xs
xsm
sm
md
lg

‘เยาวชนเอเชีย’ตกลงสู่‘กับดักงานชั่วคราว’ที่ไร้ความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เซตโย บูเดียนโตโร


ไดรเวอร์มอเตอร์ไซค์สังกัดโกเจค รอลูกค้าอยู่ด้านหน้าของสำนักงานใหญ่ธนาคารไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล แบงก์ (SCB) ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้, เวียดนาม
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Precarity trap: Gig economy failing Asia’s youth
by Setyo Budiantoro
16/07/2024

คนหนุ่มสาวชาวเอเชียจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที ติดอยู่ในกับดักของตำแหน่งงานชั่วคราวที่ขาดไร้ความมั่นคง กลายเป็นการบ่อนทำลายลู่ทางอนาคตทางเศรษฐกิจระยะยาวของผู้คนในรุ่นอายุนี้และของภูมิภาคแถบนี้

การที่เยาวชนจำนวนมากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่การจ้างงานไม่มีความแน่นอนไร้ความมั่นคง กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาที่มีความเร่งด่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากจำนวนคนหนุ่มสาวมากขึ้นทุกทีที่ติดกับอยู่กับตำแหน่งงานชั่วคราวซึ่งไม่มีการประกันสังคม หรือสัญญาจ้างงานระยะยาว

ตามรายงาน “แนวโน้มการจ้างงานสำหรับเยาวชนในทั่วโลกปี 2024” (Global Employment Trends for Youth 2024) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization หรือ ILO) ระบุว่า ในรอบปี 2023 กว่า 28% ของเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เกี่ยวข้องผูกพันอยู่ในการจ้างงานแบบชั่วคราวที่ขาดไร้ความมั่นคงทางการเงินและการประกันคุ้มครองทางสังคม

สถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่บ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเงินของปัจเจกบุคคลแต่ละคนเท่านั้น หากยังมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อลู่ทางโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาวของภูมิภาคนี้อีกด้วย

จากแนวโน้มในระดับโลก ที่ได้รับการไฮไลต์เอาไว้ในรายงานของ ILO ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานชั่วคราวในภูมิภาคนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ถึงแม้ตำแหน่งงานเหล่านี้จะมีความยืดหยุ่น แต่น้อยเหลือเกินที่เสนอสัญญาจ้างแบบระยะยาว จึงเป็นการปล่อยปละทิ้งขว้างคนงานวัยหนุ่มสาวเอาไว้ให้อยู่ในสภาพขาดไร้หนทางเข้าถึงผลประโยชน์จำเป็นต่างๆ อย่างเช่น การดูแลรักษาสุขภาพ และระบบบำนาญ

ในประเทศอย่างเช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากงานชั่วคราว (gig economy) กำลังทำให้ปัญหาที่ดำรงอยู่แต่เดิมเพิ่มความรุนแรงสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก จากการสร้างตำแหน่งงานที่มีความยืดหยุ่นทว่าบ่อยครั้งไม่มีความมั่นคง มีรายงานระบุว่ากว่า 44% ของเยาวชนในอินโดนีเซียทำงานอยู่ในภาคไม่เป็นทางการเช่นนี้ โดยบ่อยครั้งไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการ ทำให้เป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกเขาที่จะหาทางให้ได้รับเสถียรภาพทางการเงินหรือการประกันคุ้มครองทางสังคม

ไม่เพียงเท่านั้น เยาวชนเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นรุนแรงขึ้นอีกจากความคาดหมายทั้งหลายในทางวัฒนธรรม ในประเทศเอเชียจำนวนมาก การได้รับการจ้างงานอย่างมั่นคงถูกมองว่าเป็นสัญญาณประการหนึ่งของความสำเร็จส่วนบุคคลและความสำเร็จทางสังคม อย่างไรก็ตาม สำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เพียงแค่สามารถหางานชั่วคราวไม่มั่นคงทำ ความไม่คล้องจองลงรอยกันทางจิตใจ (cognitive dissonance) เช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเครียดในทางจิตวิทยาขึ้นมา

ตัวอย่างเช่นในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แรงบีบคั้นทางสังคมให้ต้องหาทางมีตำแหน่งการงานที่ถาวร มีส่วนที่ทำให้ประเด็นปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ในระดับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเรื่องการฆ่าตัวตายของเยาวชน

เทคโนโลยี ที่ในตอนแรกๆ ดูเหมือนเป็นปากประตูไปสู่โอกาสของการจ้างงานใหม่ๆ เมื่อมาถึงตอนนี้ก็แสดงให้เห็นด้วยว่า มันยังมีบทบาทในการขยายความไม่มั่นคงของงานเหล่านี้

ขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากงานชั่วคราว กำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่พวกคนงานวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคลอจิสติกส์และภาคการขนส่งคมนาคม (อย่างเช่นการเป็นไดรเวอร์แกร็บ และ โกเจค) แต่งานเหล่านี้ยังมาพร้อมกับความเสี่ยงอย่างสำคัญในทางการเงิน สืบเนื่องจากการขาดไร้การประกันคุ้มครองทางสังคม คนงานเหล่านี้จำนวนมากต้องขึ้นต่ออุปสงค์ที่มีการผันแปรอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้รายรับอยู่ในภาวะที่ไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีก็มีคุณสมบัติที่อาจจะสามารถเป็นหนทางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาได้ เป็นต้นว่า กำลังมีการใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชน และโปรแกรมสัญญาอัจฉริยะ (smart contracts) ในการสำรวจหนทางสำหรับปรับปรุงยกระดับความโปร่งใสและทำให้พวกคนงานในระบบเศรษฐกิจงานชั่วคราวมีความมั่นคงมากขึ้น

แพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถรับประกันว่าพวกคนงานจะได้รับการชำระเงินอย่างตรงเวลา อีกทั้งสามารถเข้าถึงการประกันคุ้มครองทางสังคมระดับพื้นฐาน พวกประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์ กำลังสำรวจเรื่องการประสานงานร่วมมือกับพวกบริษัทเทคเพื่อบูรณการการประกันคุ้มครองเหล่านี้เข้าไปในกรอบโครงระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานชั่วคราว

งานที่ไม่มีความมั่นคงยังเป็นสิ่งที่ท้าทายกับเรื่องการเปลี่ยนฐานะทางสังคม พวกเยาวชนที่ติดกับอยู่ในงานชั่วคราวหรืองานไม่เป็นทางการมักไม่อาจเข้าถึงโอกาสในการสร้างทักษะหรือในการรับการศึกษาสูงขึ้นอีก ทำให้เป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกเขาที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่งานที่มีความมั่นคงมากขึ้นและได้รับค่าจ้างสูงขึ้น

สภาพเช่นนี้กำลังกลายเป็นเพิ่มพูนความเหลื่อมล้ำที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับพวกที่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ เพื่อแก้ไขคลี่คลายเรื่องนี้ จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญให้แก่พวกโปรแกรมการยกระดับทักษะความชำนาญ และโปรแกรมการฟื้นฟูทักษะความชำนาญ เพื่อให้แน่ใจว่าเยาวชนสามารถที่จะถ่ายโอนไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจซึ่งมีความมั่นคงทางตำแหน่งงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้นว่า ภาคพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในระดับของการวางนโยบาย รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำเป็นต้องส่งเสริมเพิ่มพูนการการประกันคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนงานวัยหนุ่มสาว โดยครอบคลุมถึงการขยายโอกาสในการเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพและแผนการบำนาญ ซึ่งจัดขึ้นให้แก่ผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคไม่เป็นทางการ

มาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับบริษัทต่างๆ ที่เสนอสัญญาจ้างระยะยาวแก่คนงานวัยหนุ่มสาว เป็นสิ่งที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างตำแหน่งงานที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้นในภาคไม่เป็นทางการขึ้นมา นอกจากนั้นแล้ว โครงการด้านการฝึกอาชีพและความริเริ่มต่างๆ ทางด้านการศึกษา ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้มีการผูกโยงอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ด้วยการใช้วิธีการที่มีการบูรณาการเพิ่มมากขึ้น –นั่นคือการนำเอานโยบายสาธารณะ, นวัตกรรมทางเทคโนโลยี, และภาวะความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มารวมเข้าด้วยกัน— ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก็จะสามารถสร้างตลาดแรงงานสำหรับเยาวชน ที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น เป็นการแผ้วถางเส้นทางไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนในระยะยาว

เซตโย บูเดียนโตโร เป็นนักวิจัยอยู่ที่ IDEAS Global Program แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และเป็นนักยุทธศาสตร์ Nexus Strategist ของ The Prakarsa
กำลังโหลดความคิดเห็น