xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียถูกปล่อยทิ้งให้ระแวงสงสัยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯหวาดกลัวอะไรหรือ จึงหั่นอัตราดอกเบี้ยลงมาอย่างแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิลเลียม เพเซค


ประธานคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ เดินออกมาจากเวที ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมแถลงข่าวที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Asia left to wonder what’s spooking the Fed
by William Pesek
19/09/2024

การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศในวันที่ 18 กันยายน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาทีเดียว 0.5% ซึ่งแรงกว่าที่คาดหมายกันโดยทั่วไป กลายเป็นการจุดประกายให้เกิดการกะเก็งคาดเดากันว่า หรือ เฟด รู้อะไรไม่ค่อยน่าอภิรมย์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทว่ายังไม่ได้พูดออกมา

เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานคณะผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือ Fed เฟด) ต้องรู้สึกโล่งใจทีเดียวในเรื่องปฏิกิริยาของพวกนักลงทุนทั่วโลกต่อการขยับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ เฟด ในรอบระยะเวลากว่า 4 ปี เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) ในการนำของเขา ประกาศหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เฟอเดอรัล ฟันด์ส เรต (Federal Funds Rate) ลงมาคราวนี้รวดเดียว 50 basis-point (หรือ 0.5%) ซึ่งมากกว่าที่คาดหมายกันอยู่ทั่วไป กระนั้น ตลาดการเงินต่างๆ ก็ยอมรับความเคลื่อนไหวนี้ด้วยอาการสงบเอามากๆ

หากทีมงานของเขามีความแน่วแน่ยืนกรานน้อยกว่านี้ โดยหั่นลงมาเพียงแค่ 0.25% เท่านั้น กระแสการคาดเดาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะต้องเริ่มต้นขึ้นมาในทันที

กระนั้นก็ตาม สำหรับที่นี่ในเอเชียแล้ว ถึงยังไงก็ช่วยไม่ได้หรอกที่พวกนักเศรษฐกิจยังคงมีความติดใจสงสัยอยู่นั่นเองว่า พวกเจ้าหน้าที่เฟดนั้นรู้อะไรที่ทางตลาดการเงินทั่วโลกยังไม่รู้หรือเปล่า การปรับดอกเบี้ยทีเดียวครึ่งเปอร์เซนต์ของเฟด จนเวลานี้ลงมาอยู่ที่ช่วง 4.75% ถึง 5% [1] ต้องถือว่าเป็นขนาดที่ปกติแล้วสงวนเอาไว้สำหรับในเวลาเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ ในยามวิกฤตเท่านั้น

เดวิด โรช (David Roche) นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้ก่อตั้ง อินดีเพนเดนต์ สแทรเทจี (Independent Strategy) บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาให้ความเห็นในทำนองนี้ เมื่อเขากล่าวว่า “การหั่นแบบ ‘จัมโบ้’ ครั้งนี้ เป็นเครื่องหมายของการที่เฟดก้าวเดินไปสู่นโยบายการเงินแบบนักประชานิยม” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “มันเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งแน่นอนล่ะ ความยินยอมที่จะเจ็บปวดของตลาดนั้นอยู่ที่ 0 เท่านั้น มันถูกบงการโดยสื่อ ทว่ามันไม่ได้เป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจ (สหรัฐฯ) ซึ่งยังคงอยู่ในภาวะสมดุลเป็นอย่างดี”

กระนั้น สิ่งที่ โรช ยังคงมีความสงสัยข้องใจก็คือ “การตัดสินครั้งนี้ถือว่าฉลาดแล้วใช่หรือไม่ ในเมื่อมันเป็นการที่ เฟด ให้น้ำหนักเน้นย้ำเกินไปมากแก่ภาวะการจ้างงาน เหนือกว่าพวกเป้าหมายทางด้านเงินเฟ้อ มันก่อให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า หรือ เฟด รู้อะไรเกี่ยวกับตลาดแรงงานที่เราไม่รู้ และมันเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า เฟด ให้น้ำหนักแก่การสร้างภาวะสมดุลของอัตราดอกเบี้ย ในระดับที่ต่ำกว่าระดับอันถูกต้องเหมาะสมสำหรับพลวัตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ”

มาร์ก แซนดิ (Mark Zandi) หัวหน้านักเศรษฐกิจของ มูดี้ส แอนะลิติกส์ (Moody’s Analytics) ก็ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดลดดอกเบี้ยในวันพุธ (18 ก.ย.) “รู้สึกว่าเป็นเชิงรุกมากเกินไป ยกเว้นแต่คุณทราบว่าเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มต้นอ่อนแอลงไปยิ่งกว่านี้อย่างสำคัญเท่านั้น”

ขณะที่ ไรอัน สวีต (Ryan Sweet) นักเศรษฐศาสตร์ของ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) สงสัยว่า หรือนี่คือการที่ เฟด กำลังออกมายอมรับในทางเป็นจริงว่า พวกเขาสมควรที่จะหั่นดอกเบี้ยให้เร็วกว่านี้

“เฟดไม่ชอบหรอกที่จะต้องยอมรับว่าเดินนโยบายผิดพลาด แต่บางส่วนของการตัดสินใจที่จะตัดดอกเบี้ยให้มากขึ้นในเดือนกันยายนคราวนี้ น่าที่จะเพื่อวิ่งไล่ให้ทัน (ภาวะเศรษฐกิจ) ในเมื่อธนาคารกลางแห่งนี้พบแล้วว่าพวกเขากำลังอยู่หลังเส้นเคิร์ฟไป 1 นัดประชุม (นั่นคือควรเริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมนัดก่อนเมื่อเดือนกรกฏาคม -ผู้แปล) ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจในเดือนกันยายนนี้ จึงเป็นการเข้าโจมตีแบบมุ่งชิงเป็นฝ่ายลงมือก่อน (preemptive strike) เพื่อเพิ่มแต้มต่อที่ธนาคารกลางแห่งนี้จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ไปสู่ภาวะซอฟต์แลนดิ้ง (soft landing) (1)”

การคำนวณเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้ของ เฟด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องก่อให้เกิดรายงานเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นจำนวนมากในเอเชีย โดยที่ทีมพาวเวลล์เองได้ยอมรับเอาไว้ในคำแถลงที่ออกมาภายหลังการตัดสินใจลดดอกเบี้ยครั้งนี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อนั้นยังคงอยู่ในระดับ “สูงขึ้นเล็กน้อย” เหนือระดับที่ เฟด ถือว่าปลอดภัยสบายใจ นั่นคือ 2% (อัตราเงินเฟ้อที่วัดตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ในเดือนกรกฎาคม สูงขึ้นในอัตราเท่ากับปีละ 2.5% [2])

เหตุผลที่เฟดให้มาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ว่า “ความเสี่ยงที่จะบรรลุถึงเป้าหมายทั้งด้านการจ้างงานและด้านภาวะเงินเฟ้อของเฟด กำลังอยู่ในภาวะสมดุลอย่างคร่าวๆ” มันคงจะฟ้งขึ้นและมีน้ำหนักมากกว่านี้ ถ้าหาก 1 ใน 12 สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการ FOMC ไม่ได้ลงมติแบบคัดค้านเสียงส่วนใหญ่

ทั้งนี้ มิเชล โบว์แมน (Michelle Bowman) สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการผู้ว่าการของเฟด (Federal Reserve Board member) ต้องการให้ลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% นี่ถือเป็นเสียงแตกเสียงแรกของผู้ว่าการ (Fed governor) คนหนึ่งของเฟดนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนว่า ทำไมทีมพาวเวลล์จึงยังคงหั่นดอกเบี้ยถึง 50 basis points ขณะเดียวกันก็พยายามทำให้ตลาดทั่วโลกเชื่อใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านของอเมริกันยังคงดำเนินไปได้ดี

คณะผู้ว่าการทั้ง 7 คนของธนาคารกลางสหรัฐฯ  ผู้ว่าการ มิเชล โบว์แมน คือคนที่ 2 จากขวา
ในเอเชีย ความสนใจเวลานี้กำลังหันไปทางโตเกียว โดยในวันพฤหัสบดี (19 ก.ย.) ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan หรือ BOJ) มีกำหนดเริ่มต้นการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วัน (2) ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา BOJ ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับสูงสุดของตัวเองนับตั้งแต่ปี 2008 –นั่นคือมาอยู่ที่ 0.25% สำหรับในสัปดาห์นี้ เป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า แบงก์ชาติญี่ปุ่นจะปล่อยดอกเบี้ยเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากข้อมูลทางเศรษฐกิจส่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในอาการสะดุดติดขัดในช่วงเวลาต่อไปข้างหน้า

สำหรับพวกนักเศรษฐศาสตร์แล้ว เกมที่จะต้องเล่นกันในตอนนี้ก็คือการวิเคราะห์ถ้อยคำภาษาที่ BOJ ใช้ เพื่อหาร่องรอยใดๆ ที่อาจจะมี เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเพื่อดันดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีกในระยะต่อไปของปีนี้ หากได้กลิ่นแม้เพียงแค่จางๆ ของการเตรียมขยับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่งแล้ว มันก็น่าจะส่งผลทำให้ค่าเงินเยนพุ่งทะลุฟ้าได้ทีเดียว

การที่เงินเยนกระโจนพรวดขึ้นไปคร่าวๆ ราวๆ 6% [3] นับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ กำลังทำให้เกิดความหวาดระแวงอย่างแท้จริงขึ้นมาในตลาดทั้งหลายของแถบเอเชีย ดังนั้น ถ้าหากมีสัญญาณที่ส่อแสดงว่า คาซุโอะ อุเอดะ (Kazuo Ueda) ผู้ว่าการ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่งในปีนี้ มันก็น่าจะทำให้เกิดการปิดสถานะ (unwind) การซื้อขายที่นิยมกันในตลาดการเงิน ที่เรียกกันว่า “เยน แคร์รี เทรด” (yen-carry trade) กันอย่างขนานใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ในทุกหนทุกแห่ง

ทั้งนี้ ระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา การที่ญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้อยู่ที่ระดับ 0% มาโดยตลอด ได้ปรับเปลี่ยนฐานะของญี่ปุ่นให้กลายเป็นชาติเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพนี้ เนื่องจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกกองทุนเพื่อการลงทุนทั้งหลายมีความนิยมทำ yen-carry trade กล่าวคือทำการกู้ยืมในสกุลเยนซึ่งดอกเบี้ยถูกเหลือเกิน [4] แล้วนำไปวางเดิมพันลงทุนต่อกับพวกสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าทั้งหลายแหล่ในตลอดทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ดี เมื่อการซื้อขาย yen-carry trade กลายเป็นหนึ่งในการซื้อขายที่มีผู้เข้าไปร่วมวงหนาแน่นคับคั่งที่สุดในโลก มันก็กลายเป็นหนึ่งในจุดอ่อนเปราะที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งว่าจะเกิดการปรับฐาน (correction) ไปด้วย ในสภาพการณ์เช่นนี้ ความเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างฉับพลันของเงินเยน สามารถส่งผลกระทบกระเทือนอย่างหนักหน่วงต่อตลาดการเงินในทุกหนทุกแห่ง

ทิศทางของนโยบายการเงินเฟด ถือเป็นปัจจัยผันแปรที่ทรงความสำคัญที่สุดพอๆ กันกับภาวะเศรษฐกิจของจีน [5] ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่กำลังอยู่ในอาการชะลอตัวในเวลานี้ ดังนั้นการที่ ณ กองบัญชาการใหญ่ของ เฟด เอง กำลังทำท่าดูเหมือนเกิดความแตกร้าวขึ้นมาเช่นที่กล่าวไว้ข้างต้น มันก็ยิ่งทำให้เกิดการจับตาจ้องมองมากขึ้นเป็นพิเศษ

โรเบิร์ต แคปลัน (Robert Kaplan) อดีตประธานธนาคารเฟดสาขาดัลลัส (Dallas Fed President) แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กับสื่อ CNBC ว่า “ผมเดาเอาว่าพวกเขากำลังแตกแยกกัน” และกล่าวต่อไปว่า “ยังมีคนอื่นๆ บางคนในที่ประชุม (FOMC) ซึ่งรู้สึกเหมือนกับผม นั่นคือพวกเขากำลัง (ขยับลดดอกเบี้ย) สายไปหน่อย และพวกเขาต้องการที่จะวิ่งไล่แซง (ภาวะเศรษฐกิจ) ไปเลย โดยไม่ปรารถนาที่จะต้องใช้ช่วงเวลาในฤดูใบไม้ร่วงไปในการไล่ตามให้ทันความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ แต่ก็จะมีคนอื่นๆ (ใน FOMC) ที่เน้นมุมมองในเรื่องต้องสนใจการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งต้องการเน้นแต่เรื่องให้มีความระมัดระวังกันให้มากขึ้น”

ไม่ว่ายังไง การที่ เฟด ในการนำของพาวเวลล์ ตัดสินใจลดดอกเบี้ยแรงครั้งนี้ ก็ถูกมองเป็นความเสี่ยงอยู่ดี ในแง่ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯกำลังนำเอาเรื่องภาพลักษณ์ในสายตาสาธารณชน มาอยู่เหนือการวางนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างสุขุมรอบด้าน

ดังที่ ซีมา ชาห์ (Seema Shah) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับทั่วโลก ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ พรินซิพอล แอสเสต แมเนจเมนต์ (Principal Asset Management) บอกว่า “สำหรับเฟดแล้ว มันกลายเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่า แบบไหนจะมีความเสี่ยงอย่างสำคัญมากกว่ากัน ระหว่างการจุดชนวนให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกรอบหนึ่ง ด้วยการที่พวกเขาหั่นดอกเบี้ยลงมา 50 basis points กับการเผชิญกับภัยคุกคามจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถ้าหากพวกเขาหั่นเพียงแค่ 25 basis points คราวนี้เนื่องจากพวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วในเรื่องการตอบโต้กับวิกฤตด้านเงินเฟ้ออย่างเชื่องช้าเกินไป เฟดจึงน่าที่จะเฝ้าระวังกับการถูกมองว่าคอยแต่เป็นฝ่ายรับ มากกว่าห่วงพะวงกับการถูกมองว่าเป็นฝ่ายรุกอย่างแข็งขัน ในการจัดการกับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

เป็นความจริงทีเดียว เฟดในการนำของพาวเวลล์ เรียกความสงสัยข้องใจได้อย่างมากมาย สืบเนื่องจากหนทางวิธีการของพวกเขาในอดีตที่ผ่านมา ที่พวกเขาก้มศีรษะให้แก่ข้อพิจารณาทางการเมือง

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เป็นผู้เลือกให้ พาวเวลล์ ขึ้นนั่งเป็นประธานคณะผู้ว่าการของเฟด อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากเขาขึ้นกุมบังเหียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 พาวเวลล์ก็เผชิญกับกระแสเชี่ยวกรากแห่งความต้องการของทรัมป์ที่กดดันให้เฟดยุติการขยับขึ้นดอกเบี้ยและหันมาให้ความสำคัญกับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทรัมป์กระทั่งตั้งท่าที่จะปลดพาวเวลล์ทีเดียว ซึ่งเป็นการคุกคามอย่างไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนต่อความเป็นอิสระของเฟด

ครั้นแล้วในปี 2019 เฟดในการนำของพาวเวลล์ได้เริ่มต้นการตัดลดดอกเบี้ย มีการอัดฉีดสภาพคล่องใหม่ๆ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจซึ่งไม่ได้ต้องการมันเลย นั่นกระทั่งทำให้สหรัฐฯอยู่ในสภาพที่อ่อนไหวง่ายมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ เมื่อเจอกับภาวะเงินเฟ้อในยุคหลังโรคระบาดโควิด

จากนั้น เฟดในการนำของพาวเวลล์ ยังผิดพลาดอีกครั้งในปี 2021 [6] โดยพยายามโต้แย้งว่าภาวะเงินเฟ้อในขณะนั้นเป็นเพียง “ระยะผ่าน” ชั่วคราว เพื่ออธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงชะลอการขยับขึ้นดอกเบี้ย และแล้วในปี 2022 เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งไล่ตามให้ทันในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ในการต่อสู้กับระดับราคาที่ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ มันจึงนำไปสู่การที่เฟดใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวมาก จนกลายเป็นวงจรแห่งการเข้มงวดนโยบายที่รุนแรงที่สุดของเฟด นับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาทีเดียว

ในระหว่างนั้นเอง ยอดหนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯได้ทำสถิติทะลุระดับ 35 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่การแยกขั้วแบ่งข้างทางการเมืองในวอชิงตันกลายเป็นเชื้อเพลิงสร้างความหวาดกลัว เมื่อพวกนักการเมืองมีความก๋ากั่นท้าทายความใจถึงของฝ่ายปรปักษ์กันเพิ่มขึ้นทุกที ในเรื่องจะยินยอมอนุมัติงบประมาณให้รัฐบาลหรือไม่ ขณะเส้นตายที่อาจต้องชัตดาวน์หยุดการทำงานของหน่วยราชการกำลังขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สำหรับการที่ เฟด ลดดอกเบี้ยแรงในคราวนี้ซึ่งหมายถึงเน้นหนักการกระตุ้นเศรษฐกิจ ย่อมเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งให้ผลดีแก่ฝ่ายทำเนียบขาวของโจ ไบเดน-กมลา แฮร์ริส [7] ขณะสหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้

กระนั้นก็ตามที ดรามาแห่งความไม่ลงรอยกันที่เกิดขึ้นภายในขบวนแถวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ เฟด ก็อาจกลายเป็นเมฆหมอกบดบังทิศทางอนาคตของนโยบายการเงินอยู่ดี อย่างที่ แบรด ดีลอง (Brad DeLong) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ชี้เอาไว้ว่า โบว์แมนนั้นเติบโตขึ้นมาจากภูมิหลังของการทำงานในแวดวงการธนาคารระดับชุมชนท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ เสียงค้านไม่เห็นด้วยของเธอ จึง “มีคุณค่าควรแก่การรู้สึกประหลาดใจ” ขณะที่ทีมพาวเวลล์เดินหน้าเล่นเกมใหญ่เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.)

“ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา มีผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของประธานเพียงแค่ 6 ครั้ง ที่เป็นเสียงคัดค้านจากผู้ว่าการเฟด (Fed Governor) คนอื่นๆ อีก 6 คนที่เหลือ เปรียบเทียบกับการออกเสียงไม่เห็นด้วยอีก 71 ครั้งซึ่งมาจากพวกประธานธนาคารเฟดสาขาภูมิภาค (Fed bank president) ซึ่งมีผู้มีสิทธิออกเสียงแบบหมุนเวียนกันใน FOMC จำนวน 5 คน” (3) ดีลอง ตั้งข้อสังเกต และกล่าวต่อไปว่า “มีธรรมเนียมการปฏิบัติที่ยึดถือกันเหนียวแน่นมากว่า ผู้ว่าการคนอื่นๆ ต้องออกเสียงเห็นด้วยกับประธาน เพื่อหลีกเลี่ยงการที่อาจถูกโจมตีได้ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของเฟด สืบเนื่องจากความเป็นได้ที่ว่า ประธานธนาคารเฟดภูมิภาคซึ่งตามกฎหมายถือว่ามีฐานะเป็นนายธนาคารภาคเอกชน จะลงคะแนนโหวตที่กลายเป็นตัวตัดสินสิ่งที่จะกลายเป็นนโยบายสำคัญยิ่งของรัฐบาล”

ยิ่งไปกว่านั้น ดีลองชี้ว่า “เท่าที่ผ่านมา มีผู้ว่าการที่เป็นฝ่ายค้านไม่เห็นกับประธาน โดยมีแนวความคิดแบบสายเหยี่ยวเพียงคนเดียวเท่านั้น -จวบจนกระทั่งถึงตอนนี้ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมีอยู่ว่าการแสดงความไม่เห็นของพวกผู้ว่าการ พึงกระทำเพียง‘ในสถานการณ์สุดโต่ง’ (in extremis) เท่านั้น เมื่อพวกเขาคิดว่าศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของคณะกรรมการ FOMC ไม่ได้สนใจกับความเสี่ยงในด้านการจ้างงานอย่างเคร่งครัดจริงจังเพียงพอ”

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการออกเสียงค้านของผู้ว่าการ โบว์แมน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่ยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ จึงต้องถือว่า “แปลกประหลาดอย่างเตะตามาก” ดีลอง กล่าว พร้อมอธิบายต่อไปว่า “พวกที่ครองที่นั่งผู้ว่าการในคณะกรรมการผู้ว่าการของเฟด ซึ่งมีลักษณะเป็นนายแบงก์ของชุมชนขนาดเล็กๆ แบบเธอนั้น มีน้อยนักที่จะแสดงตัวเป็นผู้อยู่ตรงขอบนอกซึ่งแตกต่างจากคนอื่นๆ ใน FOMC และวางตัวเป็นพวกสายเหยี่ยวในเรื่องอัตราดอกเบี้ย [8] ทั้งนี้สืบเนื่องจากประสบการณ์ในช่วงชีวิตของการทำหน้าที่เป็นนายแบงก์ในระดับชุมนุมท้องถิ่น หมายความว่าพอร์ตโฟลิโอแบบฉบับในเชิงสถาบันของพวกเขาเหล่านี้ มีแรงขับดันจากการพิจารณาว่าการผ่อนคลายนโยบายย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องชดใช้ ซึ่งโดยสาระสำคัญคือทำให้ต้องมีการบาดเจ็บเดือดร้อนในเวลาเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น เป็นสิ่งที่แน่นอนทีเดียวว่าผมไม่ได้มองเธอในฐานะเป็นเหยี่ยวเงินเฟ้อที่ยืนอยู่ตรงขอบนอกของ FOMC หรอก”

ภาพการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ปกติแล้ว FOMC ประชุมกันปีละ 8 ครั้ง แต่ละครั้งประชุมกัน 2 วัน  ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียง มีด้วยกัน 12 คน ได้แก่ สมาชิกคณะผู้ว่าการทั้ง 7 คน, ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯภูมิภาค สาขานิวยอร์ก, และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯภูมิภาคที่เหลืออีก 11 คนซึ่งจะมีระบบหมุนเวียนกันเป็นสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงคราวละ 4 คน โดยที่ผู้ไม่มีสิทธิออกเสียง ยังคงเข้าร่วมการประชุม
กล่าวสำหรับพวกผู้วางนโยบายในเอเชียแล้ว นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขากำลังถูกทอดทิ้งให้เฝ้าสงสัยข้องใจว่า สิ่งที่เฟดในการนำของพาวเวลล์กำลังมองเห็น แต่พวกเขายังมองไม่เห็นนั้นคืออะไร คล้ายๆ กับที่ ทอร์สเทน สลอค (Torsten Slok) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ อะพอลโล โกลบอล แมเนจเมนต์ (Apollo Global Management.) พูดเอาไว้ว่า “ทั้งๆ ที่ผลการสำรวจต่างๆ กำลังแสดงให้เห็นว่า มีความคิดเห็นอย่างเป็นฉันทามติซึ่งคาดหมายว่าจะเกิดซอฟต์แลนดิ้งขึ้นมาได้ ทว่าอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ของตลาดต่างๆ กลับยังคงอยู่ในระดับราคาสำหรับรับมือกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบเต็มพิกัด”

การที่ แบงก์ อินโดนีเซีย (Bank Indonesia) ธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซีย ประกาศตัดลดดอกเบี้ยลงมาแบบสร้างเซอร์ไพรซ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเครื่องเตือนใจประการหนึ่งว่า พวกระบบเศรษฐกิจในเอเชียนั้นอยู่ตรงตำแหน่งเส้นแนวหน้าที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจทางนโยบายของเฟด

ระหว่างช่วงกลางวันตามเวลาทางเอเชียเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) ซึ่งก็คือกระทั่งก่อนหน้าที่ แบงก์ อินโดนีเซีย ได้ทราบว่าเฟดมีความเคลื่อนไหวอะไรบ้างด้วยซ้ำ ทางพวกผู้วางนโยบายในจาการ์ตาก็ประกาศหั่นลดอัตราดอกเบี้ยขายคืนพันธบัตรกลับสู่ตลาดการเงิน (reverse repurchase rate) แบบระยะเวลา 7 วันลงมา 25 basis points จนเหลือ 6% ถือเป็นก้าวแรกของการผ่อนคลายนโยบายนับตั้งแต่ต้นปี 2021 เป็นต้นมา

เปอร์รี วาร์จิโย (Perry Warjiyo) ผู้ว่าการแบงก์ อินโดนีเซีย พูดอธิบายเหตุผลเอาไว้ว่า เวลานี้ “ทิศทางอัตราดอกเบี้ย เฟอเดอรัล ฟันด์ส เรต กำลังชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ค่าเงินสกุลรูเปียะห์ (ของอินโดนีเซีย) กำลังค่อนข้างมีเสถียรภาพ และกระทั่งแข็งแรงขึ้นทุกที”

อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงมีอยู่ว่าตลาดทั่วโลกสามารถคาดหวังความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันนี้จากพวกระบบเศรษฐกิจของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ด้วยหรือไม่ “เรื่องนี้หากเกิดขึ้นมาจะเพิ่มเสน่ห์ความน่าสนใจของอาเซียน” นีร์กุนัน ตีรุเชลวัม (Nirgunan Tiruchelvam) นักวิเคราะห์ของ อะเลเธเอีย แคปิตอล (Aletheia Capital) บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในเอเชีย บอกกับสื่อบลูมเบิร์ก “อาเซียนโดยรวมและโดยเฉพาะอินโดนีเซีย มีความโดดเด่นในเรื่องสภาพแวดล้อมของการตัดลดดอกเบี้ยรอบนี้ ภูมิภาคนี้ถือเป็นที่หลบภัยได้แห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากมีการเปิดกว้างกับเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์, ผู้บริโภคมีการฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว, และเงินปันผลก็อยู่ในระดับสูง ในอดีตที่ผ่านมา ในรอบการหั่นลดดอกเบี้ยเมื่อปี 2007 ถึงปี 2009 อาเซียนก็มีผลประกอบการที่โดดเด่นในหมู่ภูมิภาคเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน”

ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งสำหรับให้พวกเทรดเดอร์ในศูนย์กลางการเงินระดับท็อปแห่งต่างๆ ทั่วโลก เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า เฟด กำลังมุ่งหน้าจากตรงนี้ไปที่ไหน แน่นอนล่ะ ความหวังที่มีกันอยู่ก็คือ สิ่งที่พูดกันว่าสหรัฐฯจะสามารถทำซอฟต์แลนดิ้งได้นั้น จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา

“ภาวะเงินเฟ้อดูเหมือนอยู่ในเส้นทางที่จะออกมาต่ำกว่าสิ่งที่ FOMC เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนมิถุนายน และตัวเลขที่สูงขึ้นจนถูกจับตามองกันในตอนต้นปีนี้นั้น ดูแล้วมีโอกาสมากขึ้นทุกทีที่มันเป็นผลตกค้างจากปัจจัยของช่วงฤดูกาล มากกว่าเป็นการกลับมาเร่งตัวอีกรอบหนึ่ง” ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ระบุเช่นนี้ในบทวิเคราะห์สั้นชิ้นหนึ่ง “ด้วยเหตุนี้ ธีมสำคัญธีมหนึ่งของการประชุม FOMC ก็จะเป็นการปรับเปลี่ยนโฟกัสไปที่เรื่องความเสี่ยงของตลาดแรงงาน [9] ”

เจสัน ดราโฮ (Jason Draho) หัวหน้าส่วนการกระจายสินทรัพย์ ของ ยูบีเอส ไฟแนนเชียล เซอร์วิเซส (UBS Financial Services) ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาว่า “เมื่อไหร่พวกนักลงทุนจึงจะคิดว่า เฟด สามารถนำหน้าเส้นเคิร์ฟแล้ว และดำเนินการอย่างริเริ่มกระตือรือร้นในการใช้สิทธิ์เพื่อขาย “put” ออปชั่นของพวกเขา? นี่คือคำถามข้อสำคัญที่สุด เพราะพวกนักลงทุนกำลังถามคำถามนี้กันอยู่แล้วโดยปริยาย –อีกทั้งกำลังวาดหวังที่จะได้เห็นผลลัพธ์เช่นนี้—มาอย่างยาวนานตลอดทั้งฤดูร้อนที่ผ่านมาทีเดียว”

แน่นอนว่ายังจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่เอเชียจะรู้ว่า เฟด จะดึงอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำถึงขนาดไหน แต่จากการที่เฟดลดดอกเบี้ยแบบแข็งขันหนักแน่นในสัปดาห์นี้ ก็จะทำให้พวกวางนโยบายเกิดความกังวล และกำลังเตรียมตัวรับมือกับความเคลื่อนไหวอันห้าวหาญยิ่งขึ้นกว่านี้อีก

เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2024/09/what-feds-robust-rate-cut-means-for-us-presidential-election/
[2] https://www.fxstreet.com/news/us-cpi-data-set-to-show-inflation-declining-further-towards-2-target-in-august-202409110443
[3] https://www.bloomberg.com/quote/USDJPY:CUR
[4] https://asiatimes.com/2024/08/carry-trades-and-financial-crises/
[5] https://asiatimes.com/2024/08/avalanche-alert-china-may-dump-dollars-when-fed-eases-rates/
[6] https://asiatimes.com/2021/11/jerome-powell-keeps-his-job-at-the-fed/
[7] https://asiatimes.com/2024/09/trump-missed-chance-to-call-out-harris-on-inflation/
[8] https://asiatimes.com/2024/09/why-king-dollar-could-scoff-at-fed-rate-cuts/
[9] https://asiatimes.com/2024/09/us-rate-cut-no-cure-all-for-asias-woes-and-ills/

หมายเหตุผู้แปล
(1) ซอฟต์แลนดิ้ง (soft landing) ในวงจรธุรกิจ หมายถึงกระบวนการที่เศรษฐกิจปรับเปลี่ยนจากช่วงเติบโต มาเป็นช่วงเติบโตชะลอตัว หรือกระทั่งไม่เติบโตเลย ทว่าสามารถหลีกเลี่ยงการติดลบหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ความสำเร็จของการหลบหลีกเช่นนี้ปกติแล้วมักมีสาเหตุจากความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลในการชะลออัตราเงินเฟ้อ
ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Soft_landing_(economics)

(2) ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาแถลงในวันศุกร์ (20 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25% ตามเดิม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/markets/asia/boj-keep-policy-steady-signal-more-rate-hikes-come-2024-09-19/#:~:text=The%20BOJ%20ended%20negative%20interest,core%20inflation%20numbers%20for%20Japan.

(3) โครงสร้างของธนาคารกลางสหรัฐฯนั้น ประกอบด้วยผู้บริหารหลายชั้นซ้อนกันอยู่ กล่าวคือ มี คณะกรรมการผู้ว่าการ (Board of Governors of the Federal Reserve System หรือ Federal Reserve Board) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 7 คน ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา โดย 1 ในนั้นจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะผู้ว่าการ อีก 1 คนเป็นรองประธาน

แล้วก็มีสาขาธนาคารกลางสหรัฐฯในส่วนภูมิภาค รวม 12 แห่ง ตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำหน้าที่จัดระเบียบและกำกับตรวจสอบพวกธนาคารพาณิชย์ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของภายในภูมิภาคของตน

สำหรับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ FOMC มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 12 คน ได้แก่ สมาชิกทั้ง 7 คนในคณะกรรมการผู้ว่าการ, ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์ก president of the Federal Reserve Bank of New York, และอีก 4 คนมาจาก ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาภูมิภาค 11 คนที่เหลืออยู่ โดยคัดเลือกให้เข้ามานั่งใน FOMC ในลักษณะหมุนเวียนกันคราวละ 4 คน ที่นั่งหมุนเวียนทั้ง 4 ที่นี้มาจากการรวม 11 สาขาภูมิภาคของธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบอสตัน ฟิลาเดลเฟีย และ ริชมอนด์, กลุ่มคลิฟแลนด์ และชิคาโก, กลุ่มแอตแลนตา เซนต์หลุยส์ และ ดัลลัส, และกลุ่มมินนีอาโปลิส แคนซัสซิตี้ และซานฟรานซิสโก โดยที่ประธานของสาขาธนาคารกลางสหรัฐฯที่ไม่มีสิทธิออกเสียง ยังคงเข้าร่วมการประชุมของ FOMC เข้าร่วมการอภิปราย และเข้าร่วมแสดงความเห็นในการประเมินภาวะเศรษฐกิจตลอดจนทางเลือกด้านนโยบายของ FOMC
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/fomc.htm#:~:text=The%20rotating%20seats%20are%20filled,Kansas%20City%2C%20and%20San%20Francisco. และ https://en.wikipedia.org/wiki/Federal_Reserve)
กำลังโหลดความคิดเห็น