เอเจนซีส์ - สหภาพแรงงานโฟล์คสวาเกน VW แถลงวันจันทร์ (28 ต.ค.) ว่า ฝ่ายบริหารมีแผนเตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อกอบกู้วิกฤตทางการเงินบริษัทหลังยอดขายรถตกต่ำ รถไฟฟ้า VW ขายไม่ดีสู้ค่ายรถแบรนด์จีน BYD ไม่ได้
เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานวานนี้ (28 ต.ค.) ว่า ดานิลา คาวาลโล (Daniela Cavallo) ประธานสภาแรงงานโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) หรือ VW แถลงต่อพนักงานหลายร้อยคนในวันจันทร์ (28) ที่สำนักงานใหญ่ในวูลฟส์บูร์ก (Wolfsburg) ว่า
“บอร์ดบริษัทโฟล์คสวาเกนต้องการปิดโรงงานไม่ต่ำกว่า 3 โรงในเยอรมนี”
และเสริมว่า ส่วนโรงงานที่เหลืออยู่จะทำการลดกำลังการผลิตลง โดยคาวาลโลอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้มาจากระดับบริหาร
นอกจากนี้ ค่ายรถ VW ยังมีแผนที่จะประกาศลดเงินเดือน 10% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้าง อ้างอิงจากเดลีเทเลกราฟของอังกฤษ
มีพนักงานหลายพันคนรวมตัวอยู่ด้านนอกสำนักงานใหญ่ที่วูลฟส์บูร์กวันจันทร์ (28) ประท้วงด้วยการเป่าแตร นกหวีด และแสดงสัญลักษณ์ออกมาให้ฝ่ายบริหารรับรู้
เดอะการ์เดียนชี้ว่า เยอรมนีเวลานี้กำลังประสบปัญหาขั้นร้ายแรงในอุตสาหกรรมการผลิตและหวั่นอาจเกิดการเลิกจ้างครั้งมโหฬาร ซึ่งโฟล์คสวาเกนของเยอรมนีกำลังเตรียมปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุน
IMF ในวันอังคาร (29) ออกมาเตือนในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Sueddeutsche Zeitung ว่าเยอรมนีจำเป็นต้องทั้งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพิชิตวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย รายงานจาก VOA ของสหรัฐฯ
ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลายกำลังบ่นต่อการลดลงดีมานด์ในหลายตลาดหลักหลังอัตราดอกเบี้ยเพิ่มในไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังเกิดการลดต่ำเป็นประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 10 ปีที่ตามมาด้วยวิกฤตการเงินโลก
ค่ายผู้ผลิตยักษณ์ใหญ่ของเยอรมนี รวม BMW เมอร์เซเดซ-เบนซ์ และปอร์เช รายงานตัวเลขผลกำไรลดลงหลังมีปัญหายอดจำหน่ายในจีน
บริษัทโฟล์คสวาเกนมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 120,000 คนในเยอรมนี และครึ่งหนึ่งอยู่ในวูลฟส์บูร์ก
บริษัทมีโรงงาน 10 แห่งทั่วเยอรมนีภายใต้แบรนด์ VW ส่งคลื่นความวิตกไปทั่วประเทศในกันยายนหลังประกาศพิจารณาเตรียมปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของค่าย
และเพื่อทำให้โฟล์คสวาเกนสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง VW ตัดสินใจยุติสัญญาปกป้องการจ้างงาน 30 ปีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อการประหยัด 10 พันล้านยูโร
สื่ออังกฤษชี้ว่า ค่ายรถยักษ์ใหญ่เยอรมนีต่างๆ เป็นต้นว่า โฟล์คสวาเกนต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนการผลิตจากรถใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้าที่ต้องพึ่งแบตเตอรี่ และทำให้ค่ายรถยนต์ดังที่เชี่ยวชาญแต่เฉพาะรถใช้น้ำมันมาโดยตลอดต้องพบกับคู่แข่งค่ายรถชื่อดังจากจีนที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม มีบางโรงงานในเยอรมนีได้หันไปผลิตรถไฟฟ้า แต่ทว่าความต้องการที่มีการเติบโตช้าในรถอีวีทำให้หลายบริษัทไม่มีความสนใจมากพอต่อการลงทุนเพื่อปกป้องตำแหน่งงาน