กองทัพอิสราเอลกลับมาเผชิญสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยก้อนหินและกับระเบิด รวมทั้งที่ซ่อนอันซับซ้อนของศัตรูอีกครั้ง ในการบุกภาคพื้นดินเข้าสู่ตอนใต้ของเลบานอนครั้งที่ 4 ในรอบ 50 ปี โดยที่ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ก็เคยเตือนแกมขู่ ก่อนถูกลอบสังหารไม่กี่วันว่า กองทัพยิวจะต้องเผชิญกับดัก การซุ่มโจมตี และนรก หากบุกข้ามแดนเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว
หลังจากรุกถล่มดินแดนฉนวนกาซามาเกือบ 1 ปี เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลเริ่มเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินแนวรบที่ 2 ด้วยการบุกภาคพื้นดินแบบกำหนดเป้าหมายเพื่อกดดันนักรบฮิซบอลเลาะห์ในบริเวณภาคใต้เลบานอน ที่ระดมโจมตีตอนเหนือของอิสราเอลมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
การตัดสินใจดังกล่าวจุดชนวนการถกเถียงเกี่ยวกับการนำทหารอิสราเอลไปเผชิญความท้าทายที่ต่างออกไปอย่างมหาศาลจากกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบและส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งมีประชากรหนาแน่น ไม่เพียงเท่านั้น เลบานอนยังเป็นสมรภูมิซึ่งกองทัพรัฐยิวเคยบุกเข้าไปแล้วหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ต้องถอนตัวกลับออกมา
โจนาธาน คอนริคัส ที่เคยรบให้อิสราเอลในกาซา และเป็นผู้ประสานงานของรัฐยิวกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในเลบานอน ระหว่างปี 2009-2013 บอกว่า ตอนใต้ของเลบานอนนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงและเป็นเขตสู้รบซึ่งใหญ่กว่ากาซามาก
คอนริคัส ซึ่งเคยเป็นอดีตโฆษกกองทัพอิสราเอลด้วย และปัจจุบันทำงานให้มูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตยในกรุงวอชิงตัน เสริมว่า ภูมิประเทศบริเวณดังกล่าวท้าทายมากสำหรับกองกำลังผู้รุกราน แต่เอื้ออำนวยสำหรับการตั้งรับของศัตรูอย่างฮิซบอลเลาะห์ และช่วยให้ศัตรูมีวิธีการมากมายในการโจมตีกองทัพตามแบบแผนซึ่งบุกเข้าไป ด้วยขีปนาวุธต่อต้านรถถังและระเบิดแสวงเครื่อง
ทางด้าน มิริ ไอเซน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอิสราเอลในเลบานอน เล่าประสบการณ์ระหว่างการรุกรานเลบานอนในปี 1978 ว่า ทันทีที่ข้ามพรมแดนเข้าไป ทหารอิสราเอลก็ต้องเจอภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาสูงชันและหุบเหว นอกจากนั้น ยังมีก้อนหินขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นที่หลบซ่อน และยังมีบริเวณที่รถเข้าไม่ได้แถมเดินเท้ายากลำบาก
พวกนักวิเคราะห์เชื่อว่า ฮิซบอลเลาะห์ได้สร้างเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินซับซ้อนที่ตัดผ่านภูเขาลูกต่างๆ และซุกทางออกไว้ในบ้านเรือนทั่วไปในตำแหน่งที่ตั้งอื่นๆ
การสู้รบในเลบานอนของอิสราเอลหลายครั้งที่ผ่านมาล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือจัดการกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางชายแดนด้านเหนือ แต่ส่วนใหญ่มักนำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงกันว่าประสบความสำเร็จจริงหรือ
ภายหลัง “ปฏิบัติการลิตานี” เพื่อจัดการองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) เมื่อปี 1978 กองกำลังอิสราเอลกลับไปบุกเลบานอนอีกครั้งใน 4 ปีต่อมา ใน “ปฏิบัติการสันติภาพเพื่อกาลิลี” ที่มีขนาดใหญ่กว่าและพุ่งเป้าที่พีแอลโอเหมือนเดิม
การรุกรานครั้งหลังนี้ อิสราเอลรุกคืบจนเข้าปิดล้อมกรุงเบรุตช่วงสั้นๆ และทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คนในช่วงปลายปีเดียวกัน และสุดท้ายกองทัพอิสราเอลก็ยึดครองภาคใต้ของเลบานอนเอาไว้เป็นเวลานาน 18 ปี
อย่างไรก็ดี ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้สร้างผลงานตามตีรังควานกองทัพยิว และผงาดขึ้นมาภายใต้การดูแลของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน
หลังจากอิสราเอลถอนออกไปแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับฮิซบอลเลาะห์ กระทั่งอิสราเอลตัดสินใจบุกภาคพื้นดินและทำสงครามในเลบานอนอีกรอบในปี 2006
ในสงครามดังกล่าวที่กินเวลา 33 วัน หลายๆ ฝ่ายมองว่า เป็นความผิดพลาดของอิสราเอลที่ทำให้ทางรัฐยิวมีผู้เสียชีวิต 160 คน ส่วนใหญ่เป็นทหาร รวมทั้งยังทำให้ชาวเลบานอนเสียชีวิต 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ขณะที่ ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ที่ถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ปีนี้ เคยประกาศว่า ครั้งนั้นคือ “ชัยชนะจากบัญชาของพระเจ้า”
ในการปราศรัยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 ก.ย. นัสรัลเลาะห์ เตือนว่า การที่อิสราอลประกาศจะสร้างพื้นที่เขตกันชนบริเวณตอนใต้ของเลบานอนรอบๆ เส้นชายแดนรัฐยิวขึ้นมา จะทำให้บริเวณนี้กลายเป็นปลัก กับดัก การซุ่มโจมตี และนรกสำหรับกองทัพอิสราเอล
ปรากฏว่า เกือบ 2 สัปดาห์นับจากบุกภาคพื้นดิน อิสราเอลสูญเสียทหาร 14 นาย
กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า ทั้งกองทัพอิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ต่างมีการเปลี่ยนแปลงไปมากนับจากการเผชิญหน้าครั้งที่แล้ว
ไอเซนระบุว่า กองทัพอิสราเอลเรียนรู้บทเรียนจากปี 2006 และติดตามการคุกคามของฮิซบอลเลาะห์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังมีเวลาเตรียมพร้อม 11 เดือนระหว่างทำสงครามกับฮามาสในกาซา ก่อนหวนกลับมาสู้รบกับฮิซบอลเลาะห์
ทั้งนี้ ก่อนบุกภาคพื้นดิน อิสราเอลโจมตีทางอากาศต่อฮิซบอลเลาะห์อย่างหนักเมื่อวันที่ 23 ก.ย. โดยพุ่งเป้าผู้นำอาวุโสและที่ซ่อนคลังอาวุธเพื่อบ่อนทำลายกำลังของนักรบกลุ่มนี้ นอกจากนั้นแล้ว ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นยังเกิดเหตุการณ์อุปกรณ์สื่อสารของสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ระเบิดพร้อมๆ กัน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน
การโจมตีเลบานอนจนถึงเวลานี้ ทำให้ฝ่ายเลบานอนเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน นอกจากนั้นยังมีประชาชนราว 690,000 คนต้องทิ้งบ้านเรือน
นับจากปี 2006 เป็นที่รู้กันว่า ฮิซบอลเลาะห์ได้รับอาวุธจากอิหร่าน ซึ่งรวมถึงพวกขีปนาวุธทิ้งตัว ขณะที่นักรบยังสั่งสมประสบการณ์จากการสู้รบในซีเรียเพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
รับบา อัลแลม จากศูนย์อัล-อาห์รัมเพื่อการศึกษาด้านการเมืองและยุทธศาสตร์ของอียิปต์ ย้ำว่า ฮิซบอลเลาะห์มีการจัดตั้งในลักษณะกระจายอำนาจแบบกองจรยุทธ์ จึงสามารถโจมตีโต้กลับอิสราเอลในภาคใต้ของเลบานอน และการทึกทักสันนิษฐานว่า จากการโจมตีผู้นำและทำลายระบบสื่อสารจะทำให้ฮิซบอลเลาะห์อ่อนเปลี้ยนั้นถือว่าผิดโดยสิ้นเชิง
ขณะที่ มูนีร์ เชฮาเดห์ อดีตผู้ประสานงานของรัฐบาลเลบานอน กับกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นในเลบานอน ที่ใช้ชื่อว่า “ยูนิฟิล” สำทับว่า ฮิซบอลเลาะห์มีสต๊อกขีปนาวุธต่อต้านรถถังและอาวุธอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้นำมาใช้ อาวุธเหล่านี้เตรียมเอาไว้จัดการกับขบวนรถถังของรัฐยิว และในเฉพาะหน้านี้นักรบกลุ่มนี้กำลังใช้การซุ่มโจมตี กับดัก และระเบิด เพื่อรับมือกับทัพอิสราเอลที่กำลังเคลื่อนเข้ามา
(ที่มา : เอเอฟพี)