เมื่อครั้งที่คุณพ่อไมเคิล นาติวีดัด หัดขี่จักรยานตอนอายุ 7-8 ขวบ เขาชัวร์มากว่าเวลาปั่นให้มันพุ่งตัวไปข้างหน้าหรือหันหัวเลี้ยวไปรอบๆ นั้น เจ้าล้อพยุงเล็กๆ ที่ข้างซ้ายและข้างขวาของล้อหลัง จะคอยช่วยให้จักรยานไม่ล้มกองกับพื้นเอาง่ายๆ
น้องลอรัลลานี ลูกสาวของคุณพ่อไมเคิล อายุแค่ 3 ขวบตอนที่เธอสปีดจักรยานเร็วจี๋จนเส้นผมปลิวไสวในสายลม คุณพ่อไมเคิลเล่าพร้อมกับสารภาพว่าแอบรู้สึกเสียดาย เสมือนว่าตัวเองถูกปล้นเอาช่วงเวลาแสนพิเศษไป เพราะยัยตัวน้อยขี่เป็นได้อย่างว่องไวเหลือเกิน
“ก่อนหน้านั้น ผมตั้งตาคอยโอกาสที่จะได้ช่วยจับตัวน้องให้นั่งดีๆ บนรถจักรยาน แต่ผมได้ทำยังงั้นทั้งหมดอาจจะสักแค่นาทีเดียวมั้ง” นาติวีดัด ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองโรห์เนิร์ตพาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนีย บอก
“ผมเฝ้ารอเวลาที่จะได้ทำยังงั้นตั้ง 3 ปีอะครับ”
ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ ลอรัลลานี วัย 4 ขวบในขณะนี้ ไม่เคยใช้จักรยานที่ติดล้อพยุงเลย ตรงกันข้าม เธอก็เหมือนกับเด็กอื่นๆ จำนวนมากขึ้นทุกทีในทุกวันนี้ คือ ได้ฝึกขี่จักรยานทีแรกสุดตั้งแต่ตอนอายุ 2 ขวบ ด้วยจักรยานทรงตัว balance bike ที่เรียกกันอยู่ทั่วไปว่า จักรยานขาไถ
จักรยานทรงตัวและขาไถ รูปร่างเหมือนกับจักรยานคันเล็กๆ มีสองล้อหลัก แต่ไม่มีที่เหยียบเพื่อปั่นให้ล้อหมุน จักรยานแบบนี้มีวัตถุประสงค์ให้คุณน้องคุณหนูใช้สองเท้าในการไถรถขึ้นหน้าไป
พร้อมนี้อานจักรยานเป็นแบบปรับระดับได้ คือปรับให้ลดความสูงลงมา จนกระทั่งว่าเมื่อหนูเล็กเด็กน้อยขี่นั่งบนอานแล้ว จะสามารถเอาเท้ายันถึงพื้น ทั้งนี้ มีบางรุ่นเหมือนกันที่มีบันไดถีบแบบถอดได้ ติดมาด้วย ดังนั้น เมื่อเด็กมีความพร้อม ผู้ปกครองก็ติดบันไดถีบเข้าไป แล้วเด็กๆ ก็สามารถใช้มันเป็นจักรยานจริงๆ คันแรกในชีวิตได้เลย
คำถามและความกังวลใจจึงผุดขึ้นว่า จะให้ลูกหลานเริ่มฝึกขี่จักรยานตอนอายุเท่าไรดี ในเมื่อมีบางบริษัทเปิดทำมาร์เก็ตติงที่จะขายจักรยานทรงตัวรุ่นเล็กจิ๋วสำหรับเด็กเล็กมากๆ โดยมีกระทั่งจักรยานขาไถรุ่นอายุแค่ 8 เดือนเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่จึงถามกันขึ้นมาว่า
ลูกหลานของเราควรมีอายุเท่าใดกันแน่จึงเหมาะสมที่จะเรียนวิธีขี่จักรยาน?
มันไม่ใช่ดูที่อายุตามปีปฏิทินหรอก
แอนนี เพแซลลา อาจารย์ด้านพัฒนาการของมนุษย์แห่งวิทยาลัยแมคาเลสเตอร์ คอลเลจ เมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา บอกว่า ตอนเห็นโฆษณาทีแรกบอกว่าสำหรับเด็ก 8 เดือน
“ก็ทำให้ดิฉันไม่ค่อยจะเห็นด้วย”
แต่แล้วอาจารย์มองเห็นหลักวิเคราะห์ที่บริษัทผู้ผลิตอ้างอิง ซึ่งฟังขึ้นทีเดียว
บริษัทผู้ผลิตบอกว่า ส่วนของสมองที่เรียกว่าซีรีเบลลัม หรือสมองส่วนน้อย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการทรงตัวและการเคลื่อนไหวสอดประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆ จะเติบโตอย่างมโหฬารเต็มที่ในช่วงอายุราวๆ 6 เดือนถึง 8 เดือน
กระนั้น อาจารย์เพแซลลาแนะนำให้นึกถึงจุดที่ต้องระมัดระวัง
เธอบอกว่าแทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาดูตัวเลขอายุของเด็กตามปฏิทิน ผู้ปกครองควรคำนึงถึงปัจจัยที่มีความสำคัญมากกว่า คือ หลักหมายต่างๆ ของพัฒนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำหรับเด็กแต่ละคนแล้วอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป เป็นต้นว่า
- ลูกตั้งศีรษะให้ตรงได้ด้วยตัวเองหรือยัง
- สามารถเดินไปสองสามก้าวขณะที่มือฉวยคว้าอะไรบางอย่างอยู่ด้วยได้หรือเปล่า
“ทันทีที่ไปถึงหลักหมายพวกนี้ได้แล้ว ดิฉันก็คิดว่าถึงเวลาเพอร์เฟกต์ที่สุดสำหรับการขึ้นอานจักรยานทรงตัวค่ะ” อาจารย์เพแซลลาบอกอย่างนั้น
พร้อมกับให้คำแนะนำว่า โดยปกติ เด็กๆ มักพร้อมเมื่อมีอายุระหว่าง 9 เดือนถึง 18 เดือน
เธอยังเพิ่มคำเตือนว่า ตอนที่ให้เด็กลองขี่ครั้งแรกๆ นั้น ควรทำในสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยมากๆ อย่างเช่น ในห้องที่ปูพรมเอาไว้
แล้ว“จักรยานติดล้อพยุง”มีข้อเสียยังไงหรือ?
อาจารย์เพแซลลาอธิบายว่า เหตุที่ล้อพยุงกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไม่ได้รับความนิยมแล้ว เป็นเพราะว่ามันไม่ได้สอนเราในเรื่องเกี่ยวกับ การรับรู้/รู้สึกถึงอากัปกิริยาของร่างกาย
กล่าวคือ ความสามารถของร่างกายที่จะทำความเข้าใจเรื่องตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของอวัยวะโดยที่ไม่ต้องมองเห็นด้วยตา
มันเป็นความรับรู้ที่ทำให้เราสามารถเดินไปได้ โดยไม่ต้องคอยคิดว่าแต่ละก้าวจะต้องก้าวไปยังไง
ดังนั้น หากเริ่มต้นด้วยการขี่จักรยานติดล้อพยุง พอถอดล้อพยุงออกไป เด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้กันใหม่ในเรื่องวิธีการทรงตัวเมื่ออยู่บนจักรยาน
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เด็กๆ ที่เริ่มต้นด้วยจักรยานทรงตัว จะสามารถขี่จักรยานได้เร็วขึ้น คริสเตียนา เมอร์เซ อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มหาวิทยาลัยซานตาเรม โปลิเทคนิค ในโปรตุเกส บอก
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเกี่ยวกับจักรยานทรงตัวที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วจำนวน 5 ชิ้น เมอร์เซและทีมงานได้สาธิตให้เห็นว่า เด็กที่ใช้จักรยานทรงตัวจะสามารถขี่จักรยานธรรมดาได้ภายในระยะเวลาน้อยกว่าเด็กรุ่นไล่ๆ กันที่ใช้จักรยานล้อพยุง โดยอาจจะเร็วขึ้นมาถึง 2 ปีกันเลยทีเดียว
รถจักรยานติดล้อพยุงจะมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับเด็กเล็กส่วนใหญ่ จักรยานทรงตัวไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แถมการขี่จักรยานขาไถมักเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้สำรวจได้ทดลองพฤติกรรมจำนวนมากซึ่งจะไม่ได้จากจักรยานล้อพยุง เป็นต้นว่า การไถรถทั้งด้วยเท้าทั้งสองข้าง ด้วยเท้าข้างเดียว และการพารถเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่ต้องถีบบันได อาจารย์เมอร์เซบอก
ผลจากการได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างหลากหลาย ทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับการค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่จักรยานของจริง เมอร์เซบอกอย่างนั้นโดยชี้ว่า
“คุณสามารถฝึกการทรงตัวโดยยังไม่ต้องถีบบันได แต่คุณไม่สามารถถีบบันไดได้ถ้าหากยังทรงตัวไม่ได้”
ควรให้เด็กเปลี่ยนมาขี่จักรยานที่มีบันไดถีบกันเมื่อไหร่?
คู่มือแนะนำการขี่จักรยานสำหรับเด็กที่จัดทำโดยสถาบันกุมารแพทย์อเมริกัน ไม่ได้ระบุช่วงอายุเอาไว้เฉพาะเจาะจง ตรงกันข้ามพูดไว้กว้างๆ ว่าเด็กส่วนใหญ่เรียนรู้วิธีขี่รถจักรยานด้วยจังหวะก้าวที่เหมาะกับตัวเองในช่วงอายุระหว่าง 4 ถึง 7 ปี
สิ่งสำคัญคือ คำเตือนอย่างตรงไปตรงมาต่อคุณพ่อคุณแม่ที่คิดอยากจะประหยัดว่า ไม่ควรซื้อรถจักรยานคันใหญ่เกินไป โดยคิดว่าต้องเผื่อเอาไว้ให้เด็กๆ “ใช้ไปจนโต”
อาจารย์เพแซลลา มีความเห็นคล้อยตามคำแนะนำเรื่องช่วงอายุของสถาบันกุมารแพทย์อเมริกัน เธอบอกว่าการเปลี่ยนไปสู่จักรยานแบบมีบันไดถีบนั้น บางทีอาจควรให้ลูกค่อยๆ ก้าวหน้าไปตามธรรมชาติ โดยแทบไม่ต้องมีคำแนะนำอะไร
ตอนแรกสุด ให้น้องขึ้นคร่อมอานและเดินไปกับจักรยานพยุงตัว จากนั้นก็นั่งและเดินไปกับจักรยาน และในที่สุด ก็คร่อมอาน ไถรถไปเร็วๆ ตลอดจนนั่งบนอานและยกขา พร้อมกับบังคับรถให้วิ่งไปยังทิศทางที่ต้องการ
“มันควรทำให้เป็นขั้นเป็นตอนนะคะ โดยอย่าไปตั้งความคาดหวังเกินความจริงว่า เอาล่ะ เด็ก 8 เดือนกำลังจะบังคับรถนี่ให้วิ่งไปตามทิศทางที่ต้องการได้” เธอกล่าว
อาจารย์เพแซลลาบอกว่า หลังจากนั้น ช่องว่างระหว่างการบังคับรถให้วิ่งไป กับการถีบบันไดให้รถจักรยานเคลื่อนที่ ก็จะแคบลงมาจนเหลือน้อยนิด เธอบ่นเสียดายว่า เธอควรจะได้รู้จักและสอนลูกแฝดชายวัย 10 ขวบของเธอให้ขี่จักรยายพยุงตัวตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว
การเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายเช่นนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีประโยชน์มากมายซึ่งทำให้เด็กๆ ได้วิธีการใหม่ๆ สำหรับการเคลื่อนไหวไปรอบๆ
“มันเป็นตัวแทนของความสำเร็จในการเข้าถึงอิสรภาพค่ะ พร้อมกับพัฒนาความมั่นใจในตนเองในหนทางที่ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ด้วยวิธีการอื่นๆ” เธอกล่าวอย่างนั้น
“ดิฉันคิดว่าการสอนเด็กๆ ในเรื่องวิธีขี่จักรยานตั้งแต่เนิ่นๆ จะให้ผลพลอยได้ในทางบวกเยอะแยะ ไม่เพียงแค่ทำให้รู้จักใช้แขนขาและอวัยวะต่างๆ ประสานกัน ไม่เพียงแค่การทำให้รู้จักการทรงตัวเท่านั้น แต่ยังสร้างสำนึกเรื่องความเชื่อมั่นตนเองและสำนึกเรื่องการควบคุมการกระทำของตนเองอีกด้วยน่ะค่ะ”
คอลัมน์ PLANET No.3
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี)