xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ‘บูดานอฟ’ นายใหญ่ข่าวกรองทหารยูเครน และแผนสู่ชัยชนะที่ ‘เซเลนสกี’ นำไปเสนอ ‘ไบเดน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของชาติ “วีรชนแห่งยูเครน” ให้แก่ พลโทคีริลล์ บูดานอฟ เจ้ากรมใหญ่ข่าวกรองทหาร ของยูเครน ที่กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2024 (ภาพเผยแพร่โดยทำเนียบประธานาธิบดียูเครน)
Zelensky’s Victory Plan is his survival kit
by M. K. BHADRAKUMAR
23/09/2024

พลโท คิริลล์ บูดานอฟ เป็นเจ้าหน้าที่การข่าวกรองใจกล้าชอบเสี่ยงผู้โดดเด่นเตะตาของเผ่าพันธุ์ซึ่งหาได้ยากไม่ว่าในประเทศไหน และด้วยเหตุนี้จึงถือเป็น “ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์” ชิ้นหนึ่งสำหรับระบอบปกครองในกรุงเคียฟ

“สตรานา” (Strana) หนึ่งในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ระดับท็อปในยูเครน ซึ่งถูกแบนในรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2022 รายงานเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน [1] ว่า วลาดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กำลังวางแผนการที่จะปลดรัฐมนตรีกลาโหม รุสเตม อูเมรอฟ (Rustem Umerov) และเจ้ากรมใหญ่ฝ่ายข่าวกรองทหาร ผู้ทรงอำนาจมาก นายพล คิริลล์ บูดานอฟ (Kirill Budanov) ออกจากตำแหน่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งในแผนการกวาดล้างพวกชนชั้นนำทางทหารในเคียฟของเขาซึ่งกำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

อูเมรอฟ ถือว่าเป็นแค่นักการเมืองรุ่นไลต์เวต อีกทั้งเป็นผู้ที่โดยอาชีพแล้วไม่ได้มาจากทหาร ดังนั้นจึงอาจจะถูกกล่าวหากลายเป็น “คนสร้างความล้มเหลว” สำหรับการที่ฝ่ายทหารของยูเครนกำลังพ่ายแพ้ในสมรภูมิภูมิภาคดอนบาสส์ (Donbass)
(ดอนบาสส์ Donbass เป็นวิธีเขียนชื่อนี้ในภาษารัสเซีย ขณะที่ในภาษายูเครนเขียนว่า ดอนบาส Donbas ภูมิภาคนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกของยูเครน ประกอบด้วย 2 แคว้น คือ แคว้นโดเนตสก์ Donetsk และแคว้นลูฮันสก์ Luhansk ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas)

แต่ บูดานอฟ อยู่ในอีกพิภพหนึ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือเป็นทหารอาชีพที่ตลอดชีวิตการเป็นทหารของเขาประจำทำงานอยู่ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกรมใหญ่การข่าวกรอง(Main Directorate of Intelligence หรือใช้ตัวย่อจากชื่อภาษายูเครนว่า HUR) นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันกองกำลังภาคพื้นดินแห่งโอเดสซา (Odesa Institute of the Ground Forces) [2] ในปี 2007 (แต่เดิม สถานศึกษาแห่งนี้คือสถาบันการศึกษาชั้นนำของกองทัพสหภาพโซเวียต ทำหน้าที่ฝึกอบรมนายทหารของหน่วยงานข่าวกรองทหาร) ออกจะเป็นเรื่องบาดใจน่าเยาะหยันไม่ใช่น้อยเลย เมื่อความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการต่อต้านรัสเซียของเขา ทำให้ทุกวันนี้ชื่อของเขาอยู่ในอันดับแรกสุดของบัญชีรายชื่อบุคคลที่ถูกหมายหัวในมอสโก [3]

เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่ทำให้ บูดานอฟ กลายเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องมีชนิดขาดหายไปไม่ได้นั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการด้วยกัน

ประการแรกและประการสำคัญที่สุด บูดานอฟ เป็นเจ้าหน้าที่การข่าวกรองใจกล้าชอบเสี่ยงผู้โดดเด่นเตะตาของเผ่าพันธุ์ซึ่งหาได้ยากไม่ว่าในประเทศไหน และด้วยเหตุนี้จึงถือเป็น “ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์” ชิ้นหนึ่งสำหรับระบอบปกครองในกรุงเคียฟ ประการที่สอง เขาเป็นผู้กำกับตรวจสอบกองกำลังอาวุธชาวรัสเซียที่ต่อต้านเครมลินและกำลังสู้รบเพื่อยูเครนอยู่ถึง 3 หน่วย โดยหน่วยใหญ่ที่สุดคือ กองกำลังอาสาสมัครชาวรัสเซีย (Russian Volunteer Corps หรือ RVC) ที่นำโดย เดนิส คาปุสติน (Denis Kapustin) ซึ่งเป็นผู้ที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางเยอรมนีครั้งหนึ่งเคยพูดถึงเขาว่า เป็น “หนึ่งในนักเคลื่อนไหวนิยมนาซีใหม่ (neo-Nazi) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดบนภาคพื้นยุโรปในทุกวันนี้” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความทางวิชาการซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า Ukrainian Nazism today: origin and ideological and political typology “ลัทธินาซีของยูเครนในทุกวันนี้: ต้นกำเนิดและอุดมการณ์ และแบบลักษณ์ทางการเมือง” บนเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย [4])

เคียฟกำลังพยายามดิ้นรนอย่างหนักในการยืนกรานให้คำอธิบายว่า กองกำลัง RVC มีการปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ และความสำเร็จของกองกำลังนี้มีแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่าทำเนียบเครมลินสูญเสียอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศของตัวเอง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว การบุกโจมตีเข้าไปในรัสเซียของ RVC ล้วนแต่มีการประสานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ กรมใหญ่การข่าวกรอง หรือ HUR ของ บูดานอฟ โดยที่หน่วยงานยูเครนแห่งนี้เองเป็นผู้จัดหาความช่วยเหลือในด้านการส่งกำลังบำรุง, คัดเลือก ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนการปฏิบัติการ รวมทั้งประกอบอาวุธ และให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกเขา ในความเป็นจริงแล้ว RVC คือส่วนที่เป็นกิจจะลักษณะของกองทัพยูเครน ซึ่งทำหน้าที่รับสมัครทหารเข้าสู่กองกำลังของพวกเขา ส่วนที่เรียกขานกันว่ากองทหารนานาชาติ (International Legion) ขณะเดียวกันนั้น คาปุสตินเองยังมีความเชื่อมโยงอยู่กับพวกกลุ่มนาซีใหม่ชาวอเมริกันอีกด้วย

ประการที่สามและเป็นประการที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือ บูดานอฟ มีการต่อสายโยงใยอยู่กับ ซีไอเอ อย่างมากมายมหาศาลเหลือเกิน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์กล่าวไว้ในรายงานข่าวน่าตื่นตาตื่นใจชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2024 [5] ซึ่งกลายเป็นการแจกแจงรายละเอียดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับการปรากฏตัวของซีไอเอในยูเครนที่มีขนาดขอบเขตกว้างขวางมโหฬารยิ่ง โดยระบุว่า “นายพลบูดานอฟ กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในหน่วย 2245 เขามีชื่อเสียงลือเลื่องในเรื่องการปฏิบัติการอย่างอาจหาญข้างหลังแนวรบข้าศึก และมีความผูกพันอย่างล้ำลึกกับซีไอเอ สำนักงานข่าวกรองสหรัฐฯแห่งนี้ได้ฝึกอบรมเขาและยังใช้ขั้นตอนอันพิเศษผิดธรรมดาเพื่อจัดส่งเขาเข้าบำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพที่ ศูนย์การแพทย์ทางทหารแห่งชาติ วอลเตอร์ รีด (Walter Reed National Military Medical Center) ในรัฐแมริแลนด์ หลังจากเขาถูกยิงที่แขนขวาระหว่างการสู้รบในภูมิภาคดอนบาส”

นิวยอร์กไทมส์พูดถึงหน่วย 2245 ว่า เป็น “กองกำลังคอมมานโดลับสุดยอด ซึ่งได้รับการฝึกทางทหารอย่างเป็นพิเศษจากกลุ่มกำลังกึ่งทหารชั้นนำของซีไอเอ ที่รู้จักกันในชื่อว่า “ฝ่ายภาคพื้นดิน” (Ground Department) เจตนารมณ์ของการฝึกก็คือเพื่อสอนเทคนิควิธีการต่างๆ ทางด้านการป้องกัน แต่พวกเจ้าหน้าที่ซีไอเอก็เข้าใจดีว่าเมื่อปราศจากความรู้เห็นของพวกเขา ทางฝ่ายยูเครนก็สามารถใช้เทคนิควิธีการอย่างเดียวกันนี้ในการปฏิบัติการเชิงรุกชนิดรุนแรงเข่นฆ่าถึงชีวิตได้”

สิ่งที่ชวนตื่นตะลึงตรงนี้ก็คือว่า การต่อติดเชื่อมโยงกันอันเลวร้ายระหว่าง ซีไอเอ กับ บูดานอฟ นี้ สามารถสาวย้อนหลังกลับไปไกลถึงสมัยของคณะบริหารบารัค โอบามา –นั่นคือนานนมนักหนาก่อนการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครนเริ่มต้นขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

ตัว บูนาดอฟ เองได้เคยเล่าพาดพิงย้อนความหลังเมื่อปี 2020 เอาไว้ว่า ความเชื่อมโยงที่เขามีอยู่กับ ซีไอเอ นั้น “มีแต่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มันเจริญเติบโตอย่างเป็นระบบ การร่วมมือประสานงานกันนี้ได้ขยายออกไปสู่ปริมณฑลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นการร่วมมือประสานงานกันที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก”

ในแง่มุมนี้ รายงานของนิวยอร์กไทมส์ได้พูดสำทับเอาไว้เช่นกันว่า “ความสัมพันธ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากจนกระทั่ง ซีไอเอ ต้องการที่จะนำเอาเป็นตัวอย่างไปใช้เลียนแบบในการร่วมมือประสานงานกับพวกหน่วยงานข่าวกรองของยุโรปอื่นๆ ซึ่งต่างมีโฟกัสจุดสนใจร่วมกันในการต่อต้านรัสเซีย”

ในสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่ได้มีความปรารถนา หรือไม่ได้มีความสามารถที่จะยืนหยัดเผชิญหน้า ซีไอเอ แล้วเมื่อถึงสมัยที่ โจ ไบเดน ก้าวเข้ามาครองห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ประตูน้ำทั้งหลายที่เคยทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมก็เปิดกว้างอ้าซ่า นิวยอร์กไทมส์ พูดเอาไว้อย่างนี้

“หัวหน้าของสำนักงานรัสเซีย (Russia House) ซึ่งเป็นแผนกงานของซีไอเอที่กำกับตรวจสอบการปฏิบัติงานต่างๆ ซึ่งมุ่งต่อต้านรัสเซีย ได้จัดให้มีการประชุมลับครั้งหนึ่งขึ้นที่กรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ ครั้งนั้นพวกตัวแทนจาก ซีไอเอ, หน่วย เอ็มไอ6 ของสหราชอาณาจักร, HUR ของยูเครน, และหน่วยข่าวกรองของเนเธอร์แลนด์ (ถือเป็นพันธมิตรด้านข่าวกรองที่ความสำคัญยิ่งยวดรายหนึ่ง) ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะเริ่มต้นนำเอาข่าวกรองว่าด้วยรัสเซียของพวกเขามารวมเป็นกองกลางเพื่อใช้งานร่วมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม ผลลัพธ์ก็คือการเกิดแนวร่วมลับในการต่อต้านรัสเซียแนวร่วมหนึ่งขึ้นมา – และฝ่ายยูเครนก็เป็นสมาชิกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในนั้น”

เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้ารัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน จึงเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความหลงใหลชนิดเข้าขั้นคลั่งไคล้ของ ไบเดน ในการมุ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของรัสเซียที่ต้องการเป็นมหาอำนาจที่เป็นอิสระรายหนึ่งของโลก ไม่ว่าในหนทางใดก็ตามทีซึ่งเขาจะสามารถกระทำได้

สงครามตัวแทนของสหรัฐฯในยูเครนเวลานี้ ในความเป็นจริงแล้ว มันจึงมี ซีไอเอ เป็นหัวหอก ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้แสดงบทบาทตัวรองคอยตอบสนอง มันเป็นหน้าที่ของพวกนักประวัติศาสตร์ในอนาคตข้างหน้าที่จะสืบสาวตรวจสอบปฐมเหตุของการที่ ไบเดน ตัดสินใจอย่างแปลกประหลาดและไม่เป็นไปตามแบบแผนปกติเอาเสียเลย ในการจิ้มเอา วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ผู้ที่ถูกคนจำนวนมากทึกทักเอาเองว่าเป็นนักการทูตมืออาชีพ มาเป็นผู้อำนวยการซีไอเอ ของเขาเมื่อปี 2020

เบิร์นนั้นเป็น “ผู้ชำนาญการพิเศษ” ที่ไม่ธรรมดาเลยในเรื่องรัสเซีย โดยเคยมีบทบาทในสงครามของ ซีไอเอ ในสาธารณรัฐเชชเนียของรัสเซีย ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หรือไม่นานนักหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลง เมื่อตอนที่เขาได้รับตำแหน่งทำงานอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตประจำรัสเซียเป็นครั้งแรก (ในเวลาต่อมา เบิร์นส์ ยังกลับมารับตำแหน่งที่นี่อีก คราวนี้ในฐานะเอกอัครราชทูต)

สามารถกล่าวได้ว่า ไบเดน รู้ดีชนิดละเอียดถี่ถ้วนทีเดียวว่าเขาต้องการให้ทำอะไรให้สำเร็จ และเขาเลือกหยิบเอาบุคคลผู้หนึ่งมาใช้งาน โดยพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่เขาสามารถพึ่งพาอาศัยได้ในเรื่องจะยังคงควบคุม ซีไอเอ เอาไว้อย่างอยู่หมัด ด้วยประสบการณ์ที่เคยผ่านโลกแห่งการปฏิบัติการลี้ลับซ่อนเงื่อน และเวลาเดียวกันนั้นก็ยังมีฐานะเป็น “มือทำงานเรื่องรัสเซีย” รายหนึ่งอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้แล้ว รายงานข่าวของ สตรานา เกี่ยวกับ บูดานอฟ จึงดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เนื่องจาก บูดานอฟ นั้นเป็นคนที่ไม่สามารถแตะต้องได้ถ้าปราศจากความยินยอมของ ซีไอเอ ขณะที่จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีหลักฐานข้อสรุปใดๆ เลยว่า ไบเดน รู้สึกแล้วใจกับสงครามตัวแทนเพื่อต่อต้านรัสเซียคราวนี้ ที่มี บูดานอฟ เป็นบุคคลผู้แสดงบทบาทเป็นแกนหลักสำคัญคนหนึ่ง

ในพิธีเดียวกันที่กรุงเคียฟเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2024 ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี  ก็มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของชาติ “วีรชนแห่งยูเครน” ให้แก่ พลเอกวาเลรี ซาลุซนี ที่เขาเพิ่งสั่งปลดออกากตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพยูเครนไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น
เซเลนสกีคือนักโทษประหารเดินเข้าตะแลงแกง

เรื่องที่ เซเลนสกี กำลังจะพบปะหารือกับ ไบเดน คราวนี้ ดูจะมีการแพล็มร่องรอยอะไรออกมาบ้าง เซเลนสกี นั้นบอกว่าเขาเตรียมที่จะเสนอ “แผนการสู่ชัยชนะ” ต่อไบเดน ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร บอริส จอห์นสัน ได้เกริ่นให้เห็นล่วงหน้าเกี่ยวกับ “แผนการสู่ชัยชนะ” นี้ ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งของเขาซึ่งเผยแพร่ทางสื่อ เดอะ สเปคเตเตอร์ (The Spectator) [6] ภายหลังการเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟครั้งล่าสุดของเขา ซึ่งเขาได้พบปะหารือกับ เซเลนสกี ผู้เป็นเพื่อนสนิทของเขาในแบบตามลำพังตัวต่อตัว

จอห์นสันเขียนเอาไว้ว่า เซเลนสกี จะยื่นเสนอ “แผนการสำหรับไปสู่ชัยชนะของยูเครนที่ประกอบด้วย 3 ส่วน” โดยส่วนประกอบสำคัญที่สุดก็คือ สหรัฐฯ ควรจะต้อง

**“ยินยอมให้ฝ่ายยูเครนมีสิทธิใช้อาวุธต่างๆ ที่พวกเขามีอยู่ในครอบครองอยู่แล้ว”,

**“จัดทำแพกเกจเงินกู้ (สำหรับให้เคียฟใช้จ่าย) ในขนาดของข้อตกลง ให้ยืม-เช่า (Lend-Lease) ในระดับครึ่งล้านล้านดอลลาร์ ... หรือกระทั่ง 1 ล้านล้านดอลลาร์” และ

**ยอมรับยูเครนให้สู่นาโต้โดยทันทีไม่มีการรีรอ เพื่อที่กลุ่มพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ จะได้ “สามารถปกป้องคุ้มครอง (ดินแดน) ส่วนใหญ่ที่สุดของยูเครนเอาไว้ได้ โดยในเวลาเดียวกันนั้นก็ยังคงให้ความสนับสนุนสิทธิของชาวยูเครนในการชิงเอาส่วนที่เหลือของประเทศ (ซึ่งถูกรัสเซียยึดไปแล้ว) กลับคืนมา”

จอห์นสัน เน้นย้ำว่า การขยายความผูกพันที่มีอยู่ตามมาตรา 5 ของกฎบัตรนาโต้ (ซึ่งก็คือเรื่องที่บรรดาชาติสมาชิกนาโต้ให้การรับประกันความมั่นคงของเพื่อนชาติสมาชิกด้วยกัน โดยหากรายใดถูกประเทศภายนอกรุกราน ก็จะถือว่าเป็นการรุกรานชาติสมาชิกทั้งหมด -ผู้แปล) ให้ครอบคลุมถึง “ดินแดนของยูเครนทั้งหมดที่ยูเครนเองยังคงควบคุมอยู่ในปัจจุบัน (หรือในตอนสิ้นสุดของฤดูสู้รบนี้) และเวลาเดียวกันนั้น ก็ย้ำยืนยันว่าชาวยูเครนยังคงมีสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือดินแดนตลอดทั่วทั้งประเทศของพวกเขา ณ ปี 1991” จะถือเป็น “ก้าวเดินที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมันจะเป็นการถ่ายทอดข้อความที่ไม่มีความกำกวมใดๆ ไปถึงทำเนียบเครมลินในมอสโกว่า มันไม่มีอีกแล้ว เรื่องที่รัสเซียจะมาใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับ “ดินแดนต่างประเทศที่อยู่ใกล้ๆ” (near abroad) หรือ “เขตอิทธิพล (sphere of influence) เพื่อเป็นเหตุผลสำหรับการที่พวกเขาจะยืนกรานถือตนมีอำนาจอิทธิพลเหนือยูเครน รวมทั้งยังเป็นการส่งข้อความที่ว่า “ทำนองเดียวกับจักรวรรดิโรมัน และทำนองเดียวกับสหราชอาณาจักร ฝ่ายรัสเซียก็จะต้องถูกจัดเข้าไปอยู่ในขบวนแถวของพวกมหาอำนาจจักรวรรดิ ที่หลุดพ้นตกจากอำนาจไปแล้ว” อย่างแน่นอน

หลังจากนั้น เซเลนสกี ก็ได้ยืนยันส่วนประกอบหลักๆ 3 ส่วนที่ จอห์นสัน เขียนออกมานี้เช่นกัน น่าสนใจมากว่า เขากระทำเช่นนี้ภายหลังจากการไปเยือนกรุงเคียฟอย่างฉับพลันโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้าของ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานของคณะกรรมการยุโรป (European Commission) [7] ซึ่งก็คือองค์กรบริหารสหภาพยุโรป โดยที่ ฟอน แดร์ ไลเอิน ต้องถือว่าเป็นสายเหยี่ยวคนหนึ่งของฝ่ายเกลียดกลัวรัสเซีย เฉกเช่นเดียวกับจอห์นสัน –ภายหลังจากนั้นแล้ว เซเลนสกี ได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ (20 ก.ย.) ว่า “แผนการสู่ชัยชนะ นี่คือสะพานเชื่อมที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ยูเครน โดยที่มันจะสามารถสร้างคุณูปการในการก่อให้เกิดการพบปะเจรจาทางการทูตกับรัสเซียในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเจรจาที่สามารถผลิดอกออกผลได้มากขึ้น แต่ถ้าหากปราศจากแผนการที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมดังกล่าวนี้แล้ว เราก็จะเพียงแค่ใช้ชีวิตในหนทางที่เราอยู่กันในทุกวันนี้ และต้องคอยสู้รบต่อไปเรื่อยๆ”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เซเลนสกี ปฏิเสธไม่ยอมรับการพูดจากับรัสเซียเพื่อให้บรรลุสันติภาพในระยะใกล้ใดๆ ทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนล่ะ มีความจำเป็นต้องทำให้มีการบานปลายขยายตัวแบบดรามาตื่นตาตื่นใจสักหน่อยในอนาคตอันใกล้นี้ ก่อนที่ฝ่ายทหารยูเครนจะยอมแพ็กข้าวของถอยทัพอย่างกราวรูด

เมื่อวิเคราะห์กันจนถึงที่สุดแล้ว รายงานข่าวของ สตรานา แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกในการต่อต้านรัสเซียนั้น ก็เหมือนกับยุทธศาสตร์ของอเมริกาในครั้งสงครามเวียดนาม คือสร้างขึ้นบนทรายดูด ที่ไร้ความมั่นคงใดๆ และมีแต่ถูกดูดจมลงไปเบื้องล่างเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ประเด็นสำคัญยิ่งยังอยู่ที่ว่า ตัว เซเลนสกี เองเวลานี้อยู่ในสภาพของนักโทษประหารที่กำลังเดินเข้าสู่ตะแลงแกง และต้องเกิดความสำนึกถึงความเป็นจริงนี้อยู่แล้ว อย่างที่เห็นได้จากความเคลื่อนไหวแบบประหลาดวิตถารล่าสุด [8] ของเขา กล่าวคือ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเป็นยิว แต่ยังคงแสดงตัวเป็นผู้เบียดเบียนสร้างความแตกแยกในวงการศาสนาคริสต์ แทนที่จะหวนกลับไปสนอกสนใจศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับเดิม (Old Testament)

เซเลนสกี ยังคงแสดงท่าทีแบบปากกล้าขาสั่น ขณะที่ความพ่ายแพ้ในยุทธการของยูเครนที่ส่งกำลังทหารรุกล้ำเข้าสู่แคว้นคูร์สก์ (Kursk) ของรัสเซีย กำลังขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ในเมื่อกองกำลังฝ่ายรัสเซียเข้าโอบล้อมกำลังผู้รุกรานเอาไว้ในพื้นที่ป่าและหนองบึงของอาณาบริเวณที่พวกเขาเหล่านี้ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างสิ้นหวังแห่งนั้น โดยที่บรรดาโดรนสังหารของรัสเซียเริ่มเล็งเป้าใส่พวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ในทันทีที่ต้นไม้ในป่าพากันสลัดใบของพวกมันทิ้งไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

เซเลนสกี รู้ดีว่าเขาคือผู้ที่ถูกหมายหัวเอาไว้อย่างโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในฐานะของอัจฉริยะแห่งยุทธการรุกเข้าสู่แคว้นคูร์สก์ และเวลานี้อีแร้งทั้งหลายที่กระหายกินซากเหยื่อกำลังบินวนอยู่เหนือท้องฟ้าแล้ว [9] อันที่จริง มีผู้บังคับบัญชาทหารระดับท็อปของยูเครนบางคน รวมทั้งอดีตผู้บัญชาการกองทัพยูเครน พลเอกวาเลรี ซาลุซนี (Valery Zaluzhny) ที่ปัจจุบันถูกเตะไปกินตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครนประจำลอนดอน พากันออกมาแสดงความข้องใจสงสัยกันตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่ เซเลนสกี เสนอให้บุกแคว้นคูร์สก์แล้ว ผู้ที่คัดค้านการรุกคราวนี้ยังมีมากกว่านี้อีก รวมทั้งนายทหารที่ได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงอย่าง อีมิล อิชคูลอฟ (Emil Ishkulov) ผู้บัญชาการกองพลน้อยโจมตีทางอากาศที่ 80 (80th Air Assault Brigade) ของยูเครน ซึ่งได้ถูกสั่งปลดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการประท้วง [10] จากพวกนายทหารระดับสูง

รายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่ปรากฏทางเว็บไซต์ข่าว โพลิติโค (Politico) ของสหรัฐฯ [11] ระบุว่า การคัดค้านของ ซาลุซนี นั้น ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากแผนการรุกนี้ “ไม่ได้มีการกำหนดก้าวที่ 2 เอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากสามารถเจาะทะลุผ่านชายแดน (รัสเซีย) อย่างประสบความสำเร็จ โดยฝีมือของพวกหน่วยทหารชั้นนำของยูเครนที่ดึงเอามาจาก 4 กองพลน้อย “เขาไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากเซเลนสกีเลย” เป็นคำกล่าวของหนึ่งในนายทหารเหล่านั้น “เขารู้สึกว่านี่มันเป็นเหมือนการเล่นเกมการพนัน” เท่านั้นเอง สิ่งที่ ซาลุซนี ตั้งคำถามขึ้นมาก็คือ ทันทีที่คุณสร้างหัวหาดขึ้นมาได้แล้ว จะเอายังไงต่อไปล่ะ?”

เป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องเผชิญหน้ากับความจริง กำลังไล่กระชั้นเข้ามาหา เซเลนสกี อย่างรวดเร็ว พวกคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่มีความมั่นคงเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่มีความโน้มเอียงจะระแวงสงสัยพวกคนที่มีบารมีสูงอย่าง ซาลุซนี ผู้ซึ่งแสดงท่าทีต่อการถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่งสูงสุดทางทหารได้อย่างสงบจนน่าประหลาดใจ และยอมถูกเนรเทศไปอยู่ลอนดอนโดยดี ทว่าเมื่อมาถึงเวลานี้มันกลับกลายเป็นว่า เขายังคงจ้องมองตำแหน่งของ เซเลนสกี ด้วยความหวังว่าตัวเขาเองนี่แหละจะได้ครอบครองตำแหน่งนี้ในวันหนึ่งข้างหน้า และ ซาลุซนี ก็มีผู้หนุนหลังที่ทรงอำนาจอยู่หลายๆ คนเสียด้วย

กระนั้นก็ตามที อย่าได้ดูเบาประเมินเซเลนสกีให้ต่ำเกินไป เพียง 4 วันหลังจากการปลด ซาลุซนี ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพยูเครนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เขาก็จัดพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของชาติ นั่นคือ “วีรชนแห่งยูเครน” (Hero of Ukraine) ให้แก่นายพลผู้นี้ น่าสนใจมากที่ เซเลนสกี ยังมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างเดียวกันนี้ ให้แก่นายพลอีกผู้หนึ่ง โดยมอบให้ในพิธีคราวเดียวกันซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเคียฟนี้ด้วย นายพลอีกคนหนึ่งที่ว่านี้ ก็คือ นายพล บูดานอฟ นี่เอง [12]

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/zelenskys-victory-plan-is-his-survival-kit/

เชิงอรรถ
[1] https://www.rt.com/russia/604398-zelensky-purge-budanov-umerov/?
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Odesa_Military_Academy
[3] https://novayagazeta.eu/articles/2023/04/21/moscow-court-issues-arrest-warrant-for-ukraines-intel-chief-over-fsbs-accusations-of-him-setting-up-crimea-bridge-explosion-en-news
[4]https://mid.ru/en/foreign_policy/historical_materials/1920326/?TSPD_101_R0=08765fb817ab2000de3eeb7d3dd51f91e97eea50bb1f07a4471e64b8a9eb45311d3e3dacbfea0a9208a4b7fe38143000a3496b788b93a2b9c15f950260485bb5af7c98736a3d3ab854b6f3f3debd2009715f7c6aafb08d3ed13edfd40a638ede
[5] https://www.nytimes.com/2024/02/25/world/europe/cia-ukraine-intelligence-russia-war.html
[6] https://www.spectator.co.uk/article/its-time-to-let-ukraine-join-nato/
[7] https://www.nytimes.com/2024/09/20/business/ukraine-aid-russian-assets.html
[8] https://www.rt.com/russia/604471-zelensky-ukraine-schismatic-patriarchate/?
[9] https://www.politico.eu/article/volodymyr-zelenskyy-ukraine-europe-russia-war-media/
[10] https://english.nv.ua/nation/80th-airborne-brigade-demands-to-keep-commander-video-appeal-50438438.html
[11] https://www.politico.eu/article/kursk-russia-incursion-objections-war-in-ukraine-volodymyr-zelenskyy/
[12] https://kyivindependent.com/zelensky-grants-hero-of-ukraine-award-to-zaluzhnyi/

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์เซเลนสกี ของยูเครน ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา
หมายเหตุผู้แปล

ในที่สุดแล้ว การเข้าพบหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 26 กันยายน ของ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งทางยูเครนดูจะพยายามประโคมข่าวว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นโอกาสที่ เซเลนสกี จะได้ยื่น “แผนการสู่ชัยชนะ” ในสงครามยูเครนของเขา ให้แก่ ไบเดน กลับปิดฉากลงอย่างเงียบเชียบ โดยสื่อมวลชนแทบไม่ได้รายงานกัน และที่มีรายงานก็มีข้อสรุปว่ามันประสบความล้มเหลว ดังข้อเขียนชิ้นนี้ของ บีบีซี ซึ่งขอเก็บความนำมาเสนอ ดังนี้


‘เซเลนสกี’พยายามหนักในสหรัฐฯ เพื่อเร่ขาย‘แผนสู่ชัยชนะ’ของยูเครน
โดย บีบีซี

Zelensky gives his 'victory plan' a hard sell in the US - did the pitch fall flat?

By BBC
28/09/2024

สัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกประโคมข่าวว่าจะเป็นสัปดาห์แห่งการตัดสินชะตากรรมของยูเครน

โอกาสสำหรับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่จะนำเสนอแผนการของเขาซึ่งตั้งชื่อเอาไว้อย่างโอ่อวดห้าวหาญว่า “แผนการมุ่งสู่ชัยชนะ” (victory plan) ต่อพวกนักการเมืองทรงอำนาจที่สุดของอเมริกา ระหว่างการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ

ทว่ามันไม่มีความชัดเจนเลยว่า เคียฟสามารถขยับเข้าใกล้ความจริงได้บ้างหรือไม่ สำหรับการได้รับสิ่งต่างๆ ตามบัญชีรายการสิ่งที่พวกเขามุ่งมาดปรารถนา

ไม่เพียงเท่านั้น เซเลนสกี ยังเกิดเป็นปากเสียงกับพวกผู้นำอาวุโสของพรรครีพับลิกัน รวมทั้งกับ โดนัลด์ ทรัมป์

เซเลนสกีกล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร “นิวยอร์กเกอร์” (the New Yorker) ว่า เขาเชื่อว่าทรัมป์นั้นไม่ได้รู้อะไรจริงๆจังๆ หรอกในเรื่องวิธีการยุติสงครามในยูเครน” ถึงแม้เขาคุยซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสามารถที่จะทำให้ เซเลนสกี กับ วลาดิมีร์ ปูติน เจรจากันและสงบศึกได้ในทันทีที่เขาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนั้น เขายังพูดถึง เจดี แวนซ์ คู่หูร่วมทีมของทรัมป์ที่จะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงแข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ว่า เป็นคน “หัวรุนแรงเกินไป”

มาริยา โซลคินา (Mariya Zolkina) ชาวยูเครนซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ทางการเมืองและนักวิจัยอยู่ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics หรือ LSE) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การที่เซเลนสกี พูดถึงทรัมป์และแวนซ์เช่นนี้ ถือว่าเป็น “ความผิดพลาดครั้งใหญ่”

ทว่ามันไม่ได้หมดลงแค่นี้ ระหว่างการเยือนสหรัฐฯเที่ยวนี้ เซเลนสกี ได้เดินทางไปพบปะกับพวกชาวพรรคเดโมแครตระดับท็อป ที่โรงงานผลิตเครื่องกระสุนแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐสวิงสเตท (swing state) เขาเลยถูกสมาชิกรัฐสภาอาวุโสของรีพับลิกันผู้หนึ่งตราหน้าว่า พยายามเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
(หมายเหตุผู้แปล – โรงงานในรัฐเพนซิลเวเนียแห่งนั้นตั้งอยู่ที่เมืองสแครนตัน Scranton เมืองเกิดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่เพนซิลเวเนีย เป็นรัฐสวิงสเตท ซึ่งหมายถึงรัฐที่คะแนนนิยมของเดโมแครตและรีพับลิกันคู่คี่กัน โดยที่ทั้งสองพรรคเวลานี้ยังต่างกำลังทุ่มเทให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษแก่การรณรงค์หาเสียงที่เพนซิลเวเนีย เนื่องจากเป็นรัฐซึ่งมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง หรือ electoral votes มากกว่ารัฐสวิงสเตทอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2024/09/trump-vs-harris-boiling-down-to-a-one-state-race/)

โซลคินา บอกว่า ปฏิกิริยาสะท้อนกลับในทางลบจากการไปเยือนเพนซิลเวเนียคราวนี้ เกิดขึ้นในแบบที่ “สร้างเซอร์ไพรซ์ครั้งใหญ่” ให้แก่ทีมงานของเซเลนสกี ทั้งๆ ที่การสร้างความแปลกใจและน่าประทับใจอย่างคาดไม่ถึงนี่แหละ ปกติแล้วคือคุณสมบัติซึ่งมีชื่อเสียงลือเลื่องของทีมปฏิบัติการพีอาร์ของเซเลนสกี

การเยือนสหรัฐฯครั้งนี้ของเซเลนสกี ซึ่งมีการตีข่าวเกรียวกราวกันมาก ได้รับการกำหนดจังหวะเวลาเอาไว้อย่างระมัดระวัง เพื่อพยายามให้ได้รับหลักประกันความสนับสนุนอันสำคัญยิ่งยวด จากประธานาธิบดีไบเดน ผู้ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้วก่อนที่จะพ้นตำแหน่ง

ทว่านั่นก็หมายความถึงการต้องก้าวเดินตรงแน่วเข้าไปในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในช่วงใกล้ถึงเวลาลงคะแนนเต็มที ซึ่งย่อมอุดมไปด้วยการสาดโคลนกล่าวหากันอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษ มันเหมือนกับการเดินไต่ไปบนเส้นลวดอย่างแท้จริง

หลังจากมีรายงานข่าวหลายกระแสว่า ทรัมป์ ตัดสินใจไม่พบกับ เซเลนสกี ตามที่ฝ่ายหลังร้องขอ แต่ท้ายที่สุดแล้วทั้งคู่ก็ได้หารือกันเมื่อวันศุกร์ (27 ก.ย.) ณ อาคารทรัมป์ทาวเวอร์ (Trump Tower) ในนครนิวยอร์ก

ระหว่างที่ทั้งคู่ยืนอยู่เคียงข้างกันต่อหน้าพวกนักข่าวสื่อมวลชน มีอยู่หลายๆ ขณะที่สะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นการเผชิญหน้ากันที่เคอะเขินประดักประเดิด

ทรัมป์ประกาศว่า เขามี “ความสัมพันธ์ที่ดีมาก” กับทั้ง เซเลเนสกี และ ปูติน –การแสดงความเท่าเทียมกันที่ฟังดูแสลงหูมากสำหรับฝ่ายยูเครน

เซเลนสกี พูดขัดขึ้นอย่างสุภาพว่า เขาวาดหวังว่าความสัมพันธ์ที่ทรัมป์มีกับตัวเขา จะเหนือกว่าที่เขามีกับปูติน –เป็นข้อสังเกตที่ทรัมป์ตอบสนองด้วยการปล่อยเสียงหัวเราะ

ระหว่างการไปปราศรัยหาเสียงหลายต่อหลายครั้งในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ทรัมป์สาละวนวุ่นวายอยู่กับการกล่าวยกย่องผลงานทางทหารในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ขณะเดียวกับที่ถล่มใส่คณะบริหารสหรัฐฯชุดปัจจุบัน ว่ากำลังให้เงินทอง “หลายหมื่นล้านดอลลาร์” แก่เซเลเนสกี ที่ทรัมป์ระบุว่า เป็นผู้ “ปฏิเสธไม่ยอมทำข้อตกลง” เพื่อยุติสงครามนองเลือด

ภายหลังการพบปะกับทรัมป์ เซเลนสกียกย่องการพูดจากันครั้งนี้ว่า “ได้รับดอกผลที่ดีมาก” ทว่าเขาแทบไม่สามารถพูดอะไรที่จะอธิบายให้สอดรับกับวิธีการโดยพื้นฐานของทรัมป์ ในเรื่องนโยบายต่อยูเครน

อันที่จริงแล้ว ณ การปราศรัยหาเสียงที่รัฐมิชิแกนในคืนวันศุกร์ (27 ก.ย.) นั้นเอง ผู้สมัครของรีพับลิกันผู้นี้ยังคงพูดแสดงความตั้งใจของเขาอีกครั้งที่จะทำให้สงครามนี้ “ตกลงกันได้” โดยเร็ว อันเป็นการกล่าวอ้างที่เขาเคยพูดไว้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และหลายๆ ฝ่ายสรุปว่า มันจะสามารถนำเขาไปสู่การตัดความช่วยเหลือแก่เคียฟ และบีบบังคับยูเครนยอมสละดินแดนให้รัสเซีย

เวลาใกล้ๆ กันนั้น รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต แทบไม่ได้ปกปิดเลยว่าเธอกำลังโจมตีทรัมป์อยู่ เมื่อกล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเล่นงานพวกที่กำลังบีบคั้นยูเครนสละดินแดนเพื่อแลกสันติภาพ ซึ่งเธอบอกว่า คือพวกที่กำลังสนับสนุน “ข้อตกลงเพื่อการยอมจำนน”

ผู้ที่ยืนอยู่ข้างเธอขณะที่ แฮร์ริส พูดเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก เซเลนสกี ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาพยายามใช้เวลาในการเร่งสปีดเพื่อนัดพบดำเนินการหารือทางการทูตและการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน –รวมทั้งการปรากฏตัวที่สหประชาชาติถึง 2 วัน

ในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) ทำเนียบขาวออกข่าวก่อนหน้าที่ ไบเดน พบหารือกับ เซเลนสกี ถึงแผนการที่สหรัฐฯจะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอีกกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ภายในกรอบงบประมาณที่ได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาอเมริกันมาก่อนแล้ว ขณะที่ตัวการพบเจรจาระหว่างไบเดนกับเซเลนสกี ที่ฝ่ายยูเครนประโคมข่าวว่าจะเป็นโอกาสที่เซเลนสกีจะได้ยื่น “แผนการสู่ชัยชนะ” ของเขา ให้แก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งผู้นี้นั้น ถูกระบุเพียงว่าเป็นการพูดคุยฉันมิตร ทว่าไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ออกมา

เนื้อหาในข้อเสนอนี้ยังไม่ได้ถูกนำออกเผยแพร่ออกเป็นทางการ แต่จากรายงานข่าวซึ่งสื่อเสนอกันอย่างกว้างขวาง ระบุว่า หนึ่งในนั้นคือการที่ยูเครนขอให้สามารถใช้พวกขีปนาวุธระยะทำการไกลๆ ที่ได้รับจากจากฝ่ายตะวันตก ในการยิงเข้าใส่พวกเป้าหมายทาทหารที่อยู่ลึกเข้าไปในรัสเซีย

เซเลนสกี ได้วอนขออนุญาตเรื่องนี้จากพวกชาติตะวันตกมาระยะหนึ่งแล้ว ทว่าจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับไฟเขียว

อีกประเด็นหนึ่งที่คิดกันว่าถูกระบุไว้ในแผนการของเคียฟครั้งนี้ด้วย ได้แก่คำขอการค้ำประกันด้านความมั่นคงให้แก่ยูเครน ซึ่งหนักแน่นยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยรวมถึงการที่นาโต้น่าจะตัดสินใจเชิญยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ส่งเสียงสนับสนุนลู่ทางโอกาสสำหรับที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต แต่ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่ามันจะยังไม่เกิดขึ้นขณะที่ประเทศยังคงอยู่ในภาวะสงครามเช่นนี้

กล่าวโดยรวมแล้ว การผลักดัน “แผนการสู่ชัยชนะ แท้ที่จริงก็คือความพยายามของยูเครนที่จะเพิ่มพูนฐานะในสมรภูมิของตนให้คึกคักเข้มแข็งขึ้น และบีบคั้นผลักดันปูตินให้ไปสู่สันติภาพด้วยการเจรจากันทางการทูต

ทว่าตามความเห็นของ โซลคินา นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าข้อเสนอนี้ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถ “ระดมความกระตือรือร้นอะไรได้อย่างมากมาย” และมันก็เป็นการสะท้อนถึงความไม่เหมาะสมสอดคล้องในทางการเมือง

“ยูเครนมีไอเดียว่า พวกเขาควรต้องใช้ความพยายามให้มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ ของพวกเขา” เธอบอก พร้อมกับเสริมว่า เซเลนสกี “กำลังยึดติดอยู่กับแนวความคิดที่ว่ายูเครนกำลังจะได้รับเชิญให้เข้านาโต้ ทว่าสหรัฐฯยังไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้นเลย”

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นกันจริงๆ ก็คือ สัปดาห์ที่ เซเลนสกี พยายามเสนอขาย “แผนการสู่ชัยชนะ” ของเขาในแบบฮาร์ดเซลล์ กลับเป็นสัปดาห์ที่วอชิงตันไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความกระตือรือร้นอะไรนักหนา เวลาเดียวกันนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ในตะวันออกกลาง ก็ยังคงคอยหันเหความสนใจให้ออกไปจากการรุกรานอย่างนองเลือดของรัสเซีย

(เก็บความรวมทั้งมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม จากเรื่อง Zelensky gives his 'victory plan' a hard sell in the US - did the pitch fall flat? โดย Jessica Parker ผู้สื่อข่าวยุโรปของบีบีซี ซึ่งอยู่ในกรุงเคียฟ ดูรายละเอียดข้อเขียนนี้ได้ที่ https://www.bbc.com/news/articles/c2lnerd17wyo)
กำลังโหลดความคิดเห็น