เรือรบญี่ปุ่นลำหนึ่งล่องผ่านช่องแคบไต้หวันที่อ่อนไหวเป็นครั้งแรก เพื่อยืนยันเสรีภาพในการล่องเรือ ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค และสื่อมวลชนท้องถิ่นอื่นๆ ในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.)
ยังไม่มีคำยืนยันการล่องผ่านครั้งนี้มาจากกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น แต่รายงานข่าวของสื่อมวลชนระบุว่ามันเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (26 ก.ย.) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวตามอย่างการล่องเรือแบบเดียวกันของกองทัพเรือสหรัฐฯ และยุโรป ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ปักกิ่งมองไต้หวันว่าเป็นมณฑลหนึ่งของพวกเขาที่แยกตัวออกไป และกล่าวอ้างขอบเขตอำนาจเหนือน่านน้ำแห่งนี้ ที่กั้นกลางระหว่างเกาะไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และประเทศอื่นหลายชาติโต้แย้งว่าการล่องเรือดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ อ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ
เมื่อเร็วๆ นี้ วอชิงตันและพันธมิตรยกระดับการล่องเรือผ่านช่องแคบไต้หวันที่กว้าง 180 กิโลเมตร เพื่อตอกย้ำสถานะของช่องแคบแห่งนี้ ในฐานะน่านน้ำระหว่างประเทศ ความเคลื่อนไหวที่โหมกระพือความเดือดดาลแก่จีน
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน จีนกล่าวหาเยอรมนีก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงขั้นสูงในช่องแคบไต้หวัน หนึ่งวันหลังจากเรือของกองทัพเยอรมนีล่องผ่านน่านน้ำแห่งนี้
ญี่ปุ่น คือพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และรายงานข่าวเกี่ยวกับการล่องเรือผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นครั้งแรก มีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนสิงหาคม โตเกียวประณามปักกิ่งว่า "ละเมิดอธิปไตยอย่างร้ายแรง" ในเหตุการณ์ที่โตเกียวอ้างว่าเครื่องบินทหารของจีนล่วงล้ำเข้าสู่น่านฟ้าของพวกเขาป็นครั้งแรก
หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุน อ้างแหล่งข่าวรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เป็นคนออกคำสั่งความเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วยตนเอง เนื่องจากเกรงว่าหากนิ่งเฉยไม่ทำอะไร ตามหลังจีนล่วงล้ำเขตแดนของญี่ปุ่น อาจเป็นการยุยงให้จีนกระทำการอุกอาจเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้เช่นกัน เรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งล่องผ่านระหว่างหมู่เกาะ 2 เกาะของญี่ปุ่น ที่อยู่ใกล้ไต้หวันเป็นครั้งแรก
โตเกียวประณามเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง" แต่ทางปักกิ่งอ้างว่าพวกเขาปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ปักกิ่งเคยระบุว่าไม่เคยตัดความเป็นไปได้ในการใช้กำลังดึงไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุม ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ใช้วาทกรรมแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ในนั้นรวมถึงคำกล่าวที่ว่า "การรวมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"
ไต้หวันตอบโต้ด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับบรรดาพันธมิตร โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ชาติผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดของพวกเขา เช่นเดียวกับปรับเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นอย่างมาก
(ที่มา : เอเอฟพี)