บรรดาประเทศในกลุ่ม BRICS มีความมุ่งมั่นส่งเสริมระเบียบโลกหลายขั้วที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม จากคำกล่าวของประธานาธิบดีวลาดีร์ ปูติน เมื่อวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.) ระหว่างการแถลงข่าวในวันสุดท้ายของที่ประชุมซัมมิต BRICS ครั้งที่้ 16 ในกรุงคาซาน
ปูติน เน้นว่าแถลงการณ์คาซาน ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมได้วางกรอบวาระต่างๆ ในทางบวกสำหรับอนาคต "มันเป็นเรื่องสำคัญที่แถลงการณ์ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของทุกรัฐในหมู่พวกเรา ในการสร้างระเบียบโลกหลายขั้วที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิมและครอบคลุมกว่าเดิม บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติสหประชาชาติ" เขากล่าว
ผู้นำรัสเซียกล่าวต่อว่ากลุ่ม BRICS เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีค่านิยมร่วมกัน ด้วยบรรดาสมาชิกจะทุ่มเทให้การหาทางออกร่วมกัน โดยปราศจากแรงกดดันจากภายนอกหรือแนวทางที่คับแคบ พร้อมเน้นย้ำว่าทางกลุ่ม BRICS ไม่ได้ปฏิบัติการในรูปแบบปิด
ทั้งนี้ ปูติน ยืนยันว่าพวกผู้นำกลุ่ม BRICS เห็นพ้องกับรายชื่อบรรดาประเทศพันธมิตรของกลุ่ม "บางประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมนี้ ได้ยื่นข้อเสนอและคำร้องขอมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบในการทำงานของสมาคม BRICS"
ปูติน อ้างว่าบรรดาชาติสมาชิก BRICS ไม่ได้พัฒนาหรือกำลังพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมาแทนระบบ SWIFT แต่เขาบอกว่าประเด็นนี้ยังคงมีความสำคัญและเหล่าประเทศสมาชิกกำลังมุ่งหน้าสู่การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกัน และเผยว่าปัจจุบันสมาชิก BRICS กำลังใช้ระบบ Financial Messaging System ที่สร้างขึ้นโดยธนาคารกลางรัสเซีย
การที่ตะวันตกยกระดับคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะต่อระบบ SWIFT ที่เป็นพื้นฐานในการทำธุรกรรมการเงินข้ามชาติในระดับโลก การคว่ำบาตรทางการเงินจากสหรัฐฯ และยุโรปที่เล่นงานรัสเซีย ได้ทำให้รัสเซียต้องพัฒนาระบบการโอนเงินของตนเองที่เรียกว่า "Financial Messaging System of the Bank of Russia (SPFS)" ขึ้นมา
SPFS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศสำหรับรัสเซียและประเทศที่มีความคล้ายกันทางการเงิน เช่น ตุรกีและอิหร่าน การพัฒนาระบบนี้เป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการลดความพึ่งพาต่อระบบการทำธุรกรรมการเงินที่อาจถูกคว่ำบาตรได้ในอนาคต นอกจากนี้ รัสเซียยังเชื่อมโยง SPFS กับระบบการชำระเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมเครือข่ายการเงินของตนอย่างที่ยั่งยืน
(ที่มา : ซินหัว/เอเจนซี)