คนไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าจีนจะยังไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหารรุกรานเกาะไต้หวันภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า แต่ก็มองว่าปักกิ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับดินแดนประชาธิปไตยแห่งนี้ ตามผลสำรวจความคิดเห็นโดยสถาบันวิจัยด้านการทหารของไต้หวันที่เผยแพร่ในวันพุธ (9 ต.ค.)
ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้ยกระดับทำกิจกรรมข่มขู่รอบเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยของตนเอง และไม่ปฏิเสธทางเลือกใช้กำลังทหารเพื่อเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้หากมีความจำเป็น
สถาบันเพื่อการวิจัยด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน (INDSR) ได้ทำการสำรวจมุมมองของชาวไต้หวัน 1,200 คนในช่วงเดือน ก.ย. และพบว่า 61% เชื่อว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ หรือไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง” ที่จีนจะโจมตีไต้หวันภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้
“คนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่า ความทะเยอทะยานอยากครอบครองดินแดนของจีนจะถูกแสดงออกมาในรูปของการบุกโจมตีไต้หวัน” คริสตินา เฉิน นักวิจัยของ INDSR ระบุ
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจพบว่าคนไต้หวันยังกังวลภัยคุกคามด้านอื่นๆ ที่เกิดจากจีน เช่น การซ้อมรบหรือการโฆษณาชวนเชื่อ
ผลสำรวจนี้ตรงกันข้ามกับคำเตือนของผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ซึ่งเคยออกมาเตือนเมื่อปีที่แล้วว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้สั่งการให้กองทัพจีนเตรียมพร้อมสำหรับการบุกไต้หวันภายในปี 2027
“นั่นหมายความว่า ชาวไต้หวันตระหนักรู้ถึงภัยคุกคาม แต่พวกเขายังคงสงบเยือกเย็น และพิจารณาโอกาสในการเกิดสงครามอย่างมีเหตุมีผล” INDSR ระบุ
ผู้ตอบแบบสอบถามเกิน 67% ระบุว่า พวกเขาพร้อมที่จะ “สู้กลับ” หากจีนโจมตี แต่ยังคงมีมุมมองแตกต่างในแง่ที่ว่า กองทัพไต้หวันมีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันเกาะหรือไม่? โดยกลุ่มที่เชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นนั้นมีจำนวน “ครึ่งๆ”
ลี กวนเฉิน (Lee Kuan-chen) นักวิจัยของ INDSR อีกคนหนึ่งมองว่า กองทัพไต้หวันควรเสริมเขี้ยวเล็บให้มากกว่านี้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน
ผลสำรวจฉบับนี้ยังพบด้วยว่า คนไต้หวัน “เสียงแตก” ในประเด็นที่ว่าสหรัฐฯ พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยไต้หวันหรือไม่? โดยในขณะที่ 74% เชื่อว่าสหรัฐฯ น่าจะช่วยไต้หวันทางอ้อมด้วยการส่งเสบียงอาหาร ยารักษาโรค และอาวุธให้ แต่มีเพียง 52% เท่านั้นที่มั่นใจว่าอเมริกาจะส่งกองกำลังเข้าแทรกแซง
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ สร้างความขุ่นเคืองต่อจีนด้วยการออกมาพูดในทำนองว่าสหรัฐฯ “จะปกป้องไต้หวัน” หากถูกปักกิ่งโจมตี ซึ่งถือเป็นการถอยห่างจากนโยบาย “ความกำกวมเชิงยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ที่รัฐบาลอเมริกันใช้มานานเกี่ยวกับปัญหาไต้หวัน
ที่มา : รอยเตอร์