Russia aligns with Iran, war clouds scatter
by M. K. BHADRAKUMAR
09/10/2024
พวกนักวิเคราะห์ทางทหารอเมริกันเพิ่งเปิดเผยกันว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอาวุธรัสเซียระดับก้าวหน้าล้ำยุคบางอย่างกำลังถูกลำเลียงถ่ายโอนมายังอิหร่าน อีกทั้งยังหนุนหลังด้วยการส่งบุคลากรทางทหารชาวรัสเซียเข้ามาประจำทำหน้าที่ใช้งานระบบอาวุธเหล่านี้อีกด้วย
อิสราเอลดูเหมือนยอมพับเก็บแผนการโจมตีอิหร่านที่พวกเขาได้จัดทำเอาไว้ เข้าลิ้นชักแล้ว สภาวการณ์หลายๆ อย่างซึ่งสาดซัดผสมผเสกันเข้ามา อาจจะร่วมด้วยช่วยกันส่งผลทำให้เกิดการถอยกรูดคราวนี้ขึ้น โดยที่เรื่องนี้เองก็น่าจะพลอยทำให้การส่งเสียงเกรี้ยวกราด [1] แสดงความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเล่นงานเตหะรานของอิสราเอล กลายเป็นคำพูดไร้สาระไร้ราคาไปเสียฉิบ
ถึงแม้อิสราเอลมีความสามารถหลักแหลมมากในการบริหารจัดการสื่อ กระนั้นรายงานข่าวที่ปรากฏออกมาก็ยังส่อแสดงให้เห็นเค้าลางว่าการยิงขีปนาวุธของอิหร่านเข้าโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าสมรรถนะการป้องปรามของอิหร่าน สามารถบดบี้อิสราเอลได้ถ้าหากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นขึ้นมา ความล้มเหลวของสหรัฐฯในการเข้าสกัดกั้นขีปนาวุธของอิหร่านเหล่านี้ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่าขึ้นไป) เป็นสิ่งที่ส่งข้อความออกมาอย่างดังๆ ชัดเจนด้วยตัวของมันเองแล้ว อิหร่านนั้นอ้างว่าขีปนาวุธของตน 90% ทีเดียวสามารถฝ่าผ่านระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลได้สำเร็จ
วิลล์ ชไรเวอร์ (Will Schryver) วิศวกรทางเทคนิคและคอมเมนเตเตอร์ด้านความมั่นคง เขียนเอาไว้บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่าอย่างนี้ “ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมใครๆ ที่ได้เห็นคลิปวิดีโอจำนวนมากของขีปนาวุธอิหร่านซึ่งโจมตีใส่อิสราเอล จึงไม่สามารถยอมรับและรับรู้ว่ามันเป็นการสาธิตให้เห็นอย่างน่าตื่นตะลึงครั้งหนึ่งเกี่ยวกับสมรรถนะของฝ่ายอิหร่าน ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) หลายลูกของอิหร่านสามารถฝ่าทำลายการป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ/อิสราเอล และส่งการโจมตีด้วยหัวรบขนาดใหญ่หลายหัวรบทีเดียว เข้าใส่พวกเป้าหมายทางทหารของอิสราเอล”
มีหลักฐานแสดงชัดว่า ในสถานการณ์ความแตกตื่นวุ่นวายที่ติดตามมาในอิสราเอล อย่างที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ บอกเอาไว้นั้น ทำให้จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 4 ตุลาคม มันก็ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ว่าอิสราเอลควรใช้การตอบโต้รูปแบบใดในการเล่นงานอิหร่านเพิ่มขึ้นอีก ไบเดนเองพูดว่า “ถ้าผมอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับพวกเขา (อิสราเอล) ผมคงจะต้องกำลังพิจารณาถึงทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการโจมตีพวกบ่อน้ำมัน” เขากล่าวเช่นนี้ระหว่างการปรากฏตัวที่นานๆ เขาจะทำสักครั้งหนึ่งในห้องแถลงข่าวของทำเนียบขาว หนึ่งวันหลังจากพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลบอกว่า “การแก้เผ็ดเอาคืนครั้งสำคัญ” กำลังจะเกิดขึ้นรอมร่อแล้ว
ไบเดนกล่าวต่อไปว่า ทางอิสราเอล “ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าพวกเขาจะทำยังไง –พวกเขากำลังจะทำอะไรต่อไป” ในการตอบโต้เอาคืน ไบเดนยังบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลควรต้องระลึกเอาไว้ด้วยเกี่ยวกับการสนับสนุนที่สหรัฐฯให้แก่อิสราเอล ในตอนที่พิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับก้าวต่อๆ ไป เขาอ้างอีกว่าเขากำลังพยายามที่จะระดมความสนับสนุนจากทั่วโลกให้ช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามแบบเต็มพิกัดขึ้นมาในเอเชียตะวันตก
ในการติดตามการแสดงละครใบ้ [2] ที่ตัวแสดงมีแต่ออกกิริยาท่าทางโดยไม่ส่งเสียงพูดเรื่องนี้ มันเป็นการปลอดภัยกว่าที่จะเชื่อไบเดน ว่าเขากำลังบอกความเป็นจริงอันซื่อสัตย์ถูกต้องที่สุด ที่ว่า หากปราศจากอินพุตต่างๆ จากสหรัฐฯ และความช่วยเหลือในทางปฏิบัติ ตลอดจนเรื่องเงินทองของสหรัฐฯ –และกระทั่งการเข้ามาแทรกแซงโดยตรงของสหรัฐฯ— แล้ว อิสราเอลก็เป็นอันขาดไร้ความเข้มแข็งทรหดที่จะต่อกรกับอิหร่าน ความสามารถในการส่งอำนาจบารมีครอบงำเหนือภูมิภาคนี้ของอิสราเอล จะหดแคบลงมาเหลือแค่การสั่งดำเนินแผนอุบายลอบสังหาร และการโจมตีพลเรือนที่ปราศจากอาวุธเท่านั้นเอง
แต่กระนั้นในระดับดังที่ว่านี้ มันก็ยังเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้อยู่ดี ว่าอิสราเอลมีความสามารถในการพึ่งตนเองมากน้อยแค่ไหนในการต่อสู้กับอิหร่าน รายงานต่างๆ ที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นว่า ข่าวกรองทางด้านเทคโนโลยีแบบใหม่ของสหรัฐฯ [3] นั่นเองเป็นตัวชี้เป้าเจาะจงสถานที่ซ่อนตัวของ (นัสซัน) ไซเยด นัสรุลเลาะห์ ((Nassan) Sayyed Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ จากนั้นจึงถูกส่งต่อมาให้อิสราเอล และนำไปสู่การลอบสังหารเขา
น่าสนใจมากว่า ผู้อำนวยการซีไอเอ วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ได้ก้าวออกมาปฏิเสธกระแสข่าวลือที่ว่า อิหร่านดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เมื่อวันเสาร์ (5 ต.ค.) โดยระหว่างพูด ณ การประชุมด้านความมั่นคงงานหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (7 ต.ค.) เบิร์นส์ กล่าวย้ำว่า สหรัฐฯกำลังเฝ้าจับตาติดตามกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยดูว่ามีสัญญาณใดๆ ของการรีบเร่งปุบปับมุ่งไปสู่อาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
“เราไม่เห็นหลักฐานในวันนี้หรอกว่า (อิหร่าน) ได้มีการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวนี้ เราเฝ้ามองพวกเขาอย่างระมัดระวังมากๆ” เขาบอก คำพูดเช่นนี้ของเบิร์น เท่ากับเขากำลังใช้อาการอันสุภาพ ในการลบสิ่งที่อาจถูกอ้างเป็นหลักฐานคาหนังคาเขาอีกชิ้นหนึ่งสำหรับการสร้างความชอบธรรมให้แก่การเข้าโจมตีอิหร่านนั่นเอง
ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดประการหนึ่ง ซึ่งบังคับให้อิสราเอล/สหรัฐฯต้องเหนี่ยวรั้งการโจมตีใดๆ ต่ออิหร่านเอาไว้ก่อน ได้แก่คำเตือนอย่างแข็งกร้าวของเตหะรานที่ว่า การโจมตีใดๆ ของอิสราเอลต่อโครงสร้างพื้นฐานของตน จะต้องประสบกับการตอบโต้ที่ยิ่งเกรี้ยวกราดขึ้นไปอีก “ในการตอบโต้ เราทั้งไม่ลังเลและก็ไม่เร่งร้อน” ทั้งนี้ถ้าหากเราจะอ้างคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศ อับบาส อาราจชิ (Abbas Araghchi) ของอิหร่าน ซึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาได้เดินทางไปเยือนเลบานอนและซีเรีย ในลักษณะที่มุ่งเป็นการส่ง “ข้อความ” ท้าทายไปถึงอิสราเอล –เขาเป็นผู้พูดเช่นนี้เอง— ว่า “อิหร่านนั้นหนุนหลังการต่อต้าน (อิสราเอลในตะวันออกกลาง) อย่างแข็งขันเรื่อยมา และก็จะสนับสนุนการต่อต้านนี้เรื่อยไป”
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 4 ตุลาคม ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ได้ใช้โอกาสที่เขาออกมาเทศน์ ระหว่างพิธีละหมาดซึ่งมีสาธารณชนเข้าร่วม ที่นานๆ จะมีขึ้นสักครั้งหนึ่ง โดยเขากล่าวปกป้องการที่อิหร่านโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่อิสราเอล เขาบอกว่า มันเป็น “สิ่งที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย” และพูดด้วยว่า “ถ้าหากจำเป็น” เตหะรานก็จะทำเรื่องเช่นนี้อีกครั้ง ขณะที่พูดทั้งในภาษาเปอร์เซียและในภาษาอาหรับในระหว่างพิธีละหมาดใหญ่วันศุกร์ (4 ต.ค.) ที่กรุงเตหะรานคราวนี้ คอเมเนอี กล่าว [4] ว่า อิหร่านและกลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน (Axis of Resistance) จะไม่ยอมอ่อนข้อให้อิสราเอล อิหร่านจะ “ไม่รีรอชักช้าและก็ไม่ลงมืออย่างรีบร้อนในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง” ในการประจันหน้ากับอิสราเอล คอเมเนอี ประกาศเช่นนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ป้องปรามทำให้ฝ่ายอิสราเอลต้องชะงัก และทำให้สมองของฝ่ายอเมริกันเกิดความกระวนกระวายใจนั้น มันยังเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ –นั่นคือ เงาทะมึนของรัสเซียที่กำลังทอดยาวขึ้นเรื่อยๆ เหนือผืนพรมแห่งเอเชียตะวันตก
พวกนักวิเคราะห์ทางทหารอเมริกันเพิ่งเปิดเผยกันว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอาวุธรัสเซียระดับก้าวหน้าล้ำยุคบางอย่างกำลังถูกลำเลียงถ่ายโอนมายังอิหร่าน อีกทั้งยังหนุนหลังด้วยการส่งบุคลากรทางทหารชาวรัสเซียเข้ามาประจำทำหน้าที่ใช้งานระบบอาวุธเหล่านี้อีกด้วย โดยที่ในบรรดาอาวุธเหล่านี้น่าจะมีระบบขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ เอส-400 ขณะที่มีการคาดเดากันว่า เซียร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) เลขาธิการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม) ของรัสเซีย ได้เดินทางไปเยือนอิหร่านอย่างลับๆ 2 เที่ยวในระยะไม่นานมานี้
ดูเหมือนว่า มอสโกยังตอบสนองคำขอของอิหร่านที่ต้องการข้อมูลจากดาวเทียม เกี่ยวกับเป้าหมายต่างๆ ของฝ่ายอิสราเอลสำหรับให้อิหร่านใช้ขีปนาวุธเข้าโจมตีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นอกจากนั้นรัสเซียยังจัดหาจัดส่งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์พิสัยไกล “มูร์มานสก์-บีเอ็น” (Murmansk-BN) ให้อีกด้วย
ระบบ “มูร์มานสก์-บีเอ็น” เป็นระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ทรงพลัง โดยสามารถก่อกวนและดักฟังทั้งสัญญาณวิทยุต่างๆ ของฝ่ายข้าศึก, ระบบจีพีเอส, การติดต่อสื่อสาร, ดาวเทียม, และระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ภายในระยะทางที่อยู่ห่างออกไปถึง 5,000 กิโลเมตร อีกทั้งสามารถทำให้พวกเครื่องกระสุน “อัจฉริยะ” และระบบโดรนทั้งหลายอยู่ในอาการเดี้ยงใช้งานไม่ได้ – นั่นคือมีศักยภาพในการก่อกวนระบบสื่อสารดาวเทียวความถี่สูงของสหรัฐฯและองค์การนาโต้อีกด้วย
แน่นอนว่าการที่ทางรัสเซียเข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับการเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลโดยอยู่ข้างเตหะรานเช่นนี้ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นตัวเกมเปลี่ยนทีเดียว จากทัศนะมุมมองของสหรัฐฯแล้ว มันเพิ่มความวิตกกังวลอันน่าหวาดผวาของการที่จะเกิดประจันหน้ากันโดยตรงระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯไม่ต้องการ [5]
ในฉากทัศน์เช่นนี้เอง ที่พวกสำนักข่าวของทางการรัสเซีย ได้รายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของ ยูรี อูชาคอฟ (Yury Ushakov) ผู้ช่วยประธานาธิบดีคนหนึ่งของรัสเซีย ที่ออกมาบอกในวันอาทิตย์ (6 ต.ค.) ว่า ปูตินวางแผนจะพบปะหารือกับประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน ของอิหร่าน ที่กรุงอาชกาบัต เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน ในวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม
อูเชคอฟ ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับการพบปะครั้งนี้ จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ปรากฏขึ้นมาแบบกระทันหันและสร้างเซอร์ไพรซ์ไม่ใช่น้อย เนื่องจากผู้นำทั้งสองเดิมก็มีกำหนดการที่จะพบกันอยู่แล้วระหว่างการประชุมซัมมิตผู้นำกลุ่มบริกส์ (BRICS) ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองคาซาน ของรัสเซีย ในวันที่ 22-24 ตุลาคมที่จะถึงนี้
แน่นอนทีเดียว ฝ่ายอิหร่านก็อยู่ในอาการทำตัวลับลมคมในด้วยเหมือนกัน โดยทั้งมอสโกและเตหะรานต่างประกาศว่า ประธานาธิบดีของพวกเขากำลังเดินทางไปเยือนกรุงอาชกาบัต ในวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกวาระวันเกิดครบรอบ 300 ปีของ มักตีมกูลี ปีรากี (Magtymguly Pyragy) กวีและนักคิดชาวเติร์กเมน และไม่ได้เอ่ยถึงการพบปะกันระหว่าง ปูติน กับ เปเซชเคียน แต่อย่างใด ช่างเจ้าเล่ห์กันทั้งคู่ทีเดียว!
(ดูเพิ่มเติม คำแถลงของฝ่ายรัสเซียได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/75280
และคำแถลงของฝ่ายอิหร่านได้ที่ https://en.irna.ir/news/85621909/Iran-s-president-to-visit-Turkmenistan-on-Thursday)
เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ว่า ท่ามกลางความตึงเครียดระดับภูมิภาคอันสลับซับซ้อนหลายชั้นหลายเชิง มอสโก กับ เตหะราน อาจจะขบคิดพิจารณาเลื่อนเอาการลงนามอย่างเป็นทางการในข้อตกลงกลาโหมระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน ให้กระทำกันเร็ววันยิ่งขึ้น จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ว่าจะเซ็นกันระหว่างซัมมิตกลุ่มบริกส์ที่เมืองคาซาน
หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้ว เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ (11 ต.ค.) ก็จะชวนให้ย้อนระลึกถึงการมาเยือนกรุงเดลีของรัฐมนตรีต่างประเทศ อันเดร โกรมิโก (Andrei Gromyko) แห่งสหภาพโซเวียตในตอนนั้น เพื่อลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ, มิตรภาพ และความร่วมมือ ระหว่างอินเดียกับสหภาพโซเวียต (Treaty of Peace, Friendship and Cooperation Between India and the USSR) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1971 ที่กลายเป็นสนธิสัญญาแห่งประวัติศาสตร์
น่าสนใจมากที่ อูชาคอฟ ยังกล่าวอีกว่า ปูตินไม่มีแผนการใดๆ ที่จะพบกับ เนทันยาฮู ปูตินนั้นยังไม่ได้ตอบคำร้องขอของ เนทันยาฮู ที่จะให้ได้สนทนากันทางโทรศัพท์ ซึ่งยื่นเสนอเอาไว้เมื่อ 5 วันที่แล้ว ตำนานที่ เนทันยาฮู พยายามสร้างขึ้นมาในแบบฉบับของเขา ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เพื่อให้เป็นที่ประทับใจของพวกท่านผู้ชมท่านผู้ฟังภายในประเทศของเขา (และก่อความสับสนให้แก่ชาวบ้านร้านถิ่นชาวอาหรับ) –ที่ว่าเขามีความสัมพันธ์พิเศษกับปูติน— กำลังพังทลายลงอย่างไม่เป็นท่า
ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยการลงบัญชีเอาไว้ว่ามีการพบหารือกันแบบเร่งด่วนในกรุงอาชกาบัต – อันที่จริงแล้ว ประธานาธิบดีเซอร์ดาร์ เบอร์ดิมูฮาเมดอฟ ของเติร์กเมนิสถาน ยังอยู่ที่กรุงมอสโกอยู่เลยในวันจันทร์ (7 ต.ค.)/วันอังคาร (8 ต.ค.) เพื่อการเยือนแบบทำงานไปด้วย (working visit) [6] –ทำเนียบเครมลินก็กำลังส่งสัญญาณอันชัดเจนไปถึงวอชิงตันและเทลอาวีฟว่า มอสโกเป็นผู้สนับสนุนและเห็นพ้องกับเตหะรานอย่างชนิดไม่อาจเปลี่ยนแปลงลบล้างได้ และจะช่วยเหลือฝ่ายหลังไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามที (ดูเพิ่มเติมได้ที่ข้อเขียนเรื่อง West Asian crisis prompts Biden to break ice with Putin ในบล็อก Indian Punchline ของผม วันที่ 5 ตุลาคม 2024 https://www.indianpunchline.com/west-asian-crisis-prompts-biden-to-break-ice-with-putin/)
ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยอย่างนั้นหรือ? สนธิสัญญาอินเดีย-โซเวียตปี 1971 [7] ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับที่ก่อให้เกิดผลพ่วงต่อเนื่องมากที่สุดในบรรดาสนธิสัญญานานาชาติทั้งหลายที่อินเดียได้ร่วมลงนามด้วยนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นต้นมา มันไม่ได้เป็นข้อตกลงเพื่อการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางทหาร ทว่าสหภาพโซเวียตก็ได้เพิ่มพูนสมรรถนะทางทหารของอินเดียสำหรับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นมา และก่อให้เกิดลู่ทางซึ่งอินเดียสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งแก่พื้นฐานเพื่อความเป็นอิสระในทางยุทธศาสตร์ของตนเอง และแก่ศักยภาพสำหรับการกระทำต่างๆ อย่างเป็นอิสระของตนเอง
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/russia-aligns-with-iran-war-clouds-scatter/
เชิงอรรถ
[1] https://www.axios.com/2024/10/02/iran-israel-missile-attacks-response
[2] https://www.nytimes.com/2024/10/07/us/politics/israel-iran-nuclear-facilities-strikes.html
[3] https://www.youtube.com/watch?v=-RedeAoICcw
[4] https://www.radiofarda.com/a/israel-lebanon-crisis-hezbollah/33141060.html
[5] https://en.irna.ir/news/85622206/US-not-seeking-war-with-Iran-Pentagon
[6] https://turkmenportal.com/en/blog/83360/president-of-turkmenistan-arrives-in-moscow-on-working-visit
[7]https://india.mid.ru/en/history/articles_and_documents/indo_soviet_relations_documents_1971/?
หมายเหตุผู้แปล
ในวันศุกร์ (11 ต.ค.) วลาดิมีร์ ปูติน กับ มาซูด เปเซชเคียน ได้พบปะหารือกันจริงๆ ที่กรุงอาชกาบัต เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน จึงขอเก็บความรายงานข่าวเรื่องนี้ของสำนักข่าวรอยเตอร์ มาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้:
ปูตินนำรัสเซียกระชับความผูกพันกับประธานาธิบดีอิหร่านระหว่างพบหารือกันที่เอเชียกลาง
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
Russia's Putin cements ties with Iranian president in Central Asia meeting
By Reuters
12/10/2024
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย จัดการหารือกับประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน แห่งอิหร่าน เมื่อวันศุกร์ (11 ต.ค.) ที่เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน โดยผู้นำทั้งสองกล่าวยกย่องสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศของพวกเขาที่กำลังเติบโตขยายตัว และระบุด้วยว่าพวกเขามีทัศนะเกี่ยวกับกิจการโลกในทำนองเดียวกัน เป็นการแสดงถึงการมีความเข้าใจอันดีต่อกัน ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่สหรัฐฯ
ปูติน ซึ่งหมางใจกับวอชิงตันและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสงครามของรัสเซียในยูเครน โดยเป็นสิ่งที่เขาป่าวร้องว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของแดนหมีขาวในขอบเขตกว้างไกลยิ่งกว่าแค่ที่เห็นนี้เสียอีก เพื่อคัดค้านฝ่ายตะวันตกที่หยิ่งยโสและคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้น เขาจึงแสดงความกระตือรือร้นที่จะกระชับสายสัมพันธ์อย่างลึกล้ำยิ่งขึ้นอีกกับภูมิภาคที่เขาเรียกขานว่า ซีกโลกตะวันออก (Global East) และซีกโลกใต้ (Global South)
ประมุขทำเนียบเครมลินผู้นี้ ซึ่งประเทศของเขากำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตของกลุ่มบริกส์ ที่นครคาซาน ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคมนี้อยู่แล้ว ยังได้เชื้อเชิญเปเซชเคียนให้เดินทางไปเยี่ยมเยียนรัสเซียแบบการเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางผู้นำอิหร่านก็ตอบรับข้อเสนอนี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าว RIA ของทางการแดนหมีขาว
“ในทางเศรษฐกิจและในทางวัฒนธรรม การติดต่อสื่อสารของเรากำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวันที่ผ่านไป และกำลังสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นทุกที” เปเซชเคียนบอกกับปูตินเช่นนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว IRNA ของทางการอิหร่าน
“แนวโน้มแห่งการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของความร่วมมือกันระหว่างอิหร่านกับรัสเซียเช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของผู้นำระดับท็อปของทั้งสองประเทศแล้ว จะต้องมีการเร่งตัวทำให้สายสัมพันธ์เหล่านี้แข็งแรงยิ่งขึ้นต่อไปอีก” เขากล่าว
ในเวลาต่อมา สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียซึ่งรายงานข่าวจากดูไบ ยังได้อ้างอิงคำพูดของประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งปรากฏอยู่ในวิดีโอที่เผยแพร่โดยสำนักงานของเขา ระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกันในด้านต่างๆ จำนวนหนึ่ง
“การพูดจาของเรากับประธานาธิบดีรัสเซียนั้นกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และเรายังได้พูดจากันอีกครั้งเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ ที่เราสามารถบรรลุกันแล้ว” รายงานนี้อ้างอิงว่านี่เป็นคำพูดของเขา
“เรามีปฏิสัมพันธ์กันในทางสร้างสรรค์ เราตกลงเห็นพ้องกันที่จะเร่งรัดจัดทำโครงการต่างๆ ให้เสร็จสิ้น ทั้งในภาคแก๊ส, ในด้านการก่อสร้างถนนและทางรถไฟ, โครงการแยกเกลือออกจากน้ำ, และโครงการอื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับด้านพลังงาน, ปิโตรเคมี, และกระแสไฟฟ้า”
เมื่อเดือนที่แล้ว เปเซชเคียนได้ประกาศนำประเทศของเขาเข้าผูกพันมีสายสัมพันธ์อย่างล้ำลึกยิ่งขึ้นกับรัสเซีย เพื่อตอบโต้การถูกฝ่ายตะวันตกแซงก์ชั่น ทั้งสองประเทศยังบอกว่ากำลังใกล้ที่จะสามารถลงนามในข้อตกลงเพื่อการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันได้แล้ว โดยที่เรื่องนี้ เปเซชเคียนกล่าวในวันศุกร์ (11 ต.ค.) ว่า เขาคาดหวังว่าจะตกลงกันในขั้นสุดท้ายได้ ณ การประชุมซัมมิตกลุ่มบริกส์ในรัสเซียในช่วงต่อไปของเดือนนี้
สหรัฐฯจับตามองความสัมพันธ์ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างมอสโกกับเตหะรานด้วยความวิตกกังวล โดยที่วอชิงตันกล่าวหาอิหร่านว่ากำลังจัดหาจัดส่งพวกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) ไปให้รัสเซียใช้ในการสู้รบขัดแย้งในยูเครน ถึงแม้นั่นเป็นสิ่งที่เตหะรานปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
ปูตินประกาศว่า ระเบียบใหม่ของโลกกำลังปรากฏขึ้นมาแล้ว
รัสเซียกำลังประโคมว่า ความร่วมมือที่มีอยู่กับอิหร่านกำลังขยายตัวออกไปในทุกๆ ด้าน
“เราทำงานด้วยกันอย่างกระตือรือร้นในเวทีระหว่างประเทศ และการประเมินเหตุการณ์ปัจจุบันต่างๆ ในโลกของพวกเรา บ่อยครั้งทีเดียวมีความใกล้เคียงกันมาก” ทาสส์อ้างคำพูดที่ ปูติน บอกกับ เปเซชเคียน ในการหารือครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นข้างเคียงรายการประชุม ณ กรุงอาชกาบัต เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน ในเอเชียกลาง
สำหรับ เปเซชเคียน ตามรายงานของ IRNA ได้ชี้ให้เห็นว่าอิหร่านกับรัสเซียมีศักยภาพด้านต่างๆ ที่เป็นการหนุนเสริมให้แก่กันอย่างสำคัญ และสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ “จุดยืนของพวกเราในโลก มีความใกล้เคียงกับกันและกัน ยิ่งกว่าใกล้เคียงกับคนอื่นๆ” IRNA อ้างคำพูดของเขาที่บอกกับปูติน
เปเซชเคียน เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า อิสราเอลควร “ยุติการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์” รวมทั้งระบุว่าการปฏิบัติการต่างๆ ของอิสราเอลในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯและอียู ทางด้านรัสเซียก็วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลเช่นกันว่ากำลังถล่มทิ้งระเบิดใส่พื้นที่พลเรือน ถึงแม้อิสราเอลบอกว่ากำลังปกป้องความมั่นคงของตัวเองก็ตาม
ปูติน ได้รับการอ้างอิงจาก ทาสส์ ว่าบอกกับ เปเซชเคียนว่า ความผูกพันทางเศรษฐกิจระหว่างมอสโกกับเตหะรานอยู่ในลักษณะที่กำลังขึ้นสูง
อนึ่ง ตามบทวิจารณ์หลายชิ้นที่ทำเนียบเครมลินเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ (11 ต.ค.) ปูติน ได้บอกกับการประชุมในเติร์กเมนิสถานครั้งนี้ว่า ระเบียบใหม่ของโลกกำลังได้รับการสถาปนาขึ้นมา และศูนย์กลางแห่งใหม่ๆ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางแห่งใหม่ๆ ที่ทรงอิทธิพลทางการเงินและทางการเมืองก็กำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นกัน
รัสเซียนั้นสนับสนุนให้มี “การอภิปรายถกเถียงระดับนานาชาติกันให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เกี่ยวกับโลกแบบมีหลายขั้วอำนาจซึ่งกำลังปรากฏขึ้นมา อีกทั้งเปิดกว้างสำหรับให้มีการอภิปรายถกเถียงกันเรื่องนี้ภายในเวทีประชุมต่างๆ อันหลากหลาย เป็นต้นว่า เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States หรือ CIS), สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย, องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้, และกลุ่มบริกส์ ปูติน บอก
(ติดตามอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษของรายงานข่าวชิ้นนี้ได้ที่ https://www.reuters.com/world/europe/russias-putin-begins-visit-turkmenistan-says-kremlin-2024-10-11/)