ราคาน้ำมันขยับขึ้น 2 วันติดในวันอังคาร (22 ต.ค.) จากความหวังที่ลดลงต่อข้อตกลงหยุดยิงในตะวันออกกลาง และนักลงทุนหันไปโฟกัสสัญญาณการฟื้นตัวทางอุปสงค์ในจีน ส่วนวอลล์สตรีทรงตัว เฝ้ารอรายงานผลประกอบการบริษัท ขณะที่ทองคำทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกรอบ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 1.53 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 1.75 ดอลลาร์ ปิดที่ 76.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความพยายามเมื่อเร็วๆ นี้ของปักกิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้พวกนักวิเคราะห์บางส่วนปรับเพิ่มประมาณการอุปสงค์น้ำมันในประเทศแห่งนี้ ซึ่งเป็นชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะที่อุปสงค์ที่อ่อนแอในจีนเป็นตัวฉุดรั้งราคาน้ำมันมาตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงกังวลต่ออุปทานจากตะวันออกกลาง จนถึงตอนนี้อิสราเอลยังไม่ส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะผ่อนมือในปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซา และเลบานอน ขณะเดียวกัน พวกฮิซบอลเลาะห์ พันธมิตรของอิหร่านก็ยืนยันว่าจะไม่ทำการเจรจากับอิสราเอลในระหว่างการสู้รบ
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทรงตัวในวันอังคาร (22 ต.ค.) นักลงทุนจับตาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา และเฝ้ารอรายงานผลประกอบการเพิ่มเติม เพื่อประเมินสถานะความเข้มแข็งของบรรดาบริษัทสัญชาติอเมริกา
ดาวโจนส์ ลดลง 6.71 จุด (0.02 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 42,924.89 เอสแอนด์พี ลดลง 2.78 จุด (0.05 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,851.20 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 33.12 จุด (0.18 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 18,573.13 จุด
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับ 4.222% ในช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ในขณะที่พวกนักลงทุนทำการประเมินใหม่เกี่ยวกับทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความผันผวนของตลาดทุน เนื่องจากนักลงทุนจะพินิจวิเคราะห์รายงานผลประกอบการบริษัท ข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ๆ และผลการเลือกตั้งของอเมริกา ตามด้วยการประชุมของธนาคารกลาง
ส่วนราคาทองคำปิดบวก ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกรอบในวันอังคาร (22 ต.ค.) จากปัจจัยต่างๆ ในนั้นรวมถึงการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และสงครามในตะวันออกกลาง โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 20.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,759.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)