xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ! เชื้ออีโคไลโยง 'เบอร์เกอร์แมคโดนัลด์' ลามทั่วสหรัฐฯ คาดตามมาอีกหลายเคสหลังตาย 1 ล้มป่วยแล้วเกือบ 50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แมคโดนัลด์ ในวันพุธ (23 ต.ค.) ดิ้นรนจำกัดความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล ที่เชื่อมโยงกับแฮมเบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์ ซึ่งแผ่ลามไปทั่วสหรัฐฯ คร่าชีวิตผู้บริโภคแล้ว 1 ราย และล้มป่วยอีกเกือบ 50 คน ในขณะที่พวกเขาตัดสินใจถอดเมนูดังกล่าวออกจากสาขาต่างๆ ในหลายสิบรัฐ

การระบาดทำให้ผู้คนล้มป่วยทั่วภูมิภาคทางตะวันตก และตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ โดยในบรรดาผู้ป่วยเกือบ 50 คนนั้น มีอยู่ 10 รายที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล สืบเนื่องจากอาการแทรกซ้อนรุนแรง อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนการแพร่ระบาด ขณะที่โฆษกของแมคโดนัลด์ ยืนยันว่าการแพร่ระบาดจำกัดวงอยู่เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น

ในบรรดาผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น รวมไปถึงเด็กรายหนึ่งที่มีอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (hemolytic uremic syndrome) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดขนาดเล็กในไตได้รับความเสียหาย หรือเกิดการอักเสบจนอาจเป็นเหตุให้เกิดลิ่มเลือดภายในเส้นเลือด

"เราคาดหมายว่าจะพบเห็นเคสผู้ป่วยเพิ่มเติม" ทอม สคินเนอร์ โฆษกของซีดีซีระบุ "แมคโดนัลด์ เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการเข้าจัดการ และหวังว่ามันจะช่วยป้องกันเคสต่างๆ ได้มากมายเท่าที่จะเป็นไปได้"

เมื่อวันอังคาร (22 ต.ค.) หน่วยงานสาธารณสุขแห่งนี้ออกคำแนะนำว่าบุคคลใดที่รับประทานแฮมเบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์ และมีอาการต่างๆ ของพิษเชื้ออีโคไล เช่น ท้องเสียง มีไข้สูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียส และอาเจียนให้รีบไปพบแพทย์ในทันที

ปกติแล้วอาการต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มขึ้น 3 ถึง 4 วันหลังจากติดเชื้อ และคนส่วนใหญ่จะฟื้นไข้ได้เองภายใน 5 ถึง 7 วัน โดยไม่ต้องรับการรักษาใดๆ อย่างไรก็ตาม มีบางเคสที่อาจมีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล

ก่อนหน้านี้ การแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล ณ บรรดาเครือข่ายอาหารฟาสต์ฟูดใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ เคยเป็นเหตุให้ผู้บริโภคหมางเมินเครือข่ายร้านฟาสต์ฟูดเหล่านั้นเป็นเวลาหลายเดือน ในเรื่องนี้ทาง โจ เออร์ลินเกอร์ ประธานภูมิภาคอเมริกา ของแมคโดนัลด์ ยอมรับในวันพุธ (23 ต.ค.) ว่าพวกเขาจำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน หลังถอดเมนูดังกล่าวออกจากสาขาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ประมาณ 1 ใน 5 จากทั้งหมด 14,000 สาขา

บริษัทถอดแฮมเบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์ ออกจากสาขาต่างๆ ของแมคโดนัลด์ ในรัฐโคโลราโด แคนซัส ยูทาห์ และไวโอมิง และในบางพื้นที่ในไอดาโฮ ไอโอวา มิสซูรี มอนแทนา เนบราสกา เนวาดา นิวเม็กซิโกและโอคลาโฮมา

ซีดีซี และแมคโดนัลด์กำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้นบรรดาซัปพลายเออร์ทั้งหลายของบริษัท ที่เป็นผู้ป้อนหัวหอมหั่นและเนื้อบด ในความพยายามสรุปถึงสาเหตุของการแพร่ระบาด

เชื้ออีโคไลสายพันธุ์ O157:H7 ที่นำมาซึ่งการแพร่ระบาดในแมคโดนัลด์ เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายร้านฟาสต์ฟูดแจ็คอินเดอะบ็อกซ์เมื่อปี 1993 ที่คราวนั้นคร่าชีวิตเด็กไป 4 ราย มันสามารถก่อการติดเชื้ออาการรุนแรงมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชรา เด็กและบุคคลที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ

โฆษกของแมคโดนัลด์ อ้างว่าบรรดาซัปพลายเออร์ของแมคโดนัลด์ ได้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์ของตนเองบ่อยครั้ง และในนั้นรวมถึงในตอนที่ทางซีดีซีระบุว่าเป็นช่วงเวลาของการแพร่ระบาด และไม่พบเชื้ออีโคไลในผลิตภันฑ์เหล่านั้นแต่อย่างใด

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นบีซีในวันพุธ (23 ต.ค.) เออร์ลินเกอร์ เน้นย้ำว่าทางบริษัทได้ใช้มาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วในการถอดแฮมเบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์ ออกจากเมนู ในพื้่นที่ต่างๆ ที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้น "สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ลำดับความสำคัญของเราคือเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอเมริกา"

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น