xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรร้องยี้! “ทรัมป์” เปิดแผนเศรษฐกิจเล็งดึงงานอุตสาหกรรมจาก “จีน-อังกฤษ-เยอรมนี” กลับเข้าอเมริกาถ้าชนะเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ช็อกโลกและชาติพันธมิตรด้วยการเปิดเผยแผนเศรษฐกิจสหรัฐฯ วันอังคาร (24 ก.ย.) เตรียมดึงงานออกจากจีน อังกฤษ เยอรมนี กลับสหรัฐฯภายใต้ปฏิบัติการ “เรเนซองต์ด้านอุตสาหการ” (manufacturing renaissance) เรียกร้องบริษัทอเมริกันเดินหน้าวิจัยและพัฒนาพร้อมตอบแทนด้วยการลดหย่อนภาษี  ทรัมป์ชูนโยบายการค้าแข็งกร้าว ตั้งกำแพงการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนทำให้เกิดเงินเฟ้อ

รอยเตอร์รายงานวานนี้ (25 ก.ย.) ว่า ตัวแทนพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศวันอังคาร (24) บนเวทีหาเสียงเมืองซาวานนาห์ (Savannah) รัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของสหรัฐฯ และฮับอุตสาหกรรมการผลิต เปิดแผนเศรษฐกิจกู้วิกฤตเซกเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ยืนยันว่า เขาจะดึงงานอุตสาหกรรมการผลิตจากต่างประเทศรวมถึงชาติพันธมิตรของอเมริกาให้กลับคืนสู่ดินแดนสหรัฐฯ หากว่าเขาชนะการเลือกตั้งวันที่ 5 พ.ย.

ทั้งนี้ บนเวทีทรัมป์ให้คำมั่นสัญญา “เรเนซองต์ด้านอุตสาหการ” (manufacturing renaissance) ที่คาดว่าอาจจะหมายความถึงการฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ นั้นจะกลายเป็นหัวใจของแผนเศรษฐกิจของเขา

บีบีซีรายงานว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันภายใต้แผนการดึงงานกลับประเทศจะลงโทษบริษัทอเมริกันที่มีโรงงานผลิตในประเทศอื่นและจะเพิ่มภาษีต่อสินค้าผลิตต่างแดนเพื่อปกป้องเซกเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ

และในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ชี้ว่า แรงจูงใจต่อบรรดานักอุตสาหกรรมในการทำการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯ ด้วยการหั่นภาษีและลดต้นทุนทางพลังงาน รวมไปถึงข้อกำกับทางธุรกิจที่น้อยลง

สื่ออังกฤษชี้ว่า ถือเป็นนโยบายทางการค้าที่แข็งกร้าวออกมาจากวอชิงตันหากว่าเขาสามารถชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้และเดินหน้าบังคับใช้จริง

ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟของอังกฤษรายงานเช่นกันโดยพาดหัวข่าวตัวโตว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ ปวารณาจะดึงงานออกจาก อังกฤษ เยอรมนี และจีน”

รอยเตอร์รายงานว่า ทรัมป์กล่าวว่า หากโหวตเลือกเขาเพื่อเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะส่งผลทำให้เกิดการย้ายออกครั้งใหญ่ของการผลิตทางอุตสาหกรรมจากชาติพันธมิตรเช่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี รวมไปถึงชาติคู่แข่งทางเศรษฐกิจเช่น จีน เป็นต้น

ค่าครองชีพสูงและงานถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับอเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ อ้างอิงจากโพลสำรวจ

ซึ่งในเวลานี้ทรัมป์กำลังต่อสู้ตัวแทนพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส ในแบทเทิลกราวสเตทที่สำคัญ เช่น รัฐจอร์เจีย

เดลีเทเลกราฟรายงานว่า บนเวทีเขาเรียกเสียงเชียร์จากฝูงชนด้วยการประกาศว่า 

“ทุกบริษัทใหญ่และนักอุตสาหกรรมบนโลก” ทรัมป์จะแสดงพละกำลังที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของอเมริกาในการลดอัตราภาษีบริษัทเพื่อธุรกิจที่ย้ายฐานปฏิบัติการมาที่อเมริกา

“ไม่เพียงที่พวกเราจะหยุดบริษัทที่จะออกไปยังต่างแดนแต่ภายใต้ความเป็นผู้นำของผม พวกเราจะดึงงานของประเทศอื่น” และเขากล่าวต่อว่า “พวกเรากำลังจะนำธุรกิจนับพันและอีกหลายพันและล้านล้านดอลลาร์ในความมั่งคั่งกลับคืนสู่สหรัฐฯ”

ตัวแทนพรรครีพับลิกันกล่าวว่า “ผมต้องการบริษัทรถยนต์เยอรมนีกลายเป็นบริษัทรถยนต์อเมริกัน ผมต้องการให้พวกเขาสร้างโรงงานของตัวเองที่นี่”

และกล่าวอีกว่า “ผมต้องการเอาชนะจีนด้านการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพวกเราจะทำมันอย่างง่ายดาย”

เดลีเทเลกราฟชี้ว่า อดีตผู้นำอเมริกันยังเอ่ยถึงอังกฤษบนเวทีหาเสียงว่า อังกฤษนั้นต้องการเป็นอย่างมากในการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ด้วยการใช้แรงจูงใจทางภาษี

เขากล่าวว่า “วันหนึ่งคุณจะต้องอ่าน “โอนี่มัน..อื่นๆ และอื่นๆ.. พวกเขาเพิ่งลงนามกับจีน พวกเขาเพิ่งลงนามกับเยอรมนี พวกเขาเพิ่งลงนามกับอังกฤษ มันยากมากที่จะได้เหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะให้การปลอดภาษีแก่คุณ”

รอยเตอร์รายงานว่า ทั้งนี้ในวันจันทร์ (23) ทรัมป์กล่าวว่า เขาจะสั่งเพิ่มภาษี 200% ต่อสินค้านำเข้าของบริษัท John Deere กลับมายังอเมริกาหากว่าบริษัทเครื่องมือการเกษตรชื่อดังยังคงยืนกรานจะย้ายจากการผลิตจากสหรัฐฯ ไปที่เม็กซิโก

ขณะที่ทรัมป์ และพันธมิตรของเขาเชื่อว่า “กำแพงทางการค้า” มีความสำคัญในการปกป้องอุตสาหกรรมอเมริกา แต่ทว่ามีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่า วิธีของทรัมป์จะทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาโดยจะลดหย่อนภาษี (tax breaks)แก่บริษัทที่มีฐานในสหรัฐฯ สำหรับค่าการวิจัยและการพัฒนาและความสามารถที่จะตัดต้นทุนของเครื่องจักรหนักได้ในปีแรก

บีบีซีรายงานว่า ทรัมป์กล่าวต่อว่า ในแผนจะแต่งตั้งทูตด้านอุตสาหการสหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติให้ย้ายไปสหรัฐฯ

“ภายใต้แผนของผม ลูกจ้างอเมริกันจะไม่ต้องวิตกอีกต่อไปที่จะเสียงานของตัวเองให้ต่างชาติ แต่ในทางกลับกันต่างชาติจะต้องวิตกกังวลแทนที่คนเหล่านั้นต้องเสียงานให้อเมริกา”

ทั้งนี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ก่อนหน้ายังเสนอกำแพงภาษี 60% หรือสูงกว่านั้นต่อสินค้านำเข้าจีน และอัตราภาษีนำเข้าแบบปูพรม 20% จากประเทศอื่นๆ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดุดันทีสามารถกระทบต่อราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคอเมริกันได้ อ้างอิงจากนักเศรษฐศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น