เผยในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา อเมริกาอัดฉีดความช่วยเหลือทางทหารให้อิสราเอล ซึ่งกำลังทำสงครามหฤโหดในฉนวนกาซา และเวลานี้ขยายวงสู่เลบานอน เป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 17,900 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างต่ำ ไม่รวมค่าใช้จ่ายอีก 4,860 ล้านดอลลาร์ในการเสริมปฏิบัติการทางทหารของตนเองในตะวันออกกลาง ที่รวมถึงการจัดการกลุ่มกบฏฮูตีที่ลอบโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง
รายงานจากโครงการค่าใช้จ่ายสงคราม (Costs of War project) ของมหาวิทยาลัยบราวน์ ในสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (7 ต.ค.) เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีที่นักรบฮามาสจู่โจมบุกอิสราเอล ถือเป็นรายงานฉบับแรกที่มีการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือที่อเมริกาให้อิสราเอล ขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้การสนับสนุนอิสราเอลในการสู้รบในกาซาและเลบานอน และพยายามจำกัดการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านภายในตะวันออกกลาง
ตัวเลขทางการเงินเหล่านี้ยังไม่รวมความสูญเสียด้านชีวิตมนุษย์ ทั้งเหยื่อกว่า 1,200 คนที่ถูกฮามาสสังหารระหว่างการบุกโจมตีอิสราเอลชนิดช็อกโลกเมื่อปีที่แล้ว พร้อมจับตัวประกัน 250 คนกลับไปคุมขังในกาซา และผู้เสียชีวิตเกือบ 42,000 คนในกาซาจากปฏิบัติการล้างแค้นของอิสราเอล
นอกจากนั้น ยังมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,400 คนในเลบานอน ซึ่งมีทั้งนักรบฮิซบอลเลาะห์และพลเรือน นับจากอิสราเอลขยายการโจมตีเข้าสู่ประเทศนี้เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
ค่าใช้จ่ายทางการเงินในรายงานฉบับนี้ที่จัดทำแล้วเสร็จก่อนที่อิสราเอลจะเปิดแนวรบที่สองในเลบานอนนั้น คำนวณโดย ลินดา เจ. บิลม์ส ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยรัฐกิจ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เคยศึกษาประเมินค่าใช้จ่ายในสงครามทั้งหมดของอเมริกา นับจากวินาศกรรม 11 ก.ย.2001 และนักวิจัยอีก 2 คนคือ วิลเลียม ดี. ฮาร์เติง และสตีเฟน เซมเลอร์ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังต่อไปนี้:
ความช่วยเหลือทางทหารสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อิสราเอลที่ได้รับการอุปถัมภ์จากอเมริกานับจากก่อตั้งประเทศในปี 1948 เป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากอเมริกามูลค่าสูงสุดคือ 251,200 ล้านดอลลาร์ นับจากปี 1959 เป็นต้นมา ทั้งนี้เมื่อปรับตัวเลขตามอัตราเงินเฟ้อ
ขณะที่ความช่วยเหลือ 17,900 ล้านดอลลาร์ที่ปรับตัวเลขตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งอเมริกามอบให้นับจากวันที่ 7 ต.ค.2023 ถือเป็นความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าสูงสุดที่อัดฉีดให้อิสราเอลในปีเดียว
ทั้งนี้ อเมริกามีพันธะกรณีในการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลและอียิปต์ปีละหลายพันล้านดอลลาร์นับจากที่สองประเทศนี้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพที่วอชิงตันเป็นตัวกลางเมื่อปี 1979 นอกจากนั้น ในเวลาต่อมา คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังทำข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลปีละ 3,800 ล้านดอลลาร์จนถึงปี 2028
ความช่วยเหลือของอเมริกานับจากสงครามกาซาปะทุขึ้นนี้ ครอบคลุมถึงการให้เงินสนับสนุนทางการทหาร การขายอาวุธ อาวุธจากคลังสำรองของอเมริกาและอาวุธยุทโธปกรณ์มือสอง รวมเป็นมูลค่าอย่างน้อย 4,400 ล้านดอลลาร์
อาวุธจำนวนมากที่อเมริกาส่งมอบให้อิสราเอลในรอบปีที่ผ่านมาคือพวกเครื่องกระสุน ตั้งแต่กระสุนปืนใหญ่จนถึงระเบิดบังเกอร์บัสเตอร์เจาะพื้นดินขนาด 2,000 ปอนด์ และระเบิดนำวิถี
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่าย 4,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการฟื้นคืนความสมบูรณ์ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ “ไอออนโดม” และระบบป้องกันขีปนาวุธ “เดวิดส์ สลิง” ของอิสราเอล ตลอดจนการจัดซื้อปืนไรเฟิลจู่โจม และเชื้อเพลิงเครื่องบิน
อย่างไรก็ดี นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดที่ครบถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่อเมริกาจัดส่งให้อิสราเอลนับจากวันที่ 7 ต.ค.ปีที่แล้ว ดังนั้น ตัวเลข 17,900 ล้านดอลลาร์จึงเป็นเพียงมูลค่าความช่วยเหลือส่วนหนึ่งเท่านั้น และสำทับว่า คณะบริหารของไบเดนพยายามปิดบังมูลค่าความช่วยเหลือทั้งหมดและประเภทอาวุธที่จัดหาให้อิสราเอลผ่านขั้นตอนการดำเนินการของระบบราชการ
ปฏิบัติการทางทหารของอเมริกาเองในตะวันออกกลาง
คณะบริหารของไบเดนยังเสริมแสนยานุภาพทางทหารของอเมริกาเองในตะวันออกกลางนับตั้งแต่สงครามกาซาเริ่มต้นขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องปรามและตอบโต้พวกที่เข้าโจมตีกองกำลังอิสราเอลและอเมริกา
ปฏิบัติการเพิ่มเติมเหล่านี้มีมูลค่าอย่างน้อย 4,860 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ อเมริกามีทหาร 34,000 นายในภูมิภาคนี้ ณ วันที่ฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล และจากนั้นได้เพิ่มเป็นราว 50,000 นายในเดือนสิงหาคม เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเข้าประจำการในตะวันออกกลางเพื่อป้องปรามการล้างแค้นอิสราเอล หลังจาก อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของฮามาสถูกสังหารในอิหร่าน และปัจจุบันอเมริกามีทหารประจำอยู่ราว 43,000 นาย
การสู้รบกับฮูตี
นับจากสงครามกาซาเริ่มต้น กองทัพอเมริกายังพยายามตอบโต้การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงของกบฏฮูตีในเยเมน โดยนักวิจัยระบุว่า อเมริกามีค่าใช้จ่าย 4,860 ล้านดอลลาร์สำหรับ “ความท้าทายอสมมาตรที่ซับซ้อน ราคาแพง และคาดไม่ถึง” และถือเป็นปฏิบัติการสู้รบที่ตึงเครียดที่สุดที่กองทัพเรือสหรัฐฯ เผชิญมานับจากสงครามโลกครั้งที่ 2
นักวิจัยเสริมว่า อเมริกาส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือพิฆาต เรือลาดตระเวน และขีปนาวุธราคาหลายล้านดอลลาร์ไปต่อสู้กับโดรนของฮูตีที่ผลิตในอิหร่านราคาแค่ลำละ 2,000 ดอลลาร์
การคำนวณของนักวิจัยกลุ่มนี้ยังรวมถึงเงินค่าสู้รบที่เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างน้อย 55 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องจ่ายมากขึ้นสืบเนื่องจากปฏิบัติการที่เข้มข้นในตะวันออกกลาง
(ที่มา : เอพี/เอเจนซีส์)