(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
New dawn for China’s tech billionaires?
by Wenting He
20/09/2024
โพนี หม่า อภิมหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง “เทนเซนต์” กิจการยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีของจีน เอาตัวรอดมาได้ในช่วงที่ปักกิ่งกำราบวงการเทคอย่างเข้มงวดตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา และมาถึงเวลานี้ก็ก้าวขึ้นเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในแดนมังกรอีกคำรบหนึ่ง
ตามข้อมูลล่าสุดของ “ดัชนีบลูมเบิร์กอภิมหาเศรษฐีพันล้าน” (Bloomberg Billionaires Index) [1] ที่จัดทำโดยสื่อบลูมเบิร์ก ระบุว่า โพนี หม่า (Pony Ma ชื่อภาษาจีนกลางของเขา คือ หม่า ฮั่วเถิง Ma Huateng) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทนเซนต์ โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings) ได้ขึ้นครองตำแหน่งบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง โดยเวลานี้เขามีทรัพย์สมบัติคิดเป็นมูลค่าสุทธิสูงกว่า 44,300 ล้านดอลลาร์
สำหรับอภิมหาเศรษฐีจีนผู้มีความร่ำรวยไล่หลังเขามาติดๆ ได้แก่ จง ซานซาน (Zhong Shanshan) เจ้าพ่อน้ำดื่มบรรจุขวด และ จาง อีหมิง (Zhang Yiming) ผู้ร่วมก่อตั้งหลักของ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ยักษ์ใหญ่ด้านเทค ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ติ๊กต็อก
เพียงแค่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ พรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคปกครองประเทศจีนได้เปิดการปฏิบัติการปราบปรามเล่นงาน [2] พวกอภิมหาเศรษฐีและพวกผู้นำทางธุรกิจอื่นๆ มีบางรายถูกขังคุกโดยที่มีการรายงานข่าวอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ขณะที่คนอื่นๆ เพียงแค่หายหน้าหายตาไปเฉยๆ [3] ไม่ปรากฏตัวให้สาธารณชนพบเห็น
การที่ หม่า กลับฟื้นชีพขึ้นมาใหม่อย่างฉับพลัน ดูเหมือนน่าจะเป็นสัญญาณในทางบวกของสภาพแวดล้อมทางตลาดที่เป็นปกติมากยิ่งขึ้น แต่กระนั้นขณะที่เราเฝ้าจับตามองภาคเอกชนของจีนเติบโตเจริญรุ่งเรือง เราก็ควรระลึกเอาไว้ว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎกติกาเกมการเล่นที่มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใครของประเทศจีน
การก้าวผงาดขึ้นมาของเทนเซนต์
ความมั่งคั่งร่ำรวยของ หม่า อันดับแรกทีเดียวมาจากหุ้นที่เขามีอยู่ในเทนเซนต์ ซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1998 โดยตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ขณะที่เศรษฐกิจของจีนเติบโตขยายตัว เทนเซนต์ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก
เทนเซนต์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีจาก คิวคิว (QQ) และ วีแชต (WeChat) ซึ่งกลายเป็นแอปรับส่งข้อความสั้นทันใจ 2 ตัวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีนอย่างรวดเร็ว และเชื่อมต่อร้อยรัดผู้คนจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคน [4] เข้าด้วยกัน
เทนเซนต์ยังเป็นเวนเดอร์วิดีโอเกมรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน [5] ด้วยเกมยอดนิยมอย่างเช่น “ออเนอร์ออฟคิงส์” (Honour of Kings) และ “ลีกออฟเลเจนดส์” (League of Legends)
เมื่อเดือนที่แล้ว เทนเซนต์เพิ่งเปิดตัว “แบล็กมิธ: อู้คง” (Black Myth: Wukong) วิดีโอเกมของจีนเกมแรกที่อยู่ในระดับ AAA ทั้งนี้ AAA คือคำที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมเกมมิ่งซึ่งได้รับการยอมรับในทั่วโลกว่า หมายถึงเกมที่ผลิตขึ้นมาแบบ สแตนด์อะโลน มีความอลังการณ์ และทุ่มเทใช้งบประมาณสูง
เกมที่มีการกล่าวขวัญกันอย่างเกรียวกราวตัวนี้ ทำยอดขายในทั่วทุกแพลตฟอร์มทะลุหลัก 10 ล้านชุด [6] ภายในเวลาแค่ 3 วันของการวางตลาด จึงกำลังกลายเป็นหนึ่งในเกมที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลของประเทศจีน
ตัวเกมเองดึงเอาเค้าโครงเรื่องมาจากวรรณกรรมคลาสสิกยุคคริตส์ศตวรรษที่ 16 ของจีนเรื่อง “ไซอิ๋ว” (ภาษาอังกฤษนิยมใช้ชื่อว่า Journey to the West) และมีการนำเอาภูมิประเทศทิวทัศน์และสถานที่ต่างๆ ของจีนมาใช้อย่างหลากหลาย ความนิยมชื่นชอบที่เกมนี้ปลุกเร้าให้เกิดขึ้น เข้ากันได้ดีกับความพยายามที่ปักกิ่งกระทำอยู่อย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมเพิ่มพูนมนตร์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมของจีนในระดับนานาชาติ [7]
สำนักข่าวซินหัว สื่อของทางการจีน ได้กล่าวยกย่องเกมนี้เอาไว้อย่างเลิศหรูว่า เป็นเกมที่ “กำลังบอกเล่าเรื่องราวของจีนด้วยคุณภาพระดับเวิลด์คลาส” รวมทั้งกำลังเสนอหนทางใหม่สายหนึ่งสำหรับให้พวกผู้เล่มเกมทั่วโลกได้เข้าอกเข้าใจวัฒนธรรมจีน
คำสรรเสริญจากทางการเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีความหมายมากทีเดียว ในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา เทนเซนต์ต้องประสบกับช่วงเวลาแห่งความท้าทายไม่ราบรื่นเอาเลย ในการรับมือกับกฎระเบียบเกี่ยวกับเกมอันเข้มงวดที่ปักกิ่งประกาศออกมาบังคับใช้
เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 หน่วยงานผู้คุมกฎเกี่ยวกับวิดีโอเกมของจีนประกาศนโยบายหลายประการ [8] ซึ่งจำกัดให้เกมเมอร์ทางออนไลน์ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเล่นเกมได้เพียงแค่ 1 ชั่วโมงในทุกวันศุกร์, วันสุดสัปดาห์, และวันหยุดเทศกาล เรื่องนี้กลายเป็นการกระหน่ำอย่างแรงต่ออุตสาหกรรมเกมมิ่งของจีน รวมทั้งต่อเทนเซนต์ด้วย
จากนั้นในเดือนธันวาคม 2023 ปักกิ่งได้ออกระเบียบกฎหมายเพิ่มขึ้นอีก [9] ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะกำหนดเพดานจำนวนเงินและระยะเวลาที่สามารถนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับวิดีโอเกม การประกาศเรื่องนี้ในครั้งนั้นส่งผลทำให้ราคาหุ้นของเทนเซนต์หล่นฮวบ 12.4% กระนั้นบริษัทก็ยังคงให้คำมั่นสัญญาที่จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตามข้อกำหนดของระเบียบกฎหมายใหม่ๆ ที่จะมีออกมาบังคับใช้
เรื่องเล่าขานเตือนใจให้ระมัดระวัง
ในประเทศจีนนั้น การปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายต่างๆ ของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แจ็ก หม่า (Jack Ma) อภิมหาเศรษฐีชาวจีนทางด้านเทคอีกคนหนึ่ง ต้องประสบกับผลพ่วงต่อเนื่องในทางเลวร้ายอย่างรุนแรง จากการที่เขาแสดงตัวออกมาท้าทายพวกระเบียบกฎหมายของภาครัฐอย่างเปิดเผย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2020 แจ็ก หม่า ซึ่งกำลังเตรียมที่จะนำเอา แอนต์ กรุ๊ป (Ant Group) กิจการยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทางการเงินของเขา ออกมาเสนอขายให้แก่ประชาชนครั้งแรก (initial public offering หรือ IPO) ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่าจะเป็นการทำไอพีโอที่มูลค่าสูงที่สุดในเวลานั้น [10] โดยน่าจะได้เงินประมาณ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หลังจากเขาไปกล่าวปราศรัยครั้งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเกรี้ยวกราดใส่พวกหน่วยงานผู้คุมกฎทางการเงินของจีน ที่ยังคงบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ล้าสมัย อีกทั้งเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของภาคเอกชนอย่างล้นเว่อร์ ทางหน่วยงานผู้คุมกฎก็สั่งระงับ [11] การทำไอพีโอของ แอนต์ กรุ๊ป
ด้วยการหยิบยกเหตุผลความน่าห่วงใยที่ว่า ประดาผลิตภัณฑ์ด้านอีไฟแนนซ์ของแอนต์ กรุ๊ป จะกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการกู้ยืมและการลงทุนอย่างไม่บันยะบันยัง ในที่สุดแล้วจีนก็ประกาศระงับการทำไอพีโอนี้ในตอนปลายปี 2020
ตลอดระยะหลายๆ ปีหลังจากนั้น ทั้ง แอนต์ และ อาลีบาบา (Alibaba) ที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ต่างถูกทางการสั่งปรับเงินรวมแล้วหลายพันล้าน [12] ด้วยข้อหาละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ทางการเงินหลายข้อหลายประการ
ระยะดังกล่าวนี้กลายเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนแสดงท่าทีบังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้นเป็นอย่างมาก และพวกเจ้าพ่อวงการเทคทั้งหลายก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่เช่นนี้
สำหรับตัว โพนี หม่า ในปี 2021 เขาออกมาเน้นย้ำต่อสาธารณชน [13] ถึงความสำคัญของการจัดระเบียบพวกธุรกิจอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด โดยรวมถึงธุรกิจของเขาเองด้วย เขายังแสดงตัวเป็นฝ่ายริเริ่มกระตือรือร้น ด้วยการอาสาสมัครเข้าพบหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องการต่อต้านการผูกขาดเสียเลย
เทนเซนต์ได้ลดขนาดของตัวเองด้วยการกระจายหุ้นที่ถืออยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งรัฐบาลก็เรียกร้องให้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจด้านการเงินของทางเครืออีกด้วย
ในประเทศจีนนั้นพรรคยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
ระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน เป็น “ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” (socialist market economy) [14] นั่นก็คือ รัฐบาลของจีนพิจารณาตลาด ว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งสำหรับการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ต่างๆ ในทางสังคมนิยม
นี่ไม่ได้หมายความว่า ภาคเอกชนไม่ได้แสดงบทบาทที่ใหญ่โตมโหฬาร ทว่ารัฐบาลจีนนั้นมีท่าทีระวังระไวมานานแล้ว เกี่ยวกับอำนาจทางตลาดที่กำลังเกิดใหม่และกำลังเจริญเติบโตขึ้นมา ของพวกผู้นำธุรกิจมั่งคั่งร่ำรวยซึ่งมีอิทธิพลบารมีทางการเมืองอย่างมหาศาลด้วย ว่ามีศักยภาพที่จะกลายเป็นภัยคุกคามการกุมอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของพรรค
ระยะหลายทศวรรษแห่งการปฏิรูปและการเปิดกว้างที่ผ่านมา ปักกิ่งให้คำมั่นสัญญาที่จะปลดปล่อยพลังของตลาด, ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาของภาคเอกชน, และปรับปรุงพวกสถาบันทางการเงินของตนให้ทันสมัย แต่เงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ก่อนก็คือว่า รัฐควรต้องธำรงรักษาอำนาจสูงสุดในการจัดระเบียบและการในเรียกระดมทรัพยากรต่างๆ ของตลาด
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของจีนอยู่ในอาการสะดุดติดขัดอย่างเหนียวแน่นในช่วงเวลาภายหลังโรคระบาดโควิด การปราบปรามควบคุมภาคเอกชนกำลังกลายเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของพวกนักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยที่ความมั่นอกมั่นใจดังกล่าวนี้คือปัจจัยสำคัญยิ่งยวดสำหรับการฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาในทางเศรษฐกิจของประเทศจีน
เมื่อปีที่แล้ว ปักกิ่งได้เสนอ “แผนปฏิบัติการ 31 ข้อ” (31-point action plan) [15] เพื่อเป็นการตอบโต้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคเอกชน “ใหญ่ขี้น, ดีขึ้น, และแข็งแกร่งขึ้น” ไม่กี่ชั่วโมงหลังแผนการนี้ถูกเสนอออกมา โพนี หม่า ก็ได้กล่าวยกย่องต่อสาธารณชนถึงความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของรัฐบาล โดยระบุว่า เป็นสิ่งที่ “ส่งเสริมสนับสนุนและให้แรงบันดาลใจ” [16]
นี่หมายความว่า ฤดูใบไม้ผลิอันสดใสสำหรับภาคเอกชนของประเทศจีน กำลังจะมาถึงแล้วใช่หรือไม่? บางทีอาจจะเป็นเช่นนั้น ทว่ามันต้องวางอยู่บนเงื่อนไขต่างๆ ของจีนเท่านั้นด้วย
ต้องจดจำไว้ว่า การพัฒนาตลาดคือหนทางหนึ่งสำหรับการที่รัฐจะสามารถบรรลุจุดหมายปลายทางต่างๆ ของรัฐเองเสมอ มันจะไม่มีทางกลายเป็นเรื่องที่ตลาดเติบโตขยายตัวไปเรื่อย ๆ ขณะที่รัฐก็ถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
เหวินทิง เหอ เป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/is-life-getting-better-for-chinas-tech-billionaires-239382
เชิงอรรถ
[1] https://www.bloomberg.com/billionaires/
[2] https://www.reuters.com/investigates/special-report/china-economy-crackdown-tycoons/
[3] https://www.bbc.com/news/technology-56448688
[4] https://www.tencent.com/en-us/about.html
[5] https://gameworldobserver.com/2024/07/15/top-mobile-game-publishers-by-revenue-tencent-scopely
[6]https://english.news.cn/20240824/a351c8bb12074ea2b86c0862b53593a2/c.html
[7] https://theconversation.com/chinese-game-black-myth-wukong-tops-steam-charts-what-does-it-signify-for-the-rest-of-the-gaming-world-237219
[8] https://www.bbc.com/news/technology-58384457
[9] https://www.bbc.com/news/technology-67801091
[10] https://www.cnn.com/2020/10/26/tech/ant-ipo-pricing-hnk-intl/index.html
[11] https://www.ft.com/content/c1ee03d4-f22e-4514-af46-2f8423a6842e
[12] https://www.wsj.com/articles/chinas-ant-group-slapped-with-nearly-1-billion-fine-c6ce791b
[13] https://www.wsj.com/articles/tencent-stresses-regulatory-compliance-as-profits-from-gaming-payments-surge-11616590055
[14]https://www.investopedia.com/articles/investing/081514/socialist-economies-how-china-cuba-and-north-korea-work.asp
[15] https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3228308/can-chinas-new-action-plan-lift-economy-out-deep-rooted-malaise-bring-market-peace-mind?module=inline&pgtype=article
[16]https://www.scmp.com/tech/policy/article/3228347/tencent-billionaire-founder-pony-ma-hails-chinas-new-plan-boost-private-economy-after-tech-crackdown