สหรัฐฯ กำลังจะจัดส่งแพกเกจความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงให้ไต้หวันเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา นั่นคือ 567 ล้านดอลลาร์ ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนเตือนว่า การดำเนินการนี้รังแต่ส่งผลลบและเป็นการทำร้ายตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้วอชิงตันยุติการติดอาวุธให้ไต้หวันในทุกรูปแบบ
วอชิงตันผู้สนับสนุนรายใหญ่สุดและสำคัญที่สุดของไต้หวันแม้ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จะใช้เครื่องมือที่เร็วที่สุดที่มีอยู่เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือเหล่านี้ให้แก่ไทเป
ปักกิ่งที่ระบุว่า ไต้หวันเป็นมณฑลกบฏของตนและประกาศพร้อมรวมเกาะแห่งนี้ด้วยกำลังหากจำเป็น เรียกร้องมาตลอดให้วอชิงตันระงับการขายอาวุธให้ไต้หวัน
ด้านสหรัฐฯ อ้างรัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวันปี 1979 ของตนเอง ซึ่งระบุว่าอเมริกามีหน้าที่ตามกฎหมายในการขายอาวุธเพื่อให้ไทเปสามารถปกป้องตนเอง พร้อมกับประโคมข่าวว่า เกาะแห่งนี้กำลังเผชิญความกดดันทางทหารจากจีนทั้งในน่านน้ำและน่านฟ้าในบริเวณโดยรอบบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ
ในคำแถลงที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (30 ก.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งการให้รัฐมนตรีต่างประเทศ นำอุปกรณ์และบริการทางทหารมูลค่า 567 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงกลาโหม ตลอดจนถึงการอบรมและการฝึกทางทหารมอบให้ไต้หวัน
คำสั่งดังกล่าวหมายความว่า อเมริกาจะจัดส่งอาวุธจากในคลังของประเทศไปให้ไต้หวันโดยตรง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่วอชิงตันใช้อยู่บ่อยครั้งในการจัดหาการสนับสนุนให้ยูเครนทำสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
คำแถลงนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งเรื่องประเภทของอาวุธที่จะจัดส่ง ทว่า แพกเกจนี้มีมูลค่าเกือบสองเท่าตัวของแพกเกจที่มอบให้ไต้หวันเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่า 345 ล้านดอลลลาร์
แม้เป็นเรื่องปกติที่อเมริกาไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่มอบให้ไต้หวัน เนื่องจากถือเป็นประเด็นอ่อนไหว แต่สื่อรายงานว่า ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงล่าสุดนี้จะครอบคลุมทั้งเรื่องการสนับสนุนการฝึก คลังอาวุธ อาวุธเจาะเกราะ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ การตระหนักรู้หลายมิติ และโดรนที่จำเป็นสำหรับยุทธศาสตร์แบบอสมมาตรเพื่อการป้องกันไต้หวันที่อิงกับหลักการในการทำให้การบุกไต้หวันมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับกองทัพจีน
สำหรับฝ่ายจีนนั้นออกมาแถลงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เรื่องไต้หวันคือแกนกลางของประเด็นปัญหาที่เป็นแกนกลางทั้งหลายในความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน ขณะที่ชะตากรรมของเกาะแห่งนี้กำลังกลายเป็นจุดที่เลวร้ายที่สุดไปอย่างรวดเร็ว ในความเป็นปฏิปักษ์ซึ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกทีระหว่างจีนกับอเมริกา
เมื่อวันอาทิตย์ (29) ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ก็ได้ตอกย้ำทัศนะเช่นนี้อีก โดยเขากล่าวว่า “ไม่มีหรอกสิ่งที่เรียกว่า ‘สองจีน’ หรือ ‘หนึ่งจีน หนึ่งไต้หวัน’ เรื่องนี้เป็นเรื่องของหลักการ มันไม่มีพื้นที่สีเทาหรือโอกาสสำหรับความคลุมเครือ”
ต่อมาในวันจันทร์ หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางทหารล็อตใหม่ที่อเมริกาจัดให้ไต้หวัน โดยเตือนว่า การดำเนินการดังกล่าว รวมถึงการยืนกรานของอเมริกาในการสนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน รังแต่ส่งผลลบและเป็นการทำร้ายตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้วอชิงตันยุติการติดอาวุธให้ไต้หวันในทุกรูปแบบ
ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา มีอยู่หลายครั้งที่ไบเดนทำให้สถานการณ์สลับซับซ้อนขึ้นมา ด้วยการส่งสัญญาณว่า ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อเมริกาอาจใช้กำลังทหารเข้าไปช่วยไต้หวัน หากจีนรุกรานไต้หวัน ถึงแม้บ่อยครั้งที่หลังจากนั้นแล้วก็จะมีพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ออกมาอธิบายแก้ตัวให้ไบเดนก็ตามที
สำหรับพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของญี่ปุ่นที่รวมถึง ชิเกรุ อิชิบะ ซึ่งเพิ่งชนะได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) คนใหม่ และจะได้รับการโหวตจากรัฐสภาให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันอังคาร (1 ต.ค.) นั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งจากกรณีไต้หวัน โดยระบุว่าสงครามที่จะเกิดขึ้นอาจหมายถึงวิกฤตสำหรับการดำรงอยู่ของญี่ปุ่น
(ที่มา : เจแปนไทมส์/เอเอฟพี)