เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง มอสโก ปักกิ่งและวอชิงตันอยู่ในจุดที่เฉียดใกล้บรรลุข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์แล้ว
"ไม่ มันไม่เป็นความจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า ความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ ในการผลักดันให้จีนส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะเจรจากับเรา (รัสเซียและสหรัฐฯ) จบลงด้วยความไม่ประสบความสำเร็จ" ลาฟรอฟ กล่าวในวันพฤหัสบดี (10 ต.ค.)
"สมมติฐานของการเจรจาลดนิวเคลียร์ใดๆ จะต้องเกี่ยวข้องกับเหล่าพันธมิตรนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้แสดงความปรารถนาเข้าร่วมการเจรจาด้วยเช่นกัน" รยาบคอฟกล่าว
ทรัมป์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรณรงค์หาเสียงศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ หวังนั่งเก้าอี้ทำเนียบขาวเป็นสมัย 2 มักหยิบยกประเด็นภัยคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียงด้วย
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับ แอนดูรว์ ชูล์ซ ที่โพตส์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อวันพุธ (9 ต.ค.) ตัวแทนจากรีพับลิกันรายนี้อ้างว่ารัสเซีย สหรัฐฯ และจีน เคยเฉียดใกล้บรรลุข้อตกลงกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ โดยที่ชาติอื่นๆ มีความเป็นไปได้ที่จะถูกดึงมาเข้าร่วมด้วยในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือ ทรัมป์ เป็นคนถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ในนั้นรวมถึงสนธิสัญญาว่าด้วยกองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-range Nuclear Forces - INF) ที่ทำไว้กับรัสเซีย ที่ถอนตัวในปี 2018 ซึ่งครั้งนั้น วอชิงตันกล่าวหามอสโกละเมิดเงื่อนไขต่างๆ ในสนธิสัญญา แต่สื่อตะวันตกรายงานว่าเป็นสหรัฐฯ เองที่กังวลว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดข้อจำกัดต่างๆ เล่นงานจีน อีกชาติคู่ปรับทางยุทธศาสตร์ที่ผงาดขึ้นมาในด้านขุมกำลังทางนิวเคลียร์
สนธิสัญญา INF ถูกใช้ห้ามสหรัฐฯ และรัสเซีย จากการพัฒนาหรือประจำการขีปนาวุธศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ยิงจากภาคพื้นบางชนิด มันมีการลงนามในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และมีเจตนาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุสงครามนิวเคลียร์
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)