บริษัท Wild Hornets ผู้ผลิตอากาศยานไร้คนขับของยูเครน กำลังพัฒนาโดรนสกัดกั้นความเร็วสูงเพื่อใช้ต่อต้านโดรนโจมตี Shahed-136 ของรัสเซียโดยเฉพาะ ตามรายงานของสื่ออังกฤษ
หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟรายงานว่า โดรนซึ่งมีชื่อว่า “สติง” (Sting) นี้ถูกออกแบบให้สามารถทำความเร็วสูงกว่า 100 ไมล์ต่อชั่วโมงที่ระดับความสูงประมาณ 10,000 ฟุต
ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเอไอเพื่อตรวจจับเป้าหมาย ทว่าปัจจุบัน Sting ยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ควบคุม
จากภาพถ่ายที่เดอะเทเลกราฟนำมาเผยแพร่จะเห็นว่ามันเป็นโดรนแบบ 4 ใบพัด (quadcopter) ที่สามารถบรรทุกระเบิด และมีโดมกล้องอยู่ที่บริเวณส่วนหัว
Wild Hornets ซึ่งเป็นองค์กรวิศวกรรมไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า ได้ผลิตโดรนส่งมอบให้แก่กองทัพยูเครนไปแล้วมากกว่า 14,000 ตัวตั้งแต่ต้นปี 2023 พร้อมยืนยันกับ Business Insider ว่าบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาโดรนสกัดกั้นรุ่นใหม่จริง
“เราจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อเป็นไปได้” ทีมงานแถลงผ่านอีเมล โดยปฏิเสธที่จะแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเหตุผลในด้านความมั่นคง
Wild Hornets ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาหลังเปิดตัวโดรนที่สามารถปลดปล่อย “เทอร์ไมต์” หรือโลหะหลอมเหลวความร้อนสูง และยิงอาวุธเบาโจมตีเป้าหมาย ระบุว่าในแต่ละวันจะมีโดรน Shahed ถูกส่งเข้ามาโจมตีเมืองต่างๆ ในยูเครนประมาณ 30-80 ตัว
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าโดรน Sting จะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยๆ ก็น่าจะต้องพอฟัดพอเหวี่ยงกับ Shahed-136 ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุด 115 ไมล์ต่อชั่วโมง
รายงานของเดอะเทเลกราฟไม่ได้ระบุต้นทุนในการผลิตโดรน Sting แต่แหล่งข่าวจาก Wild Hornets ออกมาให้ข้อมูลคร่าวๆ ว่า “ต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตจะถูกกว่าโดรน Shahed หลายสิบเท่า”
สำหรับโดรน Shahed-136 นั้นประเมินกันว่ามีสนนราคาอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อลำ และนั่นหมายความว่าหากโครงการพัฒนาโดรน Sting ประสบความสำเร็จก็จะช่วยให้ยูเครนสามารถป้องกันตนเองจาก "อาวุธแบบดักรออยู่กับที่" (loitering munition) เหล่านี้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง
ปัจจุบัน ยูเครนยังต้องพึ่งพาอาวุธตามแบบ (conventional arms) ในการป้องกันตนเองจากโดรนโจมตีของรัสเซีย เช่น ขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศซึ่งอาจมีต้นทุนการยิงสูงถึงหลายแสนดอลลาร์ต่อครั้ง รวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ NASAMS ของสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการยิงขีปนาวุธ 1 ลูกสูงถึงประมาณ 1 ล้านดอลลาร์
ที่มา : business insider