คณะกรรมการการเลือกตั้งศรีลังกาประกาศให้ อนุรา กุมารา ดิสซานายาเก (Anura Kumara Dissanayake) นักการเมืองผู้นิยมแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อวันอาทิตย์ (22 ก.ย.) ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะเข้ามาปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และฟื้นฟูเศรษฐกิจศรีลังกา หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี
ดิสซานายาเก วัย 55 ปี ไม่ได้มาจากตระกูลนักการเมืองทรงอิทธิพลใดๆ แต่จากผลการนับคะแนนพบว่าเขาได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนนำโด่งคู่แข่งอย่างประธานาธิบดี รานิล วิกรมสิงเห และซาจิต เปรมาเดซา ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านมาตั้งแต่เริ่มต้น ในศึกเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา
"เราเชื่อว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศนี้ได้ เราสามารถสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและก้าวเดินไปข้างหน้า สำหรับผมนี่ไม่ใช่แค่การคว้าตำแหน่ง แต่เป็นความรับผิดชอบ" ดิสซานายาเก ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังทราบผลการนับคะแนนรอบ 2 ซึ่งยืนยันว่าเขาคือผู้ชนะ
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังถือเป็นผลประชามติสำหรับประธานาธิบดี วิกรมสิงเห ซึ่งพยายามนำพาประเทศที่มีหนี้สินท่วมท้นให้ค่อยๆ ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจล้มละลาย หากแต่มาตรการรัดเข็มขัดเข้มข้นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจกลับยิ่งทำให้ชาวศรีลังการู้สึกไม่พอใจ และส่งผลให้ วิกรมสิงเห ได้คะแนนโหวตมาเป็นลำดับที่ 3 เพียงแค่ 17% เท่านั้น
วิกรมสิงเห วัย 75 ปี ออกมาแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ โดยบอกกับว่าที่ผู้นำคนใหม่ว่า "ท่านประธานาธิบดี วันนี้ผมขอส่งมอบบุตรที่รักนามว่า ศรีลังกา ซึ่งเราต่างรักและหวงแหน ให้ท่านเป็นผู้ดูแลต่อไป"
ดิสซานายาเก ได้รับคะแนนโหวต 5.6 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 42.3% ของทั้งหมด ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากตัวเลข 3% ที่เคยได้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2019 ในขณะที่ เปรมาดาซา ได้คะแนนเป็นลำดับสอง 32.8%
นี่ยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของศรีลังกาที่ต้องมีการนับคะแนนรอบ 2 ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี เนื่องจากผู้สมัครซึ่งได้คะแนนมากที่สุด 2 อันดับแรกต่างก็ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ 50% สำหรับการถูกประกาศให้เป็นผู้ชนะในทันที
คณะกรรมการการเลือกตั้งศรีลังการะบุว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึง 75% จากจำนวนประชาชนมีผู้สิทธิเลือกตั้ง 17 ล้านคน
นี่คือศึกเลือกตั้งครั้งแรกในศรีลังกานับตั้งแต่ประเทศแห่งนี้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงในปี 2022 เนื่องจากขาดแคลนทุนสำรองต่างประเทศจนไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นต่างๆ เช่น เชื้อเพลิง ยารักษาโรค และก๊าซหุงต้ม ซึ่งเหตุประท้วงที่ตามมาทำให้ประธานาธิบดี โคฐาภยะ ราชปักษะ ผู้นำในขณะนั้นต้องหลบหนีออกนอกประเทศและยอมลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ดิสซานายาเก ประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนศรีลังกาที่รับไม่ได้กับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวด ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขอกู้เงิน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเขาให้สัญญาว่าจะยุบสภาภายใน 45 วันหลังสาบานตนรับตำแหน่ง เพื่อขออาณัติจากประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายผ่านศึกเลือกตั้งทั่วไป
ดิสซานายาเก เคยสร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนด้วยการประกาศนโยบายลดภาษี ซึ่งอาจกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินที่ IMF กำหนดไว้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่าในช่วงรณรงค์หาเสียงเขาได้ออกมาผ่อนจุดยืนดังกล่าวลง โดยยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ จะต้องปรึกษาหารือกับ IMF ก่อน และตัวเขาเองมุ่งมั่นที่จะทำให้ศรีลังกามีศักยภาพในการชำระหนี้
ที่มา : รอยเตอร์