รัฐบาลจีนประกาศวันนี้ (16 ต.ค.) ว่าจีน “ไม่มีวัน” ตัดทางเลือกใช้กำลังทหารเพื่อนำไต้หวันมาอยู่ภายใต้การปกครอง โดยคำขู่นี้มีขึ้นหลังจากที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้เปิดการซ้อมรบใหญ่ข่มขู่ไทเปไปเมื่อวันจันทร์ (14) ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็เดินทางไปเยือนเกาะแนวหน้า ซึ่งเป็นสถานที่ที่กองกำลังไต้หวันเคยพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาแล้ว
จีนได้เปิดการซ้อมรบภายใต้ชื่อรหัสว่า Joint Sword-2024B ในวันจันทร์ (14) เพื่อส่งสัญญาณเตือนไปถึงพวกที่ "ทำกิจกรรมแบ่งแบกดินแดน" รวมถึงเป็นการตอบโต้คำแถลงของประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ แห่งไต้หวันเนื่องในวันชาติสาธารณรัฐจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“เราพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อนำไปสู่การรวบรวมชาติอย่างสันติ ด้วยความจริงใจและเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด” เฉิน ปินหวา โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ระบุในงานแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง
“แต่เราไม่มีวันรับปากว่าจะไม่ใช้กำลัง” เขากล่าว
เฉิน อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดยืนนี้ของจีนพุ่งเป้าไปที่ “กลุ่มพลังอำนาจภายนอก” (external forces) และพวกนักเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนไต้หวันเพียงไม่กี่คน และไม่ได้มีเจตนาข่มขู่ชาวไต้หวันส่วนใหญ่
ไต้หวันมีความสัมพันธ์แนบแน่นแบบไม่เป็นทางการกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ให้ไทเปด้วย
“ไม่ว่าไต้หวันจะมีกำลังทหารเท่าไหร่ จัดหาอาวุธมาได้มากแค่ไหน และไม่ว่าพลังอำนาจภายนอกจะแทรกแซงหรือไม่ก็ตาม หากไต้หวันกล้าที่จะเสี่ยง มันก็จะนำไปสู่จุดจบของพวกเขาเอง” เฉิน ย้ำ
“ความพยายามของจีนที่จะธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน จะไม่หยุดยั้งลงแม้แต่ชั่วขณะเดียว”
ขณะเดียวกัน สื่อรัฐบาลจีนรายงานวันนี้ (16) ว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางไปที่เกาะตงซาน (Dongshan Island) ในมณฑลฝูเจี้ยนซึ่งตั้งเผชิญหน้าอยู่กับไต้หวัน และเคยเป็นจุดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยเอาชนะความพยายามยึดเกาะคืนของกองกำลังฝ่ายไต้หวันมาแล้วในปี 1953
รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวันในปี 1949 หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้พรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย เหมา เจ๋อตง และจนถึงวันนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่เคยมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงหรือสนธิสัญญาสันติภาพ
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีรายงานว่า สี เดินทางไปที่เกาะตงซานเพื่อเรียนรู้ความพยายามในการฟื้นฟูพื้นที่ชนบท รวมถึง “ส่งต่อยีนสีแดง (สีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) และเสริมสร้างการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้”
รายงานชิ้นนี้ไม่ได้มีการเอ่ยถึงไต้หวันแต่อย่างใด
ที่มา : รอยเตอร์