ทำเนียบเครมลินกล่าวสำทับในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) ว่า จากการที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงหลักการในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของตน ตามที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกมาแถลงเมื่อวันพุธ (25) นั้น คือการส่งสัญญาณให้พวกประเทศตะวันตกพิจารณาถึงผลพวงต่อเนื่องที่จะติดตามมา ถ้าหากพวกเขาเข้าร่วมในการโจมตีรัสเซีย โดยมีนัยหมายถึงการยินยอมตามคำขอของยูเครนที่ต้องการใช้อาวุธซึ่งได้จากสหรัฐฯและชาติสมาชิกนาโตอื่นๆ โจมตีลึกเข้าไปในแดนหมีขาว
ทั้งนี้ ปูติน กล่าวขณะเปิดการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันพุธ (25) ว่า รัสเซียอาจนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ ถึงแม้ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธตามแบบ (นั่นคือขีปนาวุธติดหัวรบธรรมดา ไม่ใช่หัวรบนิวเคลียร์) กล่าวคือมอสโกจะถือว่าการโจมตีใดๆ ก็ตามต่อแดนหมีขาว ที่มีมหาอำนาจนิวเคลียร์ให้การสนับสนุน เป็น “ปฏิบัติการโจมตีร่วม” ของมหาอำนาจดังกล่าวด้วย
การปรับเปลี่ยนหลักการในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือที่เรียกกันว่า หลักนิยมทางนิวเคลียร์ (nuclear doctrine) คราวนี้ของรัสเซีย ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนแรงๆ ไปยังสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งกำลังใคร่ครวญว่าจะอนุญาตให้ยูเครนนำขีปนาวุธตามแบบซึ่งได้รับจากฝ่ายตะวันตกไปใช้ยิงโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียหรือไม่
ปูติน ระบุว่าการปรับหลักนิยมด้านนิวเคลียร์เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้รัสเซียเผชิญภัยคุกคามและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า เขาต้องการที่จะเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงข้อสำคัญข้อหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงคราวนี้
“มีการเสนอว่า หากรัฐที่ไม่ได้ครอบครองนิวเคลียร์กระทำการก้าวร้าวรุกรานต่อรัสเซีย โดยมีมหาอำนาจนิวเคลียร์เข้าร่วมหรือให้การสนับสนุน ก็ควรต้องถือว่าเป็นการที่พวกเขาปฏิบัติการโจมตีร่วมกันต่อสหพันธรัฐรัสเซีย” ปูติน วัย 71 ปี กล่าว
“เงื่อนไขสำหรับที่รัสเซียจะนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ก็มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนเช่นกัน” เขากล่าว พร้อมอธิบายว่ารัสเซียจะพิจารณาทางเลือกดังกล่าว หากตรวจพบว่ามีการเริ่มส่งขีปนาวุธ อากาศยาน หรือโดรนเข้าโจมตีดินแดนรัสเซียอย่างขนานใหญ่
นอกจากนั้น ปูติน ยังบอกด้วยว่ารัสเซียขอสงวนสิทธิในการพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้เช่นกัน หากชาติพันธมิตรอย่าง “เบลารุส” ถูกรุกรานด้วยขีปนาวุธตามแบบ
ผู้นำหมีขาวย้ำว่า การแจกแจงขยายความนี้เป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมเพื่อให้สอดรับกับภัยคุกคามทางทหารยุคใหม่ที่รัสเซียต้องเผชิญ
สำหรับหลักนิยมด้านนิวเคลียร์ฉบับปัจจุบันที่ออกโดยกฤษฎีกาของ ปูติน เมื่อปี 2020 กำหนดเอาไว้ว่า รัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ในกรณีที่ถูกศัตรูโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือถูกโจมตีด้วยอาวุธตามแบบ จนถึงขั้น “คุกคามความอยู่รอดของรัฐ”
เงื่อนไขหลักๆ ที่ ปูติน เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ก็คือ การประกาศให้ “เบลารุส” เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มนิวเคลียร์ของรัสเซีย และการถือว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์ที่สนับสนุนปฏิบัติการโจมตีรัสเซียด้วยอาวุธตามแบบ เป็น “คู่สงคราม” ของรัสเซียด้วย
สำหรับการแถลงเพิ่มเติมเมื่อวันพฤหัสบดี (26) ของ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน เขายืนยันว่า การปรับเปลี่ยนหลักนิยมด้านนิวเคลียร์ตามที่ ปูติน กล่าวถึงนี้ ได้มีการเขียนเอาไว้ในเอกสารที่มีชื่อว่า “รากฐานแห่งนโยบายรัฐในปริมณฑลของการป้องปรามทางนิวเคลียร์” แล้ว ทั้งนี้ การตัดสินใจจะเผยแพร่เอกสารที่กล่าวถึงนี้หรือไม่นั้น จะกระทำกันในเวลาต่อไปข้างหน้า
เมื่อถูกผู้สื่อถามสอบว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือการส่งสัญญาณไปยังโลกตะวันตกใช่หรือไม่ เปสคอฟตอบว่า “นี่ควรต้องถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่เจาะจงชัดเจน”
“นี่คือการส่งสัญญาณเพื่อมุ่งเตือนประเทศเหล่านี้เกี่ยวกับผลพวงต่อเนื่องที่จะติดตามมา ถ้าหากพวกเขาเข้าร่วมในการโจมตีประเทศของเราด้วยวิธีการต่างๆ หลายหลาก และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการโจมตีด้วยนิวเคลียร์” เปสคอฟ บอก
โฆษกทำเนียบเครมลินผู้นี้กล่าวว่า โลกกำลังเป็นพยานของ “การประจันหน้ากันอย่างชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ซึ่งเขาบอกว่าถูกยั่วยุขึ้นมาจาก “การเข้าเกี่ยวข้องพัวพันโดยตรงของพวกประเทศตะวันตก รวมทั้งพวกมหาอำนาจนิวเคลียร์ด้วย” ในสงครามยูเครน
เมื่อถูกถามว่า ในการอภิปรายกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีการหารือเรื่องที่รัสเซียจะยุติไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้มีการตกลงกันไว้ในยุคหลังโซเวียตล่มสลายด้วยหรือไม่ เปสคอฟตอบว่าเขาไม่สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ เนื่องจากการประชุมในวันพุธ (25) เนื้อหาส่วนใหญ่ถือเป็นความลับสุดยอด
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่สงครามยูเครนครั้งนี้ระเบิดขึ้น สหรัฐฯ เคยวิตกกังวลอย่างมากว่ารัสเซียอาจนำอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีออกมาใช้ และถึงขั้นออกปากเตือน ปูติน ให้ระวังผลลัพธ์ที่จะตามมา ทั้งนี้ ตามข้อมูลจาก วิลเลียม เบิร์นส ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA)
สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมา 2 ปีครึ่งได้จุดชนวนการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัสเซียกับตะวันตก นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งถือกันว่าเป็นช่วงเวลาอันสุ่มเสี่ยงที่สุดที่ 2 มหาอำนาจในสงครามเย็นจะเปิดศึกทำสงครามนิวเคลียร์กัน
ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของตะวันตกยิงโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในรัสเซีย เพื่อทำลายศักยภาพของมอสโกในการรุกรานยูเครนเพิ่มเติม ซึ่งระบบอาวุธเหล่านี้รวมถึงระบบขีปนาวุธทิ้งตัวทางยุทธวิธี “อะแทคซิมส์” (ATACMS) ของสหรัฐฯ และขีปนาวุธร่อนยิงจากอากาศสู่ภาคพื้น “สตอร์ม แชโดว์” (Storm Shadow) ของอังกฤษ
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซีส์)