประเด็นไหนที่แคนดิเดตคู่นี้เห็นต่างกันมากที่สุดเท่ากับกรณียูเครนอีกแล้ว
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เยาะเย้ยความช่วยเหลือระดับแสนล้านดอลลาร์ที่อเมริกาให้ยูเครน โดยบอกว่า รัสเซียถูกลิขิตมาให้เป็นฝ่ายชนะ
ที่ผ่านมา แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันผู้นี้ยังชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะที่ประมุขทำเนียบเครมลินชมทรัมป์กลับว่า “จริงใจ” ในการพยายามหาทางยุติสงครามในยูเครน โดยบรรดาผู้ช่วยของทรัมป์เคยแย้มว่า อาจใช้ความช่วยเหลือของอเมริกาบีบให้ยูเครนยอมยกดินแดนให้รัสเซียเพื่อให้สงครามจบลงโดยเร็ว
นอกจากนั้น ทรัมป์ยังแขวะประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนที่พยายามล็อบบี้ให้อเมริกาช่วยเหลือว่าเป็น “เซลส์แมนผู้ยิ่งใหญ่” แม้ทั้งคู่พูดคุยกันอย่างสนิทสนมตอนพบกันเมื่อเดือนที่แล้วก็ตาม
ด้านรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ประกาศสนับสนุนยูเครนต่อ และกล่าวกลางเวทีดีเบตกับทรัมป์ในเดือนกันยายนว่า “ถ้าตอนนี้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี มีหวังปูตินเข้าไปนั่งในเคียฟแล้ว”
ตะวันออกกลาง
ผู้สมัครทั้งสองคนต่างสนับสนุนอิสราเอล แต่เห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีกดดันอิสราเอลในสงครามกาซาที่ดำเนินมาเกือบ 13 เดือน และยังเปิดแนวรบใหม่ในเลบานอน รวมทั้งโจมตีตอบโต้กับอิหร่าน
แฮร์ริสแสดงจุดยืนชัดเจนเช่นเดียวกับไบเดนว่า จะจัดหาอาวุธให้อิสราเอลต่อ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากสมาชิกปีกซ้ายในพรรคเดโมแครตให้คว่ำบาตรอาวุธอิสราเอลเพื่อปกป้องพลเรือน อย่างไรก็ดี แฮร์ริสเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์มีสิทธิกำหนดอนาคตของตัวเอง รวมทั้งระบุว่า การที่อิสราเอลสังหารยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำฮามาส เป็นโอกาสในการยุติสงครามในกาซา
ส่วนทรัมป์กล่าวหาคณะบริหารของไบเดนว่า พยายามยับยั้งอิสราเอลอย่างไม่ยุติธรรม และบอกว่า ตัวเองคุยกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลเป็นประจำ
ตอนที่เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ยังลงมือทำหลายอย่างในนามอิสราเอล ซึ่งรวมถึงการย้ายสถานทูตอเมริกันไปยังเยรูซาเลม และจูงใจให้ชาติอาหรับยอมรับอิสราเอล
กระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับเนทันยาฮูค่อนข้างซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น ทรัมป์เคยติเตียนนายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่ร่วมกับผู้นำทั่วโลกให้การยอมรับชัยชนะในการเลือกตั้งของไบเดนในปี 2020 ที่ตัวเขาเองไม่เคยยอมรับกระทั่งถึงตอนนี้แม้มีหลักฐานยืนยันมากมายก็ตาม
จีน-ไต้หวัน
ผู้วางนโยบายของทั้งสองพรรคใหญ่ของอเมริกาลงความเห็นว่า จีนเป็นผู้ท้าทายสำคัญที่สุดในระยะยาว แต่ต่างกันที่วาทะและแนวทางต่อปักกิ่ง
ทรัมป์นั้นโจมตีจีนไม่ไว้หน้าระหว่างปราศรัยหลายครั้ง และประกาศรีดภาษีศุลกากรสินค้าจีนสูงลิบเพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ แต่เปิดช่องว่า พร้อมเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ขณะที่ไบเดนไปสุดกว่าทรัมป์ในบางเรื่อง ซึ่งรวมถึงการแบนการส่งออกชิปไฮเทค
แฮร์ริสโจมตีทรัมป์ “ทรยศชาติ” จากการลังเลในการดำเนินการแบบเดียวกับไบเดนตอนที่อยู่ในตำแหน่งและทำให้กองทัพจีนได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของอเมริกา
ในส่วนไต้หวัน ทรัมป์ทำให้ตกอกตกใจไปตามๆ กันด้วยการบอกว่า ไต้หวันต้องรับผิดชอบต้นทุนในการปกป้องประเทศเอง และเปรียบอเมริกาเป็นบริษัทประกันภัย
ฝ่ายแฮร์ริสประกาศคงสถานะดั้งเดิม ด้วยการสนับสนุนการป้องกันตนเองของไต้หวันที่สอดคล้องกับนโยบายที่ใช้มายาวนานของสหรัฐฯ
พันธมิตรของอเมริกา
ทรัมป์แหวกธรรมเนียมประธานาธิบดีคนก่อนๆ จากทั้งสองพรรค ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของนาโต ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารที่ก่อตั้งขึ้นช่วงต้นสงครามเย็น
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาถึงขั้นประกาศว่า จะส่งเสริมให้รัสเซีย “ทำทุกอย่างที่ต้องการ” กับพันธมิตรนาโตที่ไม่ยอมเพิ่มงบกลาโหม
ขณะที่แฮร์ริสเดินตามรอยไบเดน โดยให้สัญญาว่า จะร่วมมือกับพันธมิตรและยืนหยัดเคียงข้างนาโต
ระหว่างรับตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์ยังแสดงให้เห็นว่า พร้อมล้มข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไม่ชอบใจ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน
นอกจากนั้น ยังคาดกันว่า ทรัมป์จะสนับสนุนให้อเมริกากดดันผู้นำฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวบาและเวเนซุเอลา แม้ประเด็นนี้ไบเดนและแฮร์ริสมีจุดยืนไม่แตกต่างกับทรัมป์มากนักก็ตาม
(ที่มา : เอเอฟพี)