xs
xsm
sm
md
lg

โพรไฟล์ : ‘ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์’ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเลบานอน นำ ‘กลุ่มฮิซบอลเลาะห์’ ก้าวขึ้นเป็นกองกำลังระดับภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ (28 ก.ย.) จากการระดมโจมตีของอิสราเอลถล่มใส่บริเวณตอนใต้ของกรุงเบรุต ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเลบานอน หลังจากเขานำพากลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิมนิกายชิอะห์กลุ่มนี้ ผ่านการสู้รบขัดแย้งกับอิสราเอลมาหลายสิบปี ขณะที่คอยกำกับดูแลให้ฮิซบอลเลาะห์เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นกองกำลังอาวุธที่มีอิทธิพลระดับภูมิภาค และตัวเขาเองก็กลายเป็นหนึ่งในบุคลากรชาวอาหรับผู้ทรงความสำคัญโดดเด่นในหลายๆ รุ่นอายุ โดยที่ได้รับความสนับสนุนจากอิหร่าน

นัสรัลเลาะห์ เป็นที่เคารพยกย่องและมีผู้ติดตามนับล้านๆ คนในหมู่ประเทศอาหรับและโลกอิสลาม นักการศาสนาที่ไว้หนวดไว้เคราสวมแว่นผู้นี้ ไม่เคยปรากฏตัวโดยไม่สวมเสื้อผ้าตามประเพณี และสวมผ้าโพกศีรษะสีดำ ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าเขาเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากศาสดามูฮัมหมัด

ด้วยการสนับสนุนจากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ตลอดทั้งอิทธิพลของนัสรัลเลาะห์ซึ่งมีเหนือสถาบันต่างๆ ของเลบานอน รวมทั้งคลังแสงขนาดใหญ่โตมหึมาของฮิซบอลเลาะห์ การตายของนัสรัลเลาะห์มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วทั้งเลบานอนและภูมิภาคตะวันออกกลาง

นัสรัลเลาะห์ไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชนบ่อยนักนับจากฮิซบอลเลาะห์ทำสงครามใหญ่กับอิสราเอลในปี 2006

เชื่อกันว่า มีคนน้อยมากที่รู้ว่า นัสรัลเลาะห์กบดานอยู่ที่ใด และคำปราศรัยส่วนใหญ่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามักได้รับการบันทึกล่วงหน้าก่อนเผยแพร่จากสถานที่ไม่เปิดเผย

นัสรัลเลาะห์มีพรสวรรค์ในการพูดต่อหน้าฝูงชน เขาสามารถเปลี่ยนจากอารมณ์ขันเป็นการเย้ยหยันศัตรูเพื่อปลุกเร้านักรบฮิซบอลเลาะห์ที่ระบุกันว่ามีทั้งสิ้นราว 100,000 คน

เขาได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นเลขาธิการของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในปี 1992 ขณะอายุเพียง 32 ปี หลังจากอับบาส อัล-มูซาวี ผู้นำคนก่อน เสียชีวิตจากการโจมตีของเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธหนักของอิสราเอล

ฮิซบอลเลาะห์ กลายเป็นกองกำลังกลุ่มเดียวที่ไม่ยอมปลดอาวุธภายหลังสงครามกลางเมืองในเลบานอนที่ดำเนินมา 15 ปีสิ้นสุดลงในปี 1990 และนัสรัลเลาะห์ยืนกรานว่า อิสราเอลยังคงเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของกลุ่ม

นับจากกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ที่เป็นพันธมิตรกับฮิซบอลเลาะห์ถูกอิสราเอลโจมตีอย่างหนักหน่วงภายหลังจากพวกเขาก่อการโจมตีภาคใต้อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ฮิซบอลเลาะห์ก็ได้หนุนช่วย ด้วยการยิงต่อสู้กับกองกำลังอิสราเอลข้ามชายแดนเลบานอน-อิสราเอลแทบทุกวัน




เริ่มต้นจากความยากจน

นัสรัลเลาะห์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.1960 และเติบโตขึ้นในเขตคารันตินา ซึ่งเป็นเขตคนยากไร้ในกรุงเบรุต ครอบครัวของเขามาจากหมู่บ้านบารูริเยะห์ บริเวณภาคใต้ของเลบานอนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชิอะห์ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่หัวใจทางการเมืองของฮิซบอลเลาะห์

เขาเป็นส่วนหนึ่งของคนหนุ่มชาวชิอะห์รุ่นซึ่งเติบโตขึ้นมาโดยทัศนะมุมมองทางการเมืองได้รับการหล่อหลอมปรับแต่งจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979

นัสรุลเลาะห์เคยศึกษาอัลกุรอานพร้อมกับเรียนรู้เรื่องการเมืองอยู่ 3 ปีในโรงเรียนศาสนาแห่งหนึ่งที่เมืองนาจาบ ของอิรัก ก่อนถูกเนรเทศจากประเทศนั้นและกลายเป็นนักเคลื่อนไหวชาวชิอะห์เต็มตัว เขาเข้าร่วมขบวนการอามัล ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองและกองกำลังกึ่งทหารนิกายชีอะห์ระหว่างสงครามกลางเมืองในเลบานอน

ตอนที่กองทัพอิสราเอลบุกเข้าสู่เบรุตในปี 1982 เขาแยกตัวจากกลุ่มอามัล และกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งฮิซบอลเลาะห์

นัสรัลเลาะห์ได้รับการสนับสนุนในเลบานอนและโลกอาหรับหลังจากฮิซบอลเลาะห์แสดงความสามารถในการรังควานโจมตีอิสราเอลไม่หยุดหย่อน จนต้องยอมถอนทัพออกจากตอนใต้ของเลบานอนในเดือนพฤษภาคม 2000 และยุติการยึดครองพื้นที่บริเวณชายแดนเลบานอนที่ดำเนินมา 22 ปี

ภายใต้การนำของนัสรัลเลาะห์ ฮิซบอลเลาะห์ หรือ “พรรคของพระเจ้า” เติบโตจากกลุ่มนักรบจรยุทธ์ กลายเป็นกองกำลังที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดในเลบานอน

ฮิซบอลเลาะห์ยังได้รับการชื่นชมจากบรรดาชาวชีอะห์มากมายในเลบานอน จากผลงานที่กลุ่มนี้ให้การสนับสนุนมูลนิธิท้องถิ่น ดำเนินการสร้างระบบบริการสาธารณสุขและระบบการศึกษาในบริเวณที่เป็นที่มั่นของกลุ่ม และช่วยเหลือผู้สนับสนุนที่เดือดร้อน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มนี้ก็เป็นที่เกลียดชัง ดังเช่นจากพวกที่ต้องการให้ประเทศปราศจากการแบ่งพรรคแบ่งพวกและใช้หลักนิติธรรม

ความนิยมในตัวนัสรัลเลาะห์ในโลกอาหรับเพิ่มขึ้นอย่างมากมายหลังจากสหประชาชาติ เป็นตัวกลางผลักดันข้อตกลงยุติการสู้รบขัดแย้งระหว่างฮิซบอลเลาะห์กับอิสราเอลในปี 2006

อย่างไรก็ดี ความนิยมดังกล่าวเริ่มเสื่อมถอยหลังจากนัสรัลเลาะห์ส่งนักรบไปช่วยรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ที่ถูกโลกอาหรับตัดขาด หลังจากที่สงครามกลางเมืองในซีเรียปะทุขึ้นในปี 2011

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น