xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนสำหรับไทย! เยอรมนีเข็ดขยาดสูญสิ้นทรัพยากร แจ้งอียูจะไม่เปิดรับ 'ผู้ลี้ภัย' เพิ่มอีกแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบอร์ลินไม่มีทางเลือกอื่น ยกเว้นแต่ยกระดับการควบคุมชายแดน เนื่องจากรัฐต่างๆ และรัฐบาลกลางสูญเสียทรัพยากรไปกับพวกผู้ลี้ภัยและพวกผู้ขอลี้ภัยจนแทบ "หมดสิ้น" จากคำประกาศของ แนนซี เฟรเซอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี ที่แจ้งกับสหภาพยุโรป (อียู)

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แถลงว่าเยอรมนีจะเริ่มตรวจเช็กพาสปอร์ตตามแนวชายแดนทางบกอีกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยไม่คำนึงถึงข้อตกลงเชงเก้น

ต่อมา หนังสือพิมพ์ แดร์ ชปีเกล รายงานว่า พวกเขาเข้าถึงหนังสือฉบับหนึ่งในวันพุธที่ 11 กันยายน ซึ่งเป็นจดหมายที่ เฟรเซอร์ เขียนถึงคณะกรรมาธิการยุโรป มีใจความว่า "ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถอ้าแขนรับพวกผู้ลี้ภัยในจำนวนที่ไม่มีขีดจำกัด"

ในจดหมายระบุต่อว่า "เยอรมนีกำลังถึงขีดจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของความสามารถในการรองรับ อำนวยความสะดวกและดูแลผู้ลี้ภัย" พร้อมเน้นว่าพวกเขาสูญทรัพยากรทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐ "ไปจนแทบหมดสิ้น" และมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่ระบบสวัสดิการทั่วไปจะแบกรับไม่ไหว

เนื้อหาในจดหมายระบุว่าปริมาณผู้ลี้ภัยขาเข้าประเทศที่มากผิดปกติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเยอรมนีมีความกังวลอย่างยิ่งต่อจำนวนผู้ลี้ภัยที่แตะระดับ 50,000 คน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024

เฟรเซอร์ ยังอ้างว่า ด้วยภัยคุกคามที่มีต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน มันจึงสิ่งจำเป็นที่ต้องกลับมากำหนดมาตรการควบคุมชายแดนอีกครั้ง โดยชี้ถึงเหตุการณ์ใช้มีดไล่แทงผู้คนและอาชญากรรมรุนแรงต่างๆ ที่เกิดจากฝีมือพวกผู้ลี้ภัย ในนั้นรวมถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บ 8 คน เมื่อเดือนที่แล้ว ในเหตุไล่แทงผู้คนในงานเทศกาลหนึ่งในเมืองโซลิงเกน ซึ่งผู้ต้องสงสัยเป็นชาวซีเรีย 26 ปี ที่มีข่าวว่าได้ยื่นขอลี้ภัยในปี 2022

รัฐมนตรีหญิงรายนี้เขียนในจดหมายว่า เยอรมนีความกังวลอย่างยิ่ง "ต่อระเบียบดับลินที่ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก" อ้างถึงกฎเกณฑ์ของอียู ที่ระบุให้ประเทศแรกที่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเดินทางมาถึงต้องรับและดำเนินการกับคำขอลี้ภัย

เวลานี้ เบอร์ลิน กำลังหาทางส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ ในอียูที่อยู่รอบนอก อย่างเช่นบัลแกเรีย กรีซ อิตาลี และโรมาเนีย แต่พวกผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จากบรรดาชาติรอบนอกต่างต้องการมาลงเอยในเยอรมนี สืบเนื่องจากสิทธิประโยชน์สวัสดิการที่เอื้อเฟื้ออารีของประเทศแห่งนี้

แม้พันธมิตรของนายกรัฐมนตรีโชลซ์ ไม่ต้องการปิดช่องทางทั้งหมดสำหรับผู้ลี้ภัย อ้างถึงความกังวลทางกฎหมาย แต่หนึ่งในพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดได้แสดงจุดยืนสนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยชี้ว่า "มันทั้งได้รับอนุญาตทางกฎหมาย และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้กระทั่งความจำเป็นทางการเมืองที่ต้องปิดชายแดน" เฟรดริช เมอร์ซ ผู้นำพรรคซีดียู กล่าวเมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน

(ที่มา : แดร์ ชปีเกล/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น