(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
What the West could learn from China on education
by Peter Yongqi Gu and Stephen Dobson
21/10/2024
ระบบการศึกษาของจีนถูกเย้ยหยันจากฝ่ายตะวันตกอยู่บ่อยๆ ว่า เน้นแต่ให้ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง และการเล่าเรียนก็เอาแต่รอให้ครูมาป้อนให้ อย่างไรก็ตาม การท่องจำซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า กับการศึกษาเล่าเรียนแบบเน้นให้ตระหนักถึงความหมายนั้น ไม่ใช่ว่าเป็น 2 คุณสมบัติที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่ต่างหากโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
มีความเชื่อความเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งที่สามารถพบเห็นแพร่หลายไปทั่วทั้งโลกตะวันตก นั่นคือ ความเชื่อความเข้าใจที่ว่าพวกนักเรียนนักศึกษาจีนเป็นผู้ที่ผ่านการเล่าเรียนจากสถาบันการศึกษาที่เอาแต่เน้นการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง ตลอดจนการเรียนรู้แบบเฝ้ารอรับการถ่ายทอด --และระบบการศึกษาเช่นนี้น่าจะสามารถผลิตออกมาได้ เพียงพวกคนงานว่านอนสอนง่ายซึ่งบอกให้ทำอะไรก็ทำได้แค่นั้น ขาดไร้นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์
เราขอโต้แย้งความเชื่อดังกล่าวนี้ว่าห่างไกลจากความจริงเป็นอย่างมาก แท้ที่จริงแล้ว ระบบการศึกษาของจีนกำลังผลิตนักเรียนนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ตลอดจนสามารถสร้างกำลังแรงงานซึ่งทั้งมีทักษะความชำนาญและทั้งมีความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง เราคิดว่าโลกสามารถเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ในปีนี้ มีคลิปวิดีโอคลิปหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวางจนกลายเป็นไวรัล ในคลิปดังกล่าวนี้ ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล กล่าวย้ำเรื่องที่จีนมีแรงงานซึ่งมีทักษะความชำนาญสูง รวมตัวกันอยู่อย่างคับคั่งหนาแน่นจนกลายเป็นความโดดเด่นอย่างพิเศษยิ่งกว่าในประเทศอื่นๆ [1] และบอกว่านี่เป็นจุดสำคัญที่ดึงดูดให้เขาต้องการมาดำเนินการด้านโรงงานผลิตที่ประเทศจีน:
ในสหรัฐฯ คุณอาจจะนัดหมายจัดการประชุมของพวกวิศวกรด้านเครื่องมืออุปกรณ์ขึ้นมา แต่ผมจะไม่แน่ใจหรอกว่าเราจะได้ผู้เข้าร่วมจนเต็มห้องได้ไหม แต่ในจีน คุณสามารถที่จะได้ผู้เข้าร่วมจนเต็มสนามฟุตบอลหลายๆ สนามด้วยซ้ำไป
ปรากฏว่า เรื่องนี้ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา ได้แสดงความเห็นตอบอย่างรวดเร็วบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า “เรื่องจริง”
เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ เดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซินเจิ้นของ บีวายดี ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของจีนในช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ เขาแสดงความประหลาดใจเมื่อได้ทราบ [2] ว่า บริษัทกำลังวางแผนการเพิ่มกำลังแรงงานด้านวิศวกรรมที่มีอยู่แล้ว 100,000 คนของบริษัท ขึ้นไปอีก 1 เท่าตัวภายในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้านี้
เขาอาจจะไม่รู้สึกประหลาดใจถึงขนาดนั้นก็ได้ หากเขาทราบมาก่อนว่าเวลานี้พวกมหาวิทยาลัยต่างๆ ของจีนกำลังผลิตผู้สำเร็จการศึกษากันเป็นจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนอยู่ทุกๆ ปี –นี่คือรากฐานสำหรับเศรษฐกิจระดับซูเปอร์จริงๆ
คุณสมบัติที่เหมือนขัดแย้งกันเองของพวกผู้ศึกษาเล่าเรียนชาวจีน
พวกผู้ศึกษาเล่าเรียนชาวจีน สามารถประสบความสำเร็จในระดับโดดเด่นชนิดทัดเทียมกับพวกผู้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในระบบการศึกษาตะวันตก –หรือในมรดกทางการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แบบขงจื๊อ
นับตั้งแต่ที่ เซี่ยงไฮ้ เข้าร่วมในโปรแกรมการประเมินผลทางการศึกษาระดับระหว่างประเทศ PISA เป็นครั้งแรกในปี 2009 เป็นต้นมา ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ นักเรียนอายุ 15 ปีในจีนติดอันดับท็อปของตารางประเทศและดินแดนที่เข้าร่วมการทดสอบจาก 3 ใน 4 ครั้ง ทั้งในด้านการอ่าน, คณิตศาสตร์, และวิทยาศาสตร์
(PISA ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment โปรแกรมเพื่อการประเมินผลนักเรียนระดับระหว่างประเทศ ที่จัดทำโดยองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) [3]
เพราะเหตุใด ระบบของจีนที่ถูกทึกทักเอาว่าทำให้นักเรียนคอยแต่รอรับการถ่ายทอดและเน้นท่องจำ กลับสามารถเอาชนะระบบของฝ่ายตะวันตกได้เช่นนี้? มีนักวิชาการชาวออสเตรเลียจำนวนหนึ่งกำลังศึกษาวิจัยเรื่อง “คุณสมบัติที่เหมือนขัดแย้งกันเองของพวกผู้ศึกษาเล่าเรียนชาวจีน” [4] เช่นนี้ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แล้ว
ผลการวิจัยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า ความรับรู้ความเข้าใจที่มีกันอยู่ทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติของพวกผู้ศึกษาเล่าเรียนชาวจีนตลอดจนชาวเอเชียอื่นๆ นั้น เป็นความรับรู้ความเข้าใจผิดๆ ตัวอย่างเช่น การท่องจำซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า กับการศึกษาเล่าเรียนแบบเน้นให้ตระหนักถึงความหมายนั้น ไม่ใช่ว่าเป็น 2 คุณสมบัติที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่ต่างหากโดยไม่เกี่ยวข้องกัน ดังมีคำพังเพยของจีนที่กล่าวว่า:
书读百遍其意自现 meaning reveals itself when you read something many times (ความหมายย่อมเปิดเผยตัวเองออกมาให้เห็น เมื่อคุณอ่านอะไรสักอย่างหนึ่งหลายๆ ครั้ง)
ระบบการศึกษาตะวันตกสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้?
การเน้นหนักให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา คือคุณสมบัติที่โดดเด่นชัดเจนประการหนึ่งของวัฒนธรรมจีน ตั้งแต่ในยุคราชวงศ์ฮั่น (ปี 202 ก่อน ค.ศ. - ค.ศ.220) เมื่อลัทธิขงจื๊อ [5] กลายเป็นหลักการความคิดที่ภาครัฐยึดถือปฏิบัติตามเป็นต้นมา การศึกษาก็ได้เข้าสู่ทุกๆ เส้นใยของสังคมจีน
เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นความจริงอย่างเป็นพิเศษขึ้นไปอีก ภายหลังจากระบบสอบคัดเลือกขุนนางพลเรือน เคอจี่ว์ (Keju system of civil service examinations) ได้ผ่านกระบวนการทำให้มันกลายเป็นสถาบันที่มีความมั่นคงถาวรขึ้นมา ในระหว่างยุคราชวงศ์สุย (ค.ศ.581 - ค.ศ.618)
ทุกวันนี้ การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยประจำปีในประเทศจีน ที่เรียกกันว่า เกาเข่า (Gaokao) ก็ไม่ผิดอะไรกับการสอบเคอจี่ว์ในยุคสมัยใหม่ แต่ละปีมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายเข้าสอบกันเป็นหลายล้านคน การสอบซึ่งจัดขึ้นทุกๆ เดือนกรกฎาคมกินเวลา 3 วัน ในช่วงการสอบเกาเข่านี้ สังคมจีนส่วนใหญ่แล้วแทบจะอยู่ในอาการหยุดชะงักงันกันทีเดียว
ในเมื่อแรงขับดันทางวัฒนธรรมเพื่อไปสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา คือแรงจูงใจที่สำคัญมากประการหนึ่งของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในระบบนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องที่สังคมแบบตะวันตก จะสามารถเรียนรู้และลอกเลียนได้อย่างง่ายๆ
อย่างไรก็ดี มีหลักการอยู่ 2 ประการที่เราเชื่อว่าเป็นแกนกลางแห่งความสำเร็จทางการศึกษาของจีน ทั้งในระดับของผู้ศึกษาเล่าเรียนและในระดับของระบบ เราขอใช้สำนวนจีน 2 สำนวนเพื่อวาดภาพให้เห็นหลักการที่ว่านี้
อย่างแรก เราขอเรียกว่า “ความก้าวหน้าอย่างเป็นระเบียบและค่อยเป็นค่อยไป (orderly and gradual progress) – 循序渐进 หลักการข้อนี้เน้นหนักที่ความอดทน, การเรียนรู้แบบทีละก้าวและเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งประคับประคองเอาไว้ด้วยความทรหดกล้าหาญ และการรู้จักรอคอยเพื่อให้ได้รับความอิ่มเอมใจในภายหลัง
อย่างที่สอง เราขอเรียกว่า “การสะสมอย่างแน่นหนาก่อนที่จะเป็นการผลิตออกมาอย่างบางเฉียบ” (thick accumulation before thin production – 厚积薄发) หลักการนี้เน้นหนักความสำคัญของ 2 สิ่ง:
**รากฐานที่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งเกิดขึ้นจากการสะสมความรู้พื้นฐานและทักษะความชำนาญพื้นฐาน
**การซึมซับ, การบูรณาการ, และความคิดสร้างสรรค์แบบมีผลผลิต จะเกิดขึ้นมาได้ต่อเมื่อภายหลังมีรากฐานที่หนักแน่นมั่นคงนี้
ตัวอย่างที่ชัดเจนของความก้าวหน้าอย่างเป็นระเบียบและค่อยเป็นค่อยไปที่กล่าวมานี้ ก็คือวิธีการที่ใช้กันในการเรียนรู้การเขียนอักษรวิจิตรด้วยพู่กันจีน (calligraphy) มันเริ่มต้นจากง่ายไปสู่ยาก, เรียบๆ สู่ความสลับซับซ้อน, การเลียนแบบสู่การเขียนอย่างอิสระเสรี, การเน้นเทคนิคสู่การสร้างงานศิลปะ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ในโรงเรียนระดับประถมและระดับมัธยมต้นทุกแห่งในประเทศจีน จะมีการเรียนวิชาเขียนอักษรด้วยพู่กันจีนเป็นวิชาบังคับสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ศิลปะของการเขียนอักษรจีนนั้น อาศัยทั้งความอดทน, ความขยัน, การหายใจ, การมีสมาธิ, และความซาบซึ้งในความงามตามธรรมชาติของจังหวะ มันเป็นสิ่งที่สอนให้รู้จักคุณค่าเรื่องการประสานสอดคล้อง และจิตใจแห่งสุนทรียศาสตร์ของจีน
“การสะสมอย่างแน่นหนา” ยังสามารถที่จะวาดออกมาเป็นภาพของวิธีการที่พวกนักเรียนต้องศึกษาอย่างหนักสุดๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าสอบเกาเข่าระดับชาติ รวมทั้งในระหว่างที่พวกเขาศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วย จากการปฏิบัติตนในหนทางเช่นนี้ พวกเขาก็สะสมความรู้พื้นฐานและทักษะความชำนาญพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่
“การผลิตออกมาอย่างเบาบาง” หมายถึงความสามารถที่จะย่นย่อหรือรวมศูนย์จุดโฟกัสของความรู้และทักษะความชำนาญที่ได้สะสมเอาไว้นี้ เพื่อค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาและปฏิบัติตามหนทางดังกล่าว อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าในสถานที่ทำงานหรือที่อื่นๆ
หนทางต่างๆ ของการเรียนรู้
เมื่อดูจากระดับเปลือกนอกหรือผิวนอกแล้ว การเน้นหนักที่ความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ และการสะสมความรู้พื้นฐานและทักษะความชำนาญพื้นฐาน อาจจะแลดูคล้ายกับกระบวนการที่เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ, ราบเรียบจำเจ, และน่าเบื่อหน่ายไร้ความตื่นตาตื่นใจ –ซึ่งนี่แหละคือต้นตอที่มาของมายาภาพที่แพร่หลายไปทั่วเกี่ยวกับวิธีการศึกษาเล่าเรียนแบบจีน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันนำไปสู่เหตุผลข้อโต้แย้งง่ายๆ ที่ว่า หากปราศจากการมีความรู้พื้นฐานและทักษะความชำนาญพื้นฐานอย่างเพียงพอจนถึงระดับมวลวิกฤต (critical mass) แล้ว มันก็แทบไม่มีทางเกิดการซึมซับและการบูรณาการเพื่อให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อเกิดผลผลิตขึ้นมาได้
แน่นอนทีเดียว การเรียนรู้แบบจีนและการศึกษาแบบจีนนั้นมีปัญหาต่างๆ หลายหลากของมันเองเช่นกัน และไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่ระบบเช่นนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านจนเกินไป หรือมีการให้น้ำหนักกับการสอบมากเกินไปเท่านั้นด้วย กระนั้นจุดโฟกัสของเราในที่นี้คือ เพียงแค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าหลักการพื้นฐานทางการศึกษา 2 ประการ สามารถกลายเป็นรากฐานอันแข็งแรงรองรับความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนในระบบเศรษฐกิจซึ่งเน้นความรู้สมัยใหม่ได้อย่างไร
เราเชื่อว่าหลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถถ่ายโอนกันได้ และมีศักยภาพที่จะอำนวยประโยชน์ทั้งสำหรับนักวางนโยบาย, นักวิชาการ, และผู้ศึกษาเล่าเรียน ซึ่งอยู่ในสถานที่แห่งหนอื่นๆ อีกด้วย
ปีเตอร์ หย่งฉี กู่ เป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่วิทยาลัยภาษาศาสตร์และภาษาประยุกต์ศึกษา (School of Linguistics and Applied Language Studies) มหาวิทยาลัย เต เฮเรนกา วากา (Te Herenga Waka) ในภาษาเมารี หรือมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย แห่งเวลลิงตัน ในภาษาอังกฤษ ส่วน สตีเฟน ด็อบสันเป็นศาสตราจารย์ และคณบดีด้านการศึกษาและศิลปะ ของมหาวิทยาลัยซีคิว ออสเตรเลีย (CQUniversity Australia)
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/what-makes-chinese-students-so-successful-by-international-standards-238325
เชิงอรรถ
[1] https://www.moneycontrol.com/news/trends/tim-cook-explains-why-apple-chooses-china-for-manufacturing-in-viral-video-elon-musk-agrees-12816379.html
[2] https://dirco.gov.za/remarks-by-president-cyril-ramaphosa-at-the-shenzhen-business-roundtable-on-the-occasion-of-the-state-visit-to-the-peoples-republic-of-china-beijing-china-3-september-2024/
[3] https://www.oecd.org/en/about/programmes/pisa.html
[4] https://www.johnbiggs.com.au/academic/the-paradox-of-the-chinese-learner/
[5] https://asiasociety.org/education/confucianism