xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตโดรน DJI ฟ้อง ‘กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ’ หลังถูกขึ้นบัญชีดำทำงานให้ ‘กองทัพจีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท DJI ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดรนสัญชาติจีนยื่นฟ้องดำเนินคดีกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กรณีถูกขึ้นบัญชีดำเป็นบริษัทที่ทำงานให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และย้ำว่าข้อครหานี้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจของ DJI

DJI ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดในโลกและครองส่วนแบ่งตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ กว่า 50% เรียกร้องให้ผู้พิพากษาศาลแขวงวอชิงตันมีคำสั่งไปยังกระทรวงกลาโหมให้ถอดถอนการระบุสถานะบริษัทว่าเป็นบริษัททางทหารของจีน (Chinese military company) โดยยืนยันว่า DJI “ไม่ได้ถูกควบคุมหรือเป็นเจ้าของโดยกองทัพจีน”

การขึ้นบัญชีดำถือเป็นสัญญาณเตือนให้บริษัทและหน่วยงานของสหรัฐฯ ตระหนักถึงภัยคุกคามความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์เหล่านี้

เอกสารคำฟ้องของ DJI ระบุว่า เนื่องจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ “ตัดสินใจอย่างผิดกฎหมายและด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน” ทำให้บริษัท “สูญเสียข้อตกลงทางธุรกิจ ถูกตราหน้าว่าเป็นภัยความมั่นคงของสหรัฐฯ อีกทั้งยังไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐบาลอเมริกันได้”

DJI ยังระบุด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของเพนตากอนส่งผลให้ “ลูกค้าทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศขอยกเลิกสัญญากับ DJI และปฏิเสธที่จะทำสัญญาใหม่”

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้

DJI ระบุวานนี้ (18) ว่าที่ตัดสินใจดำเนินคดีก็เนื่องจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะติดต่อเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางกับบริษัทมานานถึง 16 เดือน และ DJI “ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยื่นฟ้องต่อศาลส่วนกลางเพื่อเรียกร้องขอการเยียวยาชดเชย”

การขึ้นบัญชีดำครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปิดกั้นและเล่นงานบริษัทจีนที่สหรัฐฯ เชื่อว่ามีส่วนช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

นอกจาก DJI แล้วยังมีบริษัทใหญ่ๆ ของจีนอีกหลายรายที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ได้แก่ บริษัทด้านการบิน AVIC ผู้ผลิตชิปความจำ YMTC ไชน่าโมบายล์ และบริษัทด้านพลังงาน CNOOC

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา DJI ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (Customs and Border Protection) ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าโดรนบางรุ่นของ DJI โดยอ้างว่ามีการละเมิดกฎหมายป้องกันการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act)

ทางบริษัทยืนยันว่า ไม่มีการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต

ขณะเดียวกัน สมาชิกสภาคองเกรสก็เคยแสดงความกังวลหลายครั้งว่าโดรนของ DJI อาจมีการส่งต่อข้อมูลหรือสอดแนมซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอเมริกา ทว่าทางบริษัทก็ยืนกรานว่าไม่เป็นความจริง

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น