xs
xsm
sm
md
lg

สุดตระหนก! ภาพจากอวกาศโชว์ “โลกร้อน” ทำน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลาย พบพืชสีเขียวปกคลุมกลายเป็นทุ่งมอส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการชื่อดังวันศุกร์ (4 ต.ค.) ถึงการศึกษาใหม่ค้นพบว่ามีพื้นที่ในทวีปแอนตาร์กติกาที่เคยมีหิมะจับตัวแข็งสีขาว ปัจจุบันมีบางส่วนละลายและมีพืชมอสสีเขียวปกคลุมเห็นได้ชัดไกลจากอวกาศ เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกจากฝีมือมนุษย์ ระอุมากหน้าร้อนนี้ตั้งแต่กลางกรกฎาคมเป็นต้นไป บางส่วนของขั้วโลกใต้เจออุณหภูมิสูงลิ่ว 50 องศาฟาเรนไฮต์เหนือระดับปกติ

CNN ของสหรัฐฯ รายงานวันเสาร์ (5 ต.ค.) ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษประจำมหาวิทยาลัยเอ็กเซิตเตอร์ (University of Exeter) และมหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชอร์ (Universities of Hertfordshire) และสำนักงานสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษ (British Antarctic Survey) ตีพิมพ์ผลการศึกษาครั้งใหม่ลงวารสารธรณีวิทยาในวันศุกร์ (4)

ในการค้นพบที่ประกอบด้วยภาพถ่ายจากอวกาศเผยให้เห็นบางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ปราศจากน้ำแข็งหนาจับตัว แต่กลับเผยให้เห็นพื้นที่ส่วนเป็นหินและพืชสีเขียวปกคลุมเป็นบริเวณกว้างอย่างน่าตกใจ

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาด้วยการใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมและข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ระดับการโตของพืชสีเขียวที่ส่วนใหญ่จะเป็นมอสในทวีปแอนตาร์กติก เทือกเขายาวป็นแนวที่ชี้ไปทางทิศเหนือแหลมของทวีปอเมริกาใต้

ทั้งนี้ UPI เปิดเผยว่าในการศึกษาระบุว่าธารน้ำแข็ง (glacier) ของคาบสมุทรแอนตาร์กติกสูญเสียมวล (mass)ไปกว่า 90% นั้นตั้งแต่ยุค 1940s เป็นต้นมา

พืชที่ปกคลุมไม่ถึง 0.4 ตารางไมล์ของคาบสมุทรแอนตาร์กติกในปี 1986 แต่ได้แผ่ขยายไปเกือบ 5 ตารางไมล์ภายในปี 2021 อ้างอิงจากการศึกษาใหม่

ถือเป็นอัตราที่ขั้วโลกใต้ที่ขาวโพลนกำลังเริ่มมีสีเขียวขึ้นในช่วงระยะเวลาเกือบ 40 ปีนั้นกำลังมีอัตราเร่งขึ้นกว่า 30% ระหว่างปี 2016-2021

โธมัส โรแลนด์ (Thomas Roland) ผู้แต่งซึ่งทำการศึกษาและเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยเอ็กเซิตเตอร์ กล่าวว่า พื้นที่สีเขียวได้เพิ่มอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงกลางของยุคปี 1980s

“การศึกษาของพวกเรายืนยันว่า อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกที่มาจากน้ำมือมนุษย์ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด” เขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ CNN

และเสริมต่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเห็นได้ชัดจากอวกาศและพื้นที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงต่อขั้วโลกใต้ที่ถือเป็นจุดที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดในโลกแต่ยังหนีไม่รอดสภาพอากาศร้อนจัดไปได้

เพราะฤดูร้อนปีนี้ บางส่วนทวีปพบกับอุณหภูมิสูงทำลายสถิติแตะ 50 องศาฟาเรนไฮต์จากระดับปกติตั้งแต่กลางกรกฎาคม

และก่อนหน้าเมื่อมีนาคมปี 2022 พบว่าอุณหภูมิบางส่วนของทวีปมีอุณหภูมิสูงถึง 70 องศาฟาเรนไฮต์เหนือระดับปกติ กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในโลกใบนี้

และจากที่มนุษย์ยังคงใช้พลังงานน้ำมันที่ทำให้เกิดมลพิษที่ทำให้โลกเกิดภาวะโลกร้อน ทวีปแอนตาร์กติกาจะยังคงอุ่นขึ้นและเกิดพืชสีเขียวขึ้นมากขึ้นในลักษณะที่เป็นอัตราเร่งต่อไป นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์

ทั้งนี้ การที่ขั้วโลกใต้มีสีเขียวจะส่งผลต่อการลดความสามารถของขั้วโลกใต้ในการสะท้อนรังสีจากพระอาทิตย์กลับไปยังอวกาศเป็นเพราะพื้นผิวดำมืดมากกว่าจะสามารถดูดความร้อน

ออลลี บาร์ตเล็ตต์ (Olly Bartlett) ผู้เชี่ยวชาญด้านรีโมตเซ็นเซอริงและภูมิศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชอร์กล่าวว่า
“สภาพพื้นที่โดดเด่นนี้อาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล”

ในการศึกษาพบว่าพืชสีเขียวที่ส่วนใหญ่จะเป็นพืชมอสเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในตลอดระยะเวลา 40 ปี

UPI รายงานต่อว่า การมีสีเขียวเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ขนาดไม่ถึง 1.1 ตารางไมล์ในปี 186 มาอยู่ที่เกือบ 14.3 ตารางไมล์ในปี 2021

โดยมีการคาดการณ์ว่า ขั้วโลกใต้น้ำแข็งละลายและคาดว่าจะมีสีเขียวขึ้นมีแนวโน้มจะอยู่ในอัตรากว่า 30% จากปี 2016-2021 เทียบกับการศึกษาโดยสมบูรณ์ระหว่างระยะเวลาปี 1986-2021

พืชสีเขียวจะเพิ่มขึ้นกว่า 478,396 ตารางหลาต่อปี






กำลังโหลดความคิดเห็น