xs
xsm
sm
md
lg

อิสราเอลเคยรุกรานเลบานอนมาก่อน แต่แล้วก็ประสบความล้มเหลว คราวนี้จะมีอะไรผิดไปจากเดิมไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อามิน ไซคัล


เปลวไฟและกลุ่มควันลอยขึ้นมาจากสถานที่ซึ่งถูกกองทัพอิสราเอลถล่มโจมตีทางอากาศ ในย่านที่พักอาศัยแห่งหนึ่งบริเวณชานเมืองตอนใต้ของกรุงเบรุต, เลบานอน เมื่อช่วงก่อนรุ่งสางวันที่ 1 ต.ค. 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Israel has a history of failed invasions of Lebanon
by Amin Saikal
01/10/2024

ขณะที่กองทหารอิสราเอลบุกเข้าภาคใต้เลบานอนเพื่อกำจัดกวาดล้างภัยคุกคามจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์อยู่นี้ เนทันยาฮูกำลังอยู่ในภาวะขม้ำกัดชิ้นเนื้อก้อนใหญ่โตจนเกินกว่าจะเคี้ยวกลืนไหวหรือเปล่า?

หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดใส่เลบานอนอย่างมโหฬาร อิสราเอลก็เริ่มต้นการรุกรานทางภาคพื้นดินเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของตนรายนี้

กองทหารอิสราเอลรุกเข้าไปทางตอนใต้ของเลบานอนคราวนี้ เป็นความพยายามที่จะผลักดันกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ให้ถอยกลับไปจนอยู่หลังแนวแม่น้ำลิตานี (Litani River) ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนอิสราเอล 29 กิโลเมตร เป้าหมายที่ถูกระบุออกมา [1] ก็คือ เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ชาวอิสราเอลราว 60,000 คนที่ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นอพยพหนีภัยสงครามจากบ้านเรือนของพวกเขาในภาคเหนือของอิสราเอล ได้กลับคืนถิ่นฐาน

ก่อนหน้านี้ จากการสังหาร [2] ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ (Hasan Nasrallah) ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ตลอดจนพวกผู้บังคับบัญชากองกำลังของเขาอีกหลายคนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อิสราเอลก็ประสบความสำเร็จแล้วในการกระหน่ำโจมตีอย่างสาหัสร้ายแรงใส่กลุ่มนี้

สิ่งนี้เพิ่มพูนเกียรติประวัติความสำเร็จให้แก่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ถึงแม้ชาวอิสราเอลส่วนข้างมากกำลังต้องการที่จะเห็นเขาลาจากเวทีไป [3] ก็ตามที อิสราเอลตอนนี้กำลังตั้งท่าเปิดการปฏิบัติการในกาซาของพวกเขาซ้ำขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในเลบานอน ด้วยทัศนะที่มุ่งจัดระเบียบในภูมิภาคตะวันออกกลางขึ้นมาเสียใหม่ให้อยู่ในสภาพสอดคล้องกับผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาเอง แต่ว่าอิสราเอลกำลังกัดกินเนื้อก้อนใหญ่โตเกินกว่าที่พวกเขาสามารถเคี้ยวไหวหรือเปล่า?

ประวัติผลงานในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ

อิสราเอลเคยมาจนถึงจุดตรงนี้ก่อนหน้านี้แล้ว พวกเขาเคยรุกรานเลบานอนไกลยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำ นั่นคือไปจนถึงเมืองหลวงเบรุตมาแล้วเมื่อปี 1982 [4] ในความพยายามที่จะกำจัดองค์การปลดแอกปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization หรือ PLO) มันคือความพยายามของอิสราเอลที่จะดับสลายแรงต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ต่อการที่อิสราเอลเข้ายึดครองดินแดนที่เหลืออยู่ทั้ง 3 ผืนของปาเลสไตน์ อันได้แก่ เขตเวสต์แบงก์ (West Bank), กาซา (Gaza), และส่วนตะวันออกของนครเยรูซาเลม (East Jerusalem) มันเป็นพลังต่อต้านที่ดำรงคงอยู่เรื่อยมานับตั้งแต่ชัยชนะครั้งใหญ่ของอิสราเอลใน สงครามอิสราเอล-อาหรับปี 1967 (1967 Israeli–Arab War) [5]

ทั้งนี้ ปี 1982 ยังเป็นปีที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้รับการก่อตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลอิสลามในอิหร่าน ซึ่งก็เพิ่งสถาปนาขึ้นมาก่อนหน้านั้นไม่นานนัก

อิสราเอลได้มอบอำนาจให้พวกพันธมิตรชาวคริสต์เลบานอนของพวกเขา ก่อการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคน [6] ในค่ายผู้ลี้ภัย ซาบรา (Sabra) และ ชาติลา (Shatila) ในกรุงเบรุต นอกจากนั้นพวกเขายังบังคับองค์การปลดแอกปาเลสไตน์ให้โยกย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากเบรุตไปยังประเทศตูนิเซีย

(ภาพจากแฟ้ม) อิสราเอลเปิดการโจมตีทางอากาศใส่เลบานอนเมื่อปี 2006
จากนั้นอิสราเอลก็ตัดเฉือนดินแดนเลบานอนทางตอนเหนือของชายแดนของพวกเขาเพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่ความมั่นคง ทว่าต้องเผชิญการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นจากฮิซบอลเลาะห์ แล้วเมื่อจำนวนชาวอิสราเอลที่ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นายกรัฐมนตรี อีฮุด บารัค ของอิสราเอลเวลานั้นก็สั่งถอนกำลังถอยออกมาแต่ฝ่ายเดียว [7] ในปี 2000

การล่าถอยของอิสราเอลคราวนั้น ทำให้ฮิซบอลเลาะห์ได้รับความนิยมชมชื่นและมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมาย พวกเขาถูกมองว่าอยู่ในฐานะเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองและกองกำลังกึ่งทหารซึ่งน่าเกรงขามกลุ่มหนึ่งในการต่อต้านต่อตีกับอิสราเอลและพวกพันธมิตรของอิสราเอล

อิสราเอลได้รุกรานเลบานอนอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2006 ในความพยายามที่จะกวาดล้างฮิซบอลเลาะห์ ทว่ายังคงประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของพวกเขา หลังจากสู้รบกันอย่างนองเลือดมา 34 วัน และเผชิญความสูญเสียอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังกันทั้งสองฝ่าย อิสราเอลก็ยอมรับญัตติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ให้หยุดยิง [8] โดยที่ฮิซบอลเลาะห์ถูกมองว่าคือฝ่ายที่มีชัย

เปิดศึกทำสงครามอย่างท้าทายไม่แยแสโลก

สำหรับในครั้งนี้ เนทันยาฮู มีความรู้สึกเชื่อมั่นว่าจะชนะ นอกจากนั้นเขายังได้รับการหนุนหลังจากพวกรัฐมนตรีแนวคิดสุดโต่งในคณะรัฐบาลผสมของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ, การคลัง, และกลาโหม ทั้งนี้ในปัจจุบันเขาต้องพึ่งพาอาศัยความสนับสนุนของผู้คนเหล่านี้เพื่อเอาตัวเองให้รอดจากแรงบีบคั้นกดดันอันสาหัสทางการเมืองภายในประเทศ

อิสราเอลมีกำลังยิงมากกว่าที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ พวกเขาแสดงให้เห็นเรื่องนี้แล้วในสงครามกาซา ในเวลาที่กำลังล้างแค้นกลุ่มฮามาสซึ่งสังหารชาวอิสราเอลไปมากกว่า 1,000 คนและจับเอาชาวอิสราเอลและคนสัญชาติต่างประเทศราว 240 คนไปเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 [9]

ในการปฏิบัติการแบบผลาญภพ (scorched-earth operations) คราวนี้ กองทัพอิสราเอลได้ถล่มโจมตีดินแดนหลายๆ บริเวณของฉนวนกาซาจนราบเรียบเป็นหน้ากลอง และเข่นฆ่าสังหารพลเรือนของกาซาของมากกว่า 40,000 คน [10] –35% ในจำนวนนี้เป็นเด็ก— โดยที่อีก 2 ล้านคนกำลังถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่นโยกย้ายไปยังที่ต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

เหตุการณ์การสู้รบขัดแย้งอิสราเอล-เลบานอนนับตั้งแต่ 7 ต.ค. 2023  พื้นที่กว้างราว 5 กม.ตามแนวชายแดนในภาคใต้เลบานอนได้ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 เป็นต้นมา รวมแล้วเกิดเหตุโจมตีกว่า 11,000 ครั้งเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น
ในการณ์นี้ คณะผู้นำของเนทันยาฮูได้เพิกเฉยละเลยบรรทัดฐานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติในเวลาทำสงคราม, กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ, ญัตติฉบับหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิง [11] , และคำเตือนไม่ให้ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ [12] ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice ใช้ตัวย่อว่า ICJ ในประเทศไทยนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ศาลโลก -ผู้แปล)

ยิ่งกว่านั้น เขายังจงใจบิดเบือนอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งกับเสียงประณามอย่างกว้างขวางจากทั่วโลกต่อการกระทำเหล่านี้ของอิสราเอล

สิ่งที่คอยประคับประคองหนุนเสริมจุดยืนแบบท้าทายโลกของเขา ก็คือ การที่สหรัฐฯยังคงออกมายืนยันที่จะให้ความสนับสนุนอย่างชนิด “หุ้มเกราะแข็งแกร่ง” ให้แก่อิสราเอลทั้งในทางทหาร, การเงิน, และเศรษฐกิจต่อไปไม่มีเลิกรา อันที่จริงแล้ว วอชิงตันเพิ่งอนุมัติ [13] แพกเกจความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่าอีก 8,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการสนับสนุนอิสราเอลดำเนินการรณรงค์ทำศึกในเลบานอน

เนทันยาฮูจึงไม่ได้รู้สึกว่ามีเหตุผลอันหนักแน่นใดๆ เลย สำหรับการโอนอ่อนผ่อนท่าที หรือแม้กระทั่งแค่การแสดงความเป็นมิตรกับเสียงเรียกร้องของวอชิงตัน ที่ให้บันยะบันยังหรือให้ยอมหยุดยิง

คราวนี้จะแตกต่างไปจากครั้งก่อนหรือไม่?

ความมั่นอกมั่นใจของเนทันยาฮู ยังกำลังเพิ่มพูนเข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากสมรรถนะทางด้านนิวเคลียร์ของอิสราเอล ทั้งนี้ถึงแม้ไม่ได้มีการประกาศอย่างเปิดเผย แต่ก็มีรายงานว่าอิสราเอลเป็นผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้จำนวนมาก [14] สำหรับใช้ในการป้องปรามระดับภูมิภาคและในการสำแดงความเหนือล้ำทางการทหารในภูมิภาค

เนทันยาฮู และพวกผู้สนับสนุนเขาอ้างว่า การที่พวกเขาใช้กำลังทำลายล้างอย่างชนิดเกินสัดส่วนเหมาะควรไปอย่างเหลือเกินเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว สำหรับการป้องกันตัวเองจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นหนวดปลาหมึกผู้ก่อการร้าย (นั่นคือฮามาส, กลุ่มอิสลามิกญิฮาด, และฮิซบอลเลาะห์) ซึ่งสยายออกมาจากเจ้าปลาหมึกตัวเบิ้มอย่างอิหร่าน [15]

ด้วยการที่ทั้งสหรัฐฯ และพวกพันธมิตรชาวตะวันตกของพวกเขา ตลอดจนพวกพันธมิตรอาหรับในภูมิภาคของพวกเขา ต่างเห็นดีเห็นงามกับท่าทางการวางตัวของอิสราเอล ดังนั้นเวลานี้อิสราเอลจึงมุ่งโฟกัสอีกคำรบหนึ่งอยู่ที่งานซึ่งยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นในการถอนรากถอนโคนอิซบอลเลาะห์

ฮิซบอลเลาะห์นั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากส่วนหนึ่งใน “แกนอักษะแห่งการต่อต้าน” (axis of resistance) ของอิหร่าน ซึ่งมุ่งคัดค้านต้านทานอิสราเอลและสหรัฐฯ เนทันยาฮูรู้ดีว่าการทำลายกลุ่มนี้ได้จะหมายถึงการขยี้ระบบความมั่นคงทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคของอิหร่านให้แตกสลาย [16] เขาไม่ได้รังเกียจเลยในเรื่องการเสี่ยงเข้าเผชิญหน้าโดยตรงกับอิหร่าน ขณะที่ยังคงได้รับความมั่นใจว่าสหรัฐฯจะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา

เตหะรานนั้นไม่สามารถที่จะคาดหมายได้หรอกว่าพวกเขาจะทอดทิ้งฮิซบอลเลาะห์ ทว่าอิหร่านเองมีเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ ทางนโยบายอย่างอื่นๆ ทั้งด้านภายในประเทศและด้านการต่างประเทศ ประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน ของอิหร่านที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาไม่นาน ขึ้นครองอำนาจด้วยคำมั่นที่จะลดพวกข้อจำกัดทางการเมืองและทางสังคมซึ่งมาจากการปกครองของฝ่ายศาสนา ตลอดจนปรับปรุงยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอิหร่านส่วนใหญ่

เปเซชเคียน ยังให้สัญญาที่จะปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคและความสัมพันธ์ระดับนานาชาติของอิหร่าน รวมไปถึงการเปิดเจรจาขึ้นใหม่กับฝ่ายตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ) เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน [17] ทั้งนี้เพื่อให้มีการยุติการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรที่นำโดยสหรัฐฯ

เปเซชเคียน ดูเหมือนได้รับการหนุนหลังจากผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจอย่างยิ่ง และเคยแสดงให้เห็นความปรารถนาที่จะคำนึงถึงผลทางปฏิบัติเมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา น่าสังเกตว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ อับบาส อารากชี ของอิหร่าน ออกมาแถลงว่า ฮิซบอลเลาะห์มีความสามารถในการป้องกันตัวเอง [18]

สำหรับเวลานี้ วิธีการของเตหะรานก็คือการปล่อยให้อิสราเอลเข้าไปติดกับในเลบานอน เฉกเช่นเดียวกับในครั้งก่อนๆ ที่ผ่านๆ มา

ฮิซบอลเลาะห์นั้นไม่ใช่ฮามาส กล่าวคือ ถึงแม้พวกเขาประสบความเสียหาย แต่ก็ยังคงประกอบอาวุธค่อนข้างดีและอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ กลุ่มนี้จะสามารถทำการต่อต้านอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อเล่นงานการยึดครองของอิสราเอล นี่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับที่ฝ่ายรัฐยิวต้องสูญเสียอย่างสูง ทั้งด้านกำลังมนุษย์และกำลังทรัพยากร อีกทั้งยังอาจกีดขวางชาวอิสราเอลจำนวนมากให้ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านในภาคเหนือของอิสราเอลได้

ในขั้นตอนนี้ มีจุดที่สำคัญ 2 จุด ซึ่งต้องระลึกถึง

จุดหนึ่งก็คือหลังจากทำการรณรงค์สู้รบอย่างสร้างความเสียหายย่อยยับมาได้ 1 ปีแล้ว อิสราเอลยังคงไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในการกำจัดการต่อต้านของฮามาสให้หมดสิ้นลงไป ภาระในการจัดการกับฮิซบอลเลาะห์ด้วยการทำสงครามภาคพื้นดินก็อาจถูกพิสูจน์ออกมาว่ามันเป็นงานที่ลำบากกว่ามาก และเป็นอันตรายยิ่งกว่านักหนา

อีกจุดหนึ่งก็คือ เหมือนๆ กับเนทันยาฮู อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ได้เคยหาทางที่จะสร้างระเบียบในตะวันออกกลางขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ เขาเข้าแทรกแซงทั้งในอัฟกานิสถานและอิรักโดยใช้ข้ออ้างบังหน้าว่ามันเป็นการทำสงครามต่อสู้กับการก่อการร้าย และเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย

แต่การกระทำของอเมริกากลับกลายเป็นการทำให้ภูมิภาคนี้ยิ่งไร้เสถียรภาพ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การเอาแต่อาศัยกำลังล้วนๆ มีน้อยนักหนาที่จะสามารถเข้าแทนที่การทูตได้อย่างมีผลจริงๆ ในการบริหารจัดการปัญหาทั้งหลายของโลก

อามิน ไซคัล เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านตะวันออกกลางและเอเชียกลางศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/israel-has-a-history-of-unsuccessful-invasions-of-lebanon-will-this-time-be-any-different-240210

เชิงอรรถ
[1] https://www.bbc.com/news/live/cg4qx62kkxxt
[2] https://theconversation.com/benjamin-netanyahu-is-triumphant-after-hassan-nasrallahs-assassination-but-will-it-change-anything-240090
[3] https://theconversation.com/how-israels-netanyahu-survives-in-his-job-237382
[4] https://www.theguardian.com/global/2017/jul/01/lebanon-israel-1982-war-deaths-invasion
[5] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-39960461
[6] https://www.aljazeera.com/news/2022/9/16/sabra-and-shatila-massacre-40-years-on-explainer
[7] https://www.rte.ie/brainstorm/2024/0925/1471773-israel-lebanon-invasion-1982-operation-peace-for-the-galilee/
[8] https://www.nytimes.com/2006/08/15/opinion/15iht-edsaikal.2491556.html
[9] https://www.theguardian.com/world/2024/sep/29/the-middle-east-in-crisis-7-october-the-day-that-changed-the-world
[10] https://www.aljazeera.com/news/longform/2023/10/9/israel-hamas-war-in-maps-and-charts-live-tracker
[11] https://press.un.org/en/2024/sc15723.doc.htm
[12] https://www.bbc.com/news/articles/c3g9g63jl17o
[13] https://www.reuters.com/world/middle-east/israel-says-it-has-secured-87-billion-us-aid-package-2024-09-26/
[14] https://www.armscontrol.org/factsheets/nuclear-weapons-who-has-what-glance
[15] https://www.iranintl.com/en/202201188071
[16] https://ecfr.eu/publication/beyond-proxies-irans-deeper-strategy-in-syria-and-lebanon/
[17] https://www.bbc.com/news/articles/cmm25dq14j3o
[18] https://www.presstv.ir/Detail/2024/09/25/733917/Iran-FM--%E2%80%98Hezbollah-can-flatten-Israeli-bases,-settlements
กำลังโหลดความคิดเห็น