xs
xsm
sm
md
lg

อิทธิฤทธิ์ ‘ไต้ฝุ่นจ่ามี’ ทำฟิลิปปินส์น้ำท่วมหนัก-เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 26 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่กู้ภัยฟิลิปปินส์เร่งเดินทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตบีโกล (Bicol) วันนี้ (24 ต.ค.) หลังฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นจ่ามี (Trami) ทำให้หมู่บ้านหลายแห่งจมอยู่ใต้บาดาล และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 26 คน ขณะที่ชาวบ้านอีกกว่า 160,000 คนต้องละทิ้งบ้านเรือนไปอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิง

สถานศึกษาและหน่วยงานรัฐถูกสั่งปิดทั่วพื้นที่ภาคเหนือของฟิลิปปินส์ก่อนที่ไต้ฝุ่นจ่ามีจะพัดขึ้นฝั่งที่เกาะลูซอน โดยก่อนหน้านั้นความรุนแรงของพายุได้สร้างความเสียหายในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลามาแล้ว

รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ป้องกันพลเรือนซึ่งระบุว่า ชาวบ้านราว 163,000 คนต้องไปอาศัยอยู่ตามศูนย์พังพิง โดยเฉพาะในเขตบีโกลซึ่งระดับน้ำท่วมสูงเกือบถึงหลังคาบ้านแบบบังกาโลว์ ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนฟิลิปปินส์แถลงวันนี้ (24) ว่ามีเที่ยวบินกว่าสิบเที่ยวที่ต้องถูกยกเลิกทั่วประเทศจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นลูกนี้

ที่เมืองนากา (Naga) และนาบัว (Nabua) เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เรือเป็นพาหนะเพื่อเข้าถึงชาวบ้านที่ติดอยู่บนหลังคา

“พวกเขาโพสต์ข้อความช่วยเหลือ (ผ่านเฟซบุ๊ก) เราจึงได้ทราบว่ามีคนติดอยู่” ลุยซา คาลูบาควิบ โฆษกตำรวจเขตบีโกล ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ระบุว่า “ดวงตา” ของไต้ฝุ่นจ่ามีได้เคลื่อนผ่านเขตภูเขาตอนในทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์ไปเมื่อเวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยความเร็วลมของพายุอยู่ที่ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าไต้ฝุ่นลูกนี้จะเคลื่อนตัวพ้นจากฟิลิปปินส์ภายใน 12 ชั่วโมง

ตำรวจท้องที่ยืนยันว่ามีประชาชนในเขตบีโกลกว่า 30,000 คนถูกสั่งอพยพในวันพุธ (23) และระดับน้ำที่ท่วมสูงเกินความคาดหมายส่งผลให้ถนนหลายสายกลายสภาพเป็นแม่น้ำ

ลอรี เดอลา ครูซ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ บอกกับเอเอฟพีว่า มีปริมาณฝน “เทียบเท่า 1 เดือน” ตกในพื้นที่ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงตั้งแต่ 8.00 น. ของวันที่ 22 ต.ค. จนถึงเช้าวันถัดมา โดยจังหวัดคามารีเนสซูร์ (Camarines Sur) และเมืองเลกัซปีในจังหวัดอัลไบ (Albai) ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด

แม้หมู่เกาะฟิลิปปินส์จะเผชิญพายุและไต้ฝุ่นหลายลูกในช่วงเวลานี้ของปีจนเป็นเรื่องปกติ แต่มีงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ที่พบว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้พายุก่อตัวใกล้ชายฝั่งมากขึ้น ทวีกำลังแรงเร็วขึ้น และสามารถคงอยู่ได้นานขึ้นด้วย

ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี






กำลังโหลดความคิดเห็น