xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีนี้ ผู้ชนะคือ 2 นักบุกเบิกเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่วางรากฐานให้แก่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สองผู้ชนะรางวัลโนเบิลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2024 (ซ้าย) ศาสตราจารย์ จอห์น ฮอพฟิลด์ (John Hopfield) แห่งมหาวิทยาลัยพรินซตัน, สหรัฐฯ และ (ขวา) ศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) ซึ่งเกิดในสหราชอาณาจักร และทำงานที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต, แคนาดา ด้วยผลงานที่เป็นการวางรากฐานให้แก่ปัญญาประดิษฐ์
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ จอห์น ฮอพฟิลด์ และนักวิทยาศาสตร์สหราชอาณาจักร-แคนาดา เจฟฟรีย์ ฮินตัน คือผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2024 จากการประกาศเมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ด้วยผลงานการค้นพบและการประดิษฐ์คิดสร้างในเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องจักร ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางสำหรับความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในเวลาต่อมา

เทคโนโลยีเอไอที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างคึกคักในเวลานี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองมีส่วนสำคัญในการวางรากฐาน ได้รับการป่าวร้องยกย่องว่ามีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติกันถึงรากถึงโคนในปริมณฑลด้านต่างๆ ตั้งแต่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำยุคล้ำสมัย ไปจนถึงการบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิผลยิ่งขึ้น แต่เวลาเดียวกันนั้น มันก็ก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าในอีกไม่ช้าไม่นานมนุษยชาติจะประสบความพ่ายแพ้ไม่อาจสู้ปัญญาความฉลาด และไม่อาจแข่งขันกับเจ้าเครื่องจักรคิดได้นี้แม้มันจะเป็นประดิษฐกรรมของพวกเขาเอง

ฮินตัน ซึ่งได้รับเครดิตอย่างกว้างขวางว่ามีฐานะเป็น “พ่อทูนหัว” ของเอไอ และได้กลายเป็นพาดหัวตัวโตของสื่อต่างๆ ตอนที่เขาลาออกจากงานในบริษัทกูเกิลเมื่อปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อที่เขาจะสามารถพูดได้อย่างสบายใจมากขึ้นเกี่ยวกับอันตรายต่างๆ ของเทคโนโลยีที่เขาเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกนี้

“เราไม่มีประสบการณ์เอาเลยว่ามันจะเป็นยังไง สำหรับการที่เรามีสิ่งต่างๆ ที่ฉลาดกว่าเราอยู่ในครอบครอง” ฮินตันกล่าวทางโทรศัพท์มายังที่ประชุมแถลงข่าวรางวัลโนเบลในกรุงสต็อกโฮล์มทสวีเดน เมื่อวันอังคาร (8) ขณะเขาอยู่ในโรงแรมที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

“มันจะทำให้เกิดเรื่องมหัศจรรย์ในแง่มุมต่างๆ จำนวนมาก ในแวดวงอย่างเช่นการดูแลรักษาสุขภาพ” เป็นคำกล่าวของ ฮินตัน วัย 76 ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดในสหราชอาณาจักร แต่เวลานี้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยโทรอนโต แคนาดา พร้อมกันนั้น เขาก็เตือนว่า “แต่เราก็ต้องมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลพวงต่อเนื่องที่เลวร้ายหลายๆ อย่างซึ่งสามารถเกิดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามของการที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้”

สำหรับ ฮอพฟิลด์ วัย 91 ปี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณอยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐฯ ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ที่เป็นผู้พิจารณาตัดสินผู้ชนะรางวัลนี้ แถลงว่า เขาเป็นผู้สร้างแนวความคิดเรื่องหน่วยความจำสาระ (associative memory) ที่สามารถนำมาจัดเก็บและสร้างขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของภาพ และรูปแบบของข้อมูลอื่นๆ

“ผู้ชนะรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ทั้งสองคนของปีนี้ ได้ใช้เครื่องมือต่างๆ จากวิชาฟิสิกส์มาพัฒนาพวกวิธีการซึ่งกลายเป็นรากฐานของเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องจักรซึ่งทรงพลังอย่างยิ่งในทุกวันนี้” คำแถลงของราชบัณฑิตยสภาสวีเดนระบุ

“การเรียนรู้ของเครื่องที่ยึดโยงอยู่กับโครงข่ายประสาทเทียม คือสิ่งที่เวลานี้กำลังก่อให้เกิดการปฏิวัติในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และชีวิตประจำวัน”

ขณะที่ ฮินตัน เป็นผู้ประดิษฐ์วิธีการที่สามารถค้นหาคุณสมบัติต่างๆ ในข้อมูลได้อย่างอัตโนมัติ และกระทำภารกิจต่างๆ เป็นต้นว่า การจำแนกแยกแยะส่วนประกอบพิเศษต่างๆ ที่อยู่ในรูปภาพ คำแถลงของราชบัณฑิตยสภาสวีเดนกล่าว

ถึงแม้เขาลาออกจากกูเกิล ในปี 2023 ภายหลังเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถที่จะมีความฉลาดเหนือกว่ามนุษย์ได้ในช่วงเวลาที่รวดเร็วยิ่งกว่าที่เขาตลอดจนพวกผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ คาดหมายกันไว้ แต่ ฮินตัน ก็บอกว่าบริษัทกูเกิลเองมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ในแบบที่มีความรับผิดชอบอย่างยิ่ง

ฮินตันกลาวด้วยว่า แม้เขารู้สึกสำนึกเสียใจเกี่ยวกับงานวิจัยบางส่วนของเขา แต่เขาก็กระทำออกไปเช่นนั้นโดยขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่เขามีอยู่ในตอนนั้น

“ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน ผมก็จะทำอย่างเดิมอีก” เขาบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวรางวัลโนเบล “แต่ผมก็มีความวิตกกังวลว่าผลพวงต่อเนื่องโดยรวมของเรื่องนี้อาจจะออกมาว่าระบบต่างๆ จะมีความฉลาดยิ่งกว่าเรา และเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจควบคุมเอาไว้ในท้ายที่สุด”

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น