กองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมเดินหน้าแผนประจำการระบบขีปนาวุธสกัดกั้นแพทริออต (Patriot) บนเรือรบ สืบเนื่องจากความกังวลว่าจีนอาจจะนำขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกออกมาใช้เพื่อโจมตีเรือในมหาสมุทรแปซิฟิก ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านกลาโหม
เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมคนหนึ่งให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า แนวคิดที่จะนำระบบ Patriot Advanced Capability-3 Missile Segment Enhancement (PAC-3 MSE) ซึ่งปกติจะใช้งานในกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นหลักมาประจำการบนเรือรบนั้นเกิดจากข้อกังวลเรื่องเทคโนโลยีขีปนาวุธของจีนที่ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ มีขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิความขัดแย้งในอินโด-แปซิฟิกที่รุนแรงขึ้น การยกระดับพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกองทัพจีน รวมถึงความสำเร็จในการใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธในสมรภูมิยูเครนและตะวันออกกลาง
ทอม คาราโก ผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ระบบ PAC-3 มากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่ชัดเจน ทว่าอุปสงค์ระบบป้องกันภัยทางอากาศชนิดนี้กำลัง "พุ่งสูงทะลุเพดาน" โดยมีรัฐบาลต่างชาติที่สนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก จนกองทัพสหรัฐฯ มีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัวภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
สหรัฐฯ ได้มีการทาบทาม "ญี่ปุ่น" เป็นสถานที่ตั้งโรงงานผลิตระบบแพทริออตร่วม ขณะที่ทางล็อกฮีดมาร์ตินเองก็มีแผนที่จะเปิดสายการผลิตใหม่ในรัฐฟลอริดา ตามข้อมูลที่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเผยกับรอยเตอร์
ปัจจุบัน ระบบ PAC-3 ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถยิงทำลายขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่รัสเซียส่งมาโจมตียูเครนได้ ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็มองว่ามันน่าจะเป็นตัวช่วยเสริมระบบต่อต้านขีปนาวุธที่มีอยู่เดิม ซึ่งยังไม่เคยผ่านการทดสอบในสนามรบจริงว่าจะต้านอาวุธไฮเปอร์โซนิกได้หรือไม่
กองทัพเรือสหรัฐฯ เผยกับรอยเตอร์ว่า "โรดแมปการพัฒนาของเรากำหนดให้ต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการยิง PAC-3 MSE จากเรือ และเชื่อมต่อการสื่อสารกับเรดาร์ SPY-1" ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์หลักของระบบขีปนาวุธเอจิส
จีนได้พัฒนาขีปนาวุธต่อต้านเรือที่มีประสิทธิภาพสูงเอาไว้หลายรุ่น รวมถึง DF-21D "carrier killer" และหัวรบต่อต้านเรือสำหรับใช้งานควบคู่กับขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลาง (IRBM)
ทิม ไรท์ นักวิจัยด้านระบบป้องกันขีปนาวุธของสถาบันนานาชาติเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (IISS) ชี้ว่า ขีปนาวุธ DF-27 ของจีนซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประเมินว่าอาจมีพิสัยทำการไกลถึง 8,000 กิโลเมตร ดูเหมือนจะใช้หัวรบที่ถูกออกแบบอิงกับหลักอากาศพลศาสตร์ เพื่อให้สามารถหลบหลีกการป้องกันของศัตรู หรือโจมตีเป้าหมายซึ่งเคลื่อนที่อยู่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ที่มา : รอยเตอร์