เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ จูเลียน แอสซานจ์ ขึ้นให้การต่อสภายุโรปที่ฝรั่งเศสวันอังคาร (1 ต.ค.) เป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งแรกหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอังกฤษ แถลงต้องโดนจำคุกเพราะความเป็นสื่อมวลชนเปิดเผยสภาพจิตใจ ด้านสมัชชารัฐสภามนตรียุโรป P.A.C.E ลงมติ เจ้าพ่อวีกิลีกส์ตกเป็นนักโทษการเมืองเพราะสหรัฐฯ และอังกฤษให้การปกป้องไม่พอ
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานวันนี้ (2 ต.ค.) ว่า ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ จูเลียน แอสซานจ์ (Julian Assange) บินจากออสเตรเลียเป็นครั้งแรกหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอังกฤษเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา กลับมาที่ฝรั่งเศสเพื่อขึ้นให้การวันอังคาร (2) ต่อหน้าคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของสมัชชารัฐสภามนตรียุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe ) หรือ P.A.C.E
แอสซานจ์เปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปว่า การจำคุกของเขานั้นเป็นเสมือนอันตรายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนต่อการจับกุมนักข่าว และทำให้การเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนผิดกฎหมาย ที่ชี้ไปว่าอเมริกาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือลงโทษสื่อและเสรีภาพสื่อสารมวลชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่สหรัฐฯ เชิดชู
“ผมต้องการที่จะบอกให้รู้อย่างแน่ชัดในวันนี้ว่า ผมไม่ได้มีอิสรภาพในวันนี้ได้เป็นเพราะระบบทำงาน”แอสซานจ์กล่าวที่สตราสบูร์ก (Strasbourg)
และกล่าวต่อว่า “ผมมีอิสรภาพในวันนี้หลังจากหลายปีในการกักขังเป็นเพราะผมยอมสารภาพผิดต่อความเป็นสื่อสารมวลชน”
ทั้งนี้ จูเลียน แอสซานจ์ ชาวออสเตรเลียปัจจุบันวัย 51 ปี ก่อตั้งวีกิลีกส์เมื่อปี 2006 ก่อนโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อปี 2010 หลังจากได้เผยแพร่เอกสารลับสหรัฐฯ ที่ได้มาจากอดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข่าวกรองกองทัพสหรัฐฯ เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) หรือชื่อเดิมคือ แบรดลีย์ แมนนิง (Bradley Manning) ที่มีการเปิดเผยภาพการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด การสื่อสารทางการทหารจากสงครามอิรักและสงครามอัฟกานิสถาน และรวมไปถึงโทรเลขทางการทูตของสหรัฐฯ
แอสซานจ์ชนะรางวัลมากมายจากการเผยแพร่และด้านสื่อสารมวลชน
เขาเปิดการให้การวันอังคาร (1) ด้วยการเปิดเผยถึงความอยุติธรรมที่เขาได้เห็นในเรือนจำ รวมไปถึงการถูกขังเดี่ยวที่เขารู้สึกในระบบเรือนจำ
EL PAIS ของฝรั่งเศสรายงาน เจ้าพ่อวิกิลีกส์แถลงอย่างชัดเจนว่า เขาจะยังคงเชื่อมั่นต่อไปอุดมคติที่ทำให้เขานำไปสู่การเปิดเผยแพร่เอกสารลับหลายพันหน้าถึงแม้ว่าเดิมพันจะถึงสูงลิ่วถึงขั้นต่อชีวิตของตัวเอง ที่รวมไปถึงการโดนจำคุกนานหลายเดือน
สื่อแดนน้ำหอมชี้ว่า จูเลียน แอสซานจ์ เผชิญหน้าต่อการต้องรับโทษในเรือนจำรวม 175 ปีฐานผิดละเมิดกฎหมายจารกรรมลับสหรัฐฯ (U.S. Espionage Act)
ตามการรายงานพบว่า สภาพจิตใจของผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสโลกภายนอกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยังไม่มีรถไฟฟ้าเกลื่อนถนน เขาต้องเข้าไปลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์เมื่อปี 2012 ก่อนส่งไปยังเรือนจำกรุงลอนดอนในปี 2019
แอสซานจ์แถลงว่า ต้องเรียนรู้ความเป็นพ่อจากเด็กๆ ที่เติบโตมาโดยไม่มีเขา กลับมาเป็นสามีอีกครั้ง และเผชิญหน้าต่อความท้าทายจากแม่ยายและรู้สึกตื่นตระหนกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงรถยนต์ไฟฟ้าสร้างเสียงหัวเราะไปทั่ว และส่งผลทำให้ศรีภรรยาที่นั่งข้างต้องหันมาปิดไมค์ชั่วคราว อ้างอิงจาก gizmodo
เจ้าพ่อวีกิลีกส์โจมตีสหรัฐฯ ต่อการละเมิดสิทธิว่า เขาไม่สามารถแม้แต่จะยื่นคำร้องโดยอ้างกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพทางข้อมูล (Freedom of Information Act) จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ร้องขออังกฤษต่อการส่งตัวข้ามแดน ที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงประนีประนอมเพื่อที่ตัวเองจะได้มีอิสรภาพ
แอสซานจ์กล่าวต่อว่า สหรัฐฯ ได้ข้ามเส้นในการกระทำหลายอย่างต่อเขา รวมไปถึงสั่งให้ CIA วางแผนเพื่อลอบสังหารในระหว่างที่กำลังลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์ และส่งผลทำให้เขาสรุปว่า นักข่าวในปัจจุบันมีเสรีภาพน้อยกว่าเมื่อหลายปีก่อน
โดยในการรายงานของสกายนิวส์ของออสเตรเลีย และแถลงการณ์ของวิกิลีกส์บนแพลตฟอร์ม X เจ้าพ่อวิกิลีกส์กล่าวว่า CIA ภายใต้อดีตผู้อำนวยการ ไมค์ พอมเพโอ วางแผนที่จะลักพาตัวและลอบสังหารเขา นอกจากนี้ ครอบครัวของแอสซานจ์ยังตกเป็นเป้า มีการติดตามแกะรอยภรรยาและมีคำสั่งให้นำดีเอ็นเอมาจากแพมเพิร์สของลูกชายวัย 6 เดือน
ทั้งนี้ สมัชชารัฐสภามนตรียุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe ) หรือ P.A.C.E ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ทางการในวันพุธ (2)ว่า P.A.C.E มีความวิตกอย่างสูงต่อการปฏิบัติอย่างทารุณอย่างสูงต่อเจ้าพ่อวิกิลีกส์ จูเลียน แอสซานจ์
และชี้ว่า มีผลกระทบอย่างน่ากลัวที่จะบั่นทอนต่อการปกป้องนักสื่อสารมวลชนและผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลลับ หรือ whistleblower ทั่วโลก
ที่ประชุมจาก 46 ชาติของคณะมนตรียุโรป (Council of Europe) ได้เปิดข้อเรียกร้องกดดันไปยังสหรัฐฯ ให้สอบสวนคดีอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ถูกเปิดโปงโดยวิกิลีกส์
สมัชชารัฐสภามนตรียุโรปแถลงว่า หากว่าวอชิงตันยังคงไม่ทำตามแล้ว และรวมไปถึงการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อแอสซานจ์ จะทำให้สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ มีเป้าประสงค์เพื่อดำเนินคดี “จูเลียน แอสซานจ์” เพื่อปกปิดความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าที่จะปกป้องความมั่นคงประเทศ”
ที่ประชุมเรียกร้องให้ทั้งสหรัฐฯ และรัฐผู้สังเกตการณ์คณะมนตรียุโรปรีบปฏิรูปกฎหมายจารกรรมลับปี 1917 เพื่อยกเว้นต่อผู้เผยแพร่ นักข่าว และผู้เปิดเผยความลับที่ได้เผยแพร่เอกสารข้อมูลลับเพื่อต้องการสร้างจิตสำนักสาธารณะในการกระทำผิดที่ร้ายแรง
แถลงการณ์ยังจี้ไปยัง “อังกฤษ” โดยชี้ว่า เจ้าหน้าที่อังกฤษล้มเหลวในการปกป้องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและสิทธิต่ออิสรภาพของแอสซานจ์ที่ต้องทนอยู่ในเรือนจำความมั่นคงสูงเป็นระยะเวลานาน