xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันหนาวๆ ร้อนๆ! แฮร์ริสไม่รับปากส่งทหารสหรัฐฯเข้าช่วย ในกรณีเปิดศึกกับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และตัวแทนเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ทำเนียบขาว ปฏิเสธยืนยันว่าเธอจะส่งทหารอเมริกาเข้าปกป้องไต้หวันจากเงื้อมมือของกองกำลังจีนหรือไม่ ในกรณีที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น หากเธอได้รับเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ก้าวมาเป็นผู้นำคนใหม่ของอเมริกา

"ดิฉันไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อสมมติฐาน" เธอบอกกับ บิล วิทเทเกอร์ พิธีกรของช่องซีบีเอส เมื่อถูกถามในประเด็นดังกล่าว "เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่า เราธำรงไว้ซึ่งนโยบายจีนเดียว แต่ในนั้นยังรวมไปถึงการสนับสนุนศักยภาพในการป้องกันตนเองของไต้หวัน รวมถึงความจำเป็นที่เราต้องรับประกันเสรีภาพในช่องแคบไต้หวัน" เธอกล่าว ในรายการ ‘"60 Minutes" ที่ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (7 ต.ค.)

แฮร์ริส ระบุต่อว่า "สหรัฐฯ ไม่ควรแสวงหาความขัดแย้ง และควรคงไว้ซึ่งการใส่ใจต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ"

หลัการ "จีนเดียว" คือนโยบายที่ยืนยันว่ามีเพียงรัฐเดียวที่ใช้ชื่อว่าจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) เป็นจุดยืนที่จีนยื่นต่อนานาชาติที่ประสงค์จะสานความสัมพันธ์กับจีน และเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ

ปักกิ่งตีความหลักการดังกล่าว ว่า เป็นตัวสนับสนุนคำกล่าวอ้างด้านอธิปไตยของพวกเขาที่มีเหนือเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ ทั้งนี้ไต้หวันเป็นแหล่งหลบภัยสุดท้ายของกองกำลังชาตินิยม ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน ยุคทศวรรษที่ 1940 และยังคงเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ในภูมิภาคมาหลายทศวรรษนับตั้งแต่นั้น

วอชิงตันปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการทูตจากไทเป หันไปรับรองปักกิ่งในปี 1979 แต่คงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวัน ในนั้นรวมถึงขายระบบอาวุธล้ำสมัยแก่เกาะแห่งนี้ และเชิญตัวแทนของไทเปเข้าร่วมกิจกรรมนานาชาติต่างๆ

จีน มองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการจีนเดียว และปลุกปั่นความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งเน้นย้ำเป้าหมายเสาะหาการร่วมชาติอย่างสันติ แม้บอกเช่นกันว่าพวกเขาพร้อมใช้กำลัง หากว่าไต้หวันพยายามประกาศเอกราช

สหรัฐฯ มองความสัมพันธ์กับจีนในปัจจุบัน ในฐานะคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ ซึ่งก่อความซับซ้อนในประเด็นการค้าอย่างกว้างขวางระหว่าง 2 ชาติ

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอส เมื่อปี 2023 แฮร์ริส ไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อกรณีที่เขาให้คำนิยามเศรษฐกีจจีนว่าเป็นระเบิดเวลา โดยเธอบอกว่า "นโยบายสหรัฐฯ ไม่ใช่การแบ่งขั้ว แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดความเสี่ยง"

"มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับประกันว่าเรากำลังปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และเราคือผู้นำหนึ่งในแง่ของกฎเกณฑ์ในเส้นทางนั้น ในขณะที่เราคัดค้านการทำตามกฎเกณฑ์อื่นๆ" เธอกล่าว

สำหรับ ไบเดน เคยให้สัญญาว่าจะใช้กองกำลังสหรัฐฯ จัดการกับจีน ในสมมติฐานที่ว่าปักกิ่งลงมือโจมตีไต้หวัน ในขณะที่บรรดาผู้นำคนก่อนๆ ของอเมริกา ยึดถือมายาวนานต่อหลักนโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (strategic ambiguity) ในเรื่องดังกล่าว นโยบายที่ออกแบบมาเพื่อส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจต่างๆ ของทั้งปักกิ่งและไต้หวัน

(ที่มา : ซีบีเอส/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น