ผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 บรรลุข้อตกลงวานนี้ (25 ต.ค.) ที่จะเริ่มปล่อยวงเงินกู้ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ยูเครนภายในเดือน ธ.ค. โดยมีดอกผลจากทรัพย์สินรัสเซียที่ถูกตะวันตกอายัดไว้เป็นเครื่องค้ำประกัน
“เงินกู้เหล่านี้จะถูกบริการและจ่ายคืนด้วยรายได้มหาศาลจากทรัพย์สินของรัสเซียซึ่งถูกแช่แข็งไว้” ถ้อยแถลงของ G7 ซึ่งมีขึ้นระหว่างการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุ
“เรามีเป้าหมายที่จะเริ่มเบิกจ่ายเงินทุนภายในสิ้นปีนี้”
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกลุ่ม G7 ได้มีถ้อยแถลงแยกตามมาอีกว่า ข้อตกลงปล่อยกู้แบบทวิภาคี (bilateral loans) เหล่านี้จะถูกจ่ายเป็นงวดๆ ให้ยูเครนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ปีนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2027 “โดยจะจ่ายให้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนทางการเงินของยูเครน”
ทั้งนี้ การปล่อยเงินกู้แบบทวิภาคีจะเริ่มมีผลบังคับไม่ช้าไปกว่าวันที่ 30 มิ.ย. ปี 2025 ซึ่งจะช่วยให้รัฐสมาชิก G7 มีเวลาที่ยืดหยุ่นในการจัดการรายละเอียดต่างๆ
สหรัฐฯ แถลงเมื่อวันพุธ (23) ว่าจะปล่อยเงินกู้จำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครนภายในเดือน ธ.ค. เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่คำสั่งอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข หากว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย.
ทรัมป์ ประกาศจุดยืนว่าจะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจบลงโดยเร็วที่สุด ทว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่นั้นจะยังไม่เข้ารับตำแหน่งจนกว่าจะถึงเดือน ม.ค. ปีหน้า
สำหรับวงเงินปล่อยกู้อีก 20,000 ล้านดอลลาร์คาดว่าจะมาจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีเป็นรัฐสมาชิก G7 อยู่ ส่วนอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ที่เหลือจะเป็นวงเงินปล่อยกู้ที่ให้โดยแคนาดา อังกฤษ และญี่ปุ่น
ที่มา : รอยเตอร์