(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Latest Taiwan drills show off PLA deterrence
by Jeff Pao
15/10/2024
องค์การคลังสมองชื่อดังที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จีนจะจัดการกับไต้หวัน ด้วยการใช้แผนปิดล้อมอย่างชนิดทุ่มสุดตัว
กองทัพปลดแอกประชาชนจีน เปิดการซ้อมรบเป็นเวลา 1 วันที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ดาบประสาน 2024 บี” (Joint Sword-2024B Exercise) ในพื้นที่รอบๆ และใกล้ๆ เกาะไต้หวันเมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.) ที่ผ่านมา โดยจุดที่มีการเน้นหนักแข็งขันก็คือการฝึกเพื่อป้องปรามไม่ให้สหรัฐฯสามารถเข้ามาแทรกแซง ในกรณีที่เกิดการสู้รบใดๆ ขึ้นในช่องแคบไต้หวัน
กองบัญชาการยุทธบริเวณภาคตะวันออก (Eastern Theater Command) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (ทปจ.) แถลง [1] ในวันจันทร์ (14 ต.ค.) ว่า ได้จัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” เข้าร่วมการซ้อมรบ ข้างเคียงทหารจากกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ,และกองกำลังจรวดของตน ทั้งในด้านการร่วมมือประสานงานระหว่างเรือ-เครื่องบิน, การควบคุมทางอากาศร่วม, และการโจมตีใส่เป้าหมายทางทะเลและทางภาคพื้นดินในน่านน้ำและน่านฟ้าต่างๆ จนถึงทางด้านตะวันออกของเกาะไต้หวัน
“การฝึกเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทดสอบสมรรถนะสู้รบร่วมของหน่วยทหารเหล่าต่างๆ ในการปฏิบัติการแบบมีบูรณาการกันทั้งด้านในและด้านนอกของเครือข่ายเกาะแห่งนี้” เป็นคำแถลงของ หลี่ ซี (Li Xi) โฆษกของกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก
เขากล่าวต่อไปว่า การซ้อมรบครั้งนี้ ซึ่งกระทำกันทั้งในช่องแคบไต้หวัน และทางด้านเหนือ, ด้านใต้, และด้านตะวันออกของเกาะไต้หวัน เป็นการป้องปรามอย่างทรงพลังต่อการดำเนินกิจกรรมแบบแบ่งแยกดินแดนของพวกที่มุ่งหวังทำให้ “ไต้หวันเป็นเอกราช” อีกทั้งเป็นการปฏิบัติการที่ถูกต้องชอบธรรมและมีความจำเป็นเพื่อการปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและเอกภาพแห่งชาติ
จวบจนถึงเวลา 16.30 น.ของวันจันทร์ (14 ต.ค.) ดังกล่าว ทางกองทัพไต้หวันแถลงว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้เคลื่อนกำลังพลมากเป็นประวัติการณ์ประกอบด้วยเครื่องบิน 125 ลำ, เรือรบ 17 ลำ, และเรือหน่วยยามฝั่ง 17 ลำเข้าร่วมในการซ้อมรบของพวกเขาในคราวนี้
ขณะที่กระทรวงกลาโหมของไต้หวันแถลงด้วยว่า กำลังทหารของตนกำลังอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ และประจำตามที่มั่นต่างๆ ทั้งในทะเลและทางอากาศพรักพร้อมที่จะตอบโต้ “พฤติการณ์ไร้เหตุผลและมุ่งยั่วยุ” ของจีน
การซ้อมรบของจีนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ กล่าวในคำปราศรัยเนื่องในวันชาติไต้หวัน วันที่ 10 ตุลาคมว่า จีนไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนของไต้หวันได้ เนื่องจากสาธารณรัฐจีนนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน 113 ปี ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีอายุเพียง 75 ปีเท่านั้น
(หมายเหตุผู้แปล - วันที่ 10 ตุลาคม ที่จริงแล้วเป็นวันชาติสาธารณรัฐจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง ที่เริ่มต้นในวันที่ 10 ตุลาคม 1911 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/1911_Revolution)
ทางด้านสหรัฐฯ แมตธิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแถลง [2] ว่า สหรัฐฯมีความรู้สึกกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการซ้อมรบร่วมของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในช่องแคบไต้หวันและพื้นที่รอบๆ ไต้หวันครั้งนี้ และบอกว่า การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตอบโต้การกล่าวปราศรัยประจำปีตามปกติของ ไล่ ด้วยการยั่วยุทางทหารเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบานปลายขยายตัว
“เราเรียกร้องสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กระทำการต่างๆ ด้วยความยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ต่อไปอีกที่อาจจะบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนในภูมิภาควงกว้างออกไปอีก โดยที่สันติภาพและเสถียรภาพดังกล่าวมีความจำเป็นมากต่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค อีกทั้งเป็นเรื่องหนึ่งที่นานาชาติให้ความกังวลสนใจ” เขากล่าวต่อ “เรายังคงเฝ้าติดตามกิจกรรมต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมมือประสานงานกับเหล่าพันธมิตรและพวกหุ้นส่วนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเรามีความกังวลสนใจร่วมกัน”
ขณะที่สำนักงานประธานาธิบดีของไต้หวัน เรียกร้องจีนให้ “ยุติการยั่วยุทางการทหารซึ่งบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และยุติการข่มขู่คุกคามประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวัน”
สมรรถนะใน “การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่”
ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 23 ถึง 25 พฤษภาคม กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้จัดการซ้อมรบที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ดาบประสาน 2024 เอ” (Joint Sword-2024A) [3] ภายหลัง ไล่ กล่าวปราศรัยระหว่างสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปักกิ่งแถลงเอาไว้ในตอนนั้นว่า ยังจะมีการซ้อมรบเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงต่อๆ ไปของปีนี้
บรรดาคอลัมนิสต์ชาวจีนก็สำทับว่า การฝึกคราวล่าสุดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนี้ ถือเป็นก้าวเดินก้าวใหญ่ในการผลักดันการรวมเอาแผ่นดินใหญ่จีนกับไต้หวันให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ก้าวคืบหน้าไป
“ประเทศจีนต้องการสร้างสมรรถนะการสู้รบร่วม ซึ่งสามารถต่อกรกับสมรรถนะทำนองเดียวกันนี้ของสหรัฐฯ โดยที่ฝ่ายสหรัฐฯนั้นมีความได้เปรียบอย่างเหนือล้ำในเรื่องกองกำลังทางนาวีและกองกำลังทางอากาศ” เสิน อี้ (Shen Yi) ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาการเมืองระหว่างประเทศ สถาบันการสื่อสารระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวในข้อเขียน [4] ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ข่าวภาษาจีน Guancha.cn เมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.)
“ประเด็นไต้หวันของวันนี้ คือผลลัพธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตที่พวกครื่องบิน, เรือลาดตระเวน, และเรือพิฆาต, ของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ เคลื่อนขบวนแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันนั่นเอง” เขากล่าว
“การปิดล้อมท่าเรือสำคัญๆ ของไต้หวัน จึงกลายเป็นภารกิจที่เพิ่มเข้ามาใหม่ประการหนึ่งในการซ้อมรบร่วมดาบประสาน 2024 บี” เขาบอก “มีการใช้เรือลำใหม่ของหน่วยยามฝั่งที่มีขนาดมากกว่า 10,000 ตัน สมทบกับขบวนเรือของหน่วยยามฝั่ง 4 ขบวน ทั้งนี้เมื่อเทียบกันที่ระวางขับน้ำแล้ว เรือยามฝั่งจีนลำนี้จะมีขนาดใหญ่กว่า ไม่ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเรือลาดตระเวนชั้นทิคอนเดโรกา (Ticonderoga-class cruiser) หรือเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีจ์ เบิร์ก (Arleigh Burke-class shield destroyer) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ”
เรือยามฝั่งขนาดใหญ่ของจีนที่กล่าวถึงกันอยู่นี้ หมายถึงเรือลำที่มีหมายเลขประจำเรือ 2901 [5] และมีฉายาว่า “เรือปีศาจ” สืบเนื่องจากมีระวางขับน้ำ 12,000 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เรือลาดตระเวนชั้นทิคอนเดโรกา มีระวางขับน้ำเพียง 9,600 ตัน ส่วนเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีจ์ เบิร์ก ก็อยู่แค่ระหว่าง 8,300 – 9,700 ตันเท่านั้น
เสิน บอกว่า การซ้อมรบคร้งล่าสุด และการยิงขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยไกลข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile) [6] ไปตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่ 25 กันยายน คือการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไปถึงสหรัฐฯว่า จีนกำลังสร้างสมรรถนะใน “การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่” (“area denial” capability) ขึ้นมา ชนิดที่สหรัฐฯไม่สามารถที่จะสู้รบปรบมือด้วยอีกต่อไปแล้ว เขาบอกว่ามันเป็นเพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น ก่อนที่พวกผู้เชี่ยวชาญทางทหารของอเมริกันจะต้องยอมรับเรื่องนี้
สามฉากทัศน์ที่อาจเป็นไปได้
ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระเว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) องค์กรคลังสมองชื่อดังซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุในรายงานฉบับหนึ่งที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมว่า มีฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้อยู่ 3 อย่างด้วยกัน ในกรณีที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าปิดล้อมไต้หวัน
ฉากทัศน์แรก คือ การบังคับใช้การปิดล้อมที่มีมาตรการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างชนิดทุ่มสุดตัว (All-out kinetic blockade): ฉากทัศน์นี้ให้รายละเอียดการสมมุติสถานการณ์ว่า ในช่วง 7 วันของการซ้อมรบร่วมแบบมีการใช้กระสุนจริงรอบๆ ไต้หวัน กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะปิดกั้นบรรดาทางเข้าเมืองท่าสำคัญๆ ของไต้หวันเอาไว้ และโจมตีสถานีนำเข้าพลังงานของเกาะ รวมทั้งโครงข่ายไฟฟ้า, และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง นอกจากนั้น กองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังจะตัดเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลของเกาะ และเปิดการโจมตีทางไซเบอร์ จากนั้นก็จะใช้พวกชุดยิงขีปนาวุธร่อนต่อสู้เรือและต่อสู้อากาศยาน (anti-ship and anti-aircraft cruise missile batteries) มาบังคับใช้มาตรการปิดล้อมไต้หวันเพิ่มมากขึ้นอีก โดยมุ่งจะปิดล้อมกันเป็นเวลาหลายๆ เดือน จนกว่าไต้หวันจะแสดงความปรารถนาที่จะเจรจาด้วย
ฉากทัศน์ที่สอง การปิดล้อมด้วยการวางทุ่นระเบิด (Mining blockade): นี่เป็นเวอร์ชั่นที่ลดทอนลงมาจากการบังคับใช้การปิดล้อมที่มีมาตรการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างชนิดทุ่มสุดตัว ตามสมมุติสถานการณ์ของฉากทัศน์นี้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะยิงขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) จำนวนหลายสิบลูกให้ลอยข้ามหรือตกลงมารอบๆ ไต้หวัน เพียงเพื่อที่จะขู่ขวัญไต้หวันและพวกบริษัทสายการเดินเรือทะเลนานาชาติ, ตลอดจนป้องปรามไม่ให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือไต้หวัน จีนยังจะส่งพวกเรือดำน้ำออกมาวางทุ่นระเบิดทะเลตามบริเวณทางเข้าออกท่าเรือสำคัญๆ ของไต้หวัน ขณะที่กองทหารจีนจะเคลื่อนพลเข้าปิดกั้นท่าเรือสำคัญแห่งหลักๆ โดยที่พวกเขาจะเปิดฉากยิงก็ต่อเมื่อถูกโจมตีเท่านั้น
ฉากทัศน์ที่สาม การปิดล้อมแบบจำกัด (Limited blockade): ฉากทัศน์นี้ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกับฉากทัศน์ที่สอง เพียงแต่ไม่ได้มีการวางทุ่นระเบิดเท่านั้น
CSIS บอก [7] ว่า เป็นที่เชื่อกันว่าฉากทัศน์แรก นั่นคือการบังคับใช้การปิดล้อมที่มีมาตรการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างชนิดทุ่มสุดตัว เป็นวิธีการที่จีนน่าจะนำมาใช้มากที่สุด ขณะที่อีก 2 ฉากทัศน์นั้นจะกลายเป็นการปล่อยให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดการบานปลายขยายตัวโดยฝีมือของไต้หวัน หรือการเข้าแทรกแซงโดยสหรัฐฯ
หวัง สือชุน คอลัมนิสต์ชาวจีนผู้หนึ่ง ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.) ว่า มันเป็นครั้งแรกที่จีนเปิดการซ้อมรบซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะปิดล้อมท่าเรือแห่งหลักๆ และพื้นที่หลักๆ ของไต้หวัน ด้วยการกระทำเช่นนี้ เราก็สามารถขึ้นเรือ, ตรวจสอบ, และยึดเรือต่างๆ ที่ส่งอาวุธสหรัฐฯมายังไต้หวัน และหยุดยั้งประเทศอื่นๆ ไม่ให้จัดส่งเรือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมายังเกาะแห่งนี้ได้ด้วย
หวังกล่าวว่า รัฐบาลไต้หวันกำลังกระตุ้นส่งเสริมความคิดที่ว่า ไต้หวันเพียงจำเป็นต้องต้านทานการโจมตีของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนให้ได้สักอาทิตย์นึง เพื่อให้เวลาแก่พวกมหาอำนาจต่างประเทศสำหรับการเข้ามาแทรกแซงในสงครามนี้ แต่การซ้อมรบนี้มุ่งที่จะทำให้สหรัฐฯไม่สามารถที่จะทำลายการปิดล้อมของจีนได้
“รายงานของ CSIS อ้างว่า การที่วอชิงตันและพวกพันธมิตรของพวกเขาเข้ามาแทรกแซงในขนาดขอบเขตแค่ไหน จะเป็นตัวตัดสินว่าการปิดล้อมของจีนจะประสบความสำหร็จหรือเจอกับความล้มเหลว” เขากล่าวต่อ “แต่ผมต้องการที่จะประกาศว่า การที่ต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงนั้นพวกเขาจะไม่สามารถทำได้หรอก เนื่องจากมาถึงเวลานี้ความริเริ่มตกอยู่กับกองทัพของเราแล้ว”
เหมา หนิง (Mao Ning) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงทัศนะอย่างเป็นทางการของจีน ระหว่างการแถลงข่าวประจำวันเมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.) ดังนี้:
ถ้าสหรัฐฯสนใจใยดีอย่างแท้จริงกับสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคแล้ว สหรัฐฯก็จำเป็นที่จะต้องยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯทั้ง 3 ฉบับ, ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่พวกผู้นำของพวกเขาให้ไว้ที่จะไม่สนับสนุน ‘เอกราชของไต้หวัน’, ยุติการติดอาวุธไต้หวัน, และหยุดยั้งการส่งสัญญาณผิดๆ ไปยังกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่มุ่งมาดปรารถนา “เอกราชของไต้หวัน”
เชิงอรรถ
[1] http://www.mod.gov.cn/gfbw/wzll/dbzq/16345339.html
[2] https://www.state.gov/prc-military-drills-near-taiwan-2/
[3] https://english.news.cn/20240523/2e8ebbb3171a4f4e96e0147f35fd1df4/c.html
[4] https://www.guancha.cn/ShenYi/2024_10_14_751652.shtml
[5] https://mil.news.sina.com.cn/zonghe/2024-10-14/doc-incspfht5225813.shtml
[6] https://www.reuters.com/world/china/chinas-pla-launches-intercontinental-ballistic-missile-into-pacific-ocean-2024-09-25/#:~:text=BEIJING%2FTAIPEI%2C%20Sept%2025%20
[7] https://features.csis.org/chinapower/china-blockade-taiwan/