xs
xsm
sm
md
lg

‘ยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทำสงคราม’เริ่มต้นขึ้นแล้ว จากการที่อิสราเอลใช้ ‘เพจเจอร์-วอล์คกี้ทอล์คกี้ มรณะ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: มาร์ก เลซี


เครื่องเพจเจอร์แบบต่างๆ ตั้งแสดงอยู่ที่ห้องประชุมห้องหนึ่งในอาคารบริษัทโกลด์ อะพอลโล ในนครนิวไทเปซิตี้, ไต้หวัน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2024  โกลด์ อะพอลโล แถลงว่าไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งเพจเจอร์ที่กลายเป็นระเบิดมรณะ ขณะที่การสืบสวนติดตามของสื่อบางแห่ง สันนิษฐานว่ามันอาจถูกผลิตและแอบสอดวัตถุระเบิดเอาไว้ที่ยุโรปตะวันออก
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The weaponization of everything has begun
by Mark Lacy
20/09/2024

เมื่ออิสราเอลเปลี่ยนเครื่องมือติดต่อสื่อสารและข้อมูลข่าวสารประจำวัน ให้กลายเป็นอาวุธสังหารผลาญชีวิต ยุคสมัยใหม่แห่งความหวาดระแวงและความหวาดกลัวก็ถือกำเนิดขึ้นมา

การโจมตีด้วยระเบิดเพจเจอร์ และวอล์คกี้ทอล์คกี้ ( และเป็นไปได้ว่ากระทั่งแผงโซล่าเซลล์ด้วย [1]) ในเลบานอน เป็นหนึ่งในพวกเหตุการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากเคยคาดเก็งกันเอาไว้ว่าคงจะเกิดขึ้นมาในไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งก็คือ การที่บรรดาวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวันถูกนำมาใช้ทำให้กลายเป็นอาวุธไปหมด ในการสู้รบขัดแย้งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21

ที่ผ่านมา บางทีอาจจะยังมีผู้คนที่คิดว่า “กระบวนการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นอาวุธ” (weaponization of everything) เช่นนี้ – อย่างที่นักวิเคราะห์ทางด้านความมั่นคง มาร์ก แกเลออตติ (Mark Galeotti) เสนอเอาไว้ [2] — เป็นเพียงท้องเรื่องฝันเฟื่องที่บรรจุอยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด หรือ บรรจุอยู่ในเรื่องแต่งเกี่ยวกับอาชญากรรมเขย่าขวัญในโลกอนาคตแสนมืดมนของพวกนักเขียนไซเบอร์พังค์เท่านั้น

ในความเห็นของพวกเขาเหล่านี้ การนำเอาเพจเจอร์หรือโทรศัพท์มือถือมาดัดแปลงปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นอุปกรณ์ระเบิด บางทีอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เมื่อพิจารณาจากแง่มุมทางเทคโนโลยีหรือทางลอจิสติกส์ ทว่ามันเป็นฉากทัศน์ประเภทที่มีแต่พวกเป็นโรคหวาดระแวงอย่างสุดขั้วเท่านั้นแหละจะคิดว่ามันสามารถกลายเป็นความจริงขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ตอนนี้มันได้เกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว และมันได้คร่าชีวิตผู้คนไป 37 คน [3] แถมทำให้คนบาดเจ็บอีกหลายพัน อีกทั้งยังได้สร้างความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะสะดุดติดขัดทางองค์กร (organizational disruption) ซึ่งสามารถกลายเป็นความวิบัติหายนะ

ภาพที่ถ่ายจากคลิปวิดีโอซึ่งมีผู้โพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2024 แสดงให้เห็นว่าเกิดการระเบิดขึ้นและชายผู้หนึ่งกำลังล้มลงกองกับพื้น (ด้านซ้ายของภาพ) ภายในอาคารตลาดขายผักผลไม้แห่งหนึ่งที่กรุงเบรุต  ในช่วงเวลาที่เครื่องเพจเจอร์หลายพันเครื่องซึ่งพวกสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้งานอยู่ในเลบานอน ถูกจุดชนวนบึ้มขึ้นมาพร้อมๆ กัน โดยสันนิษฐานกันว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

รถพยาบาลหลายคันเดินทางถึงที่เกิดเหตุในบริเวณชานเมืองตอนใต้ของกรุงเบรุตเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2024 หลังมีผู้แจ้งเหตุเกิดการระเบิดของเครื่องวิทยุสื่อสารระยะใกล้ หรือ วอล์คกี้ทอล์คกี้ ระหว่างการจัดพิธีศพของผู้คนที่ถูกสังหาร เนื่องจากเหตุระเบิดจากเครื่องเพจเจอร์ในวันก่อนหน้า (17 ก.ย.)
ความสามารถที่จะติดต่อสื่อสารในตลอดทั่วทั้งกองทัพของคุณ หรือในตลอดทั่วทั้งเครือข่ายผู้ก่อการร้ายของคุณ ถือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานเสมอมาสำหรับการดำเนินสงคราม โดยที่ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร –และการติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว— กำลังกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ขณะที่ขนาดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของสงครามกำลังขยายตัวออกไป

องค์การหนึ่งๆ จำเป็นที่จะต้องสามารถไว้วางใจได้ว่าเครื่องมือติดต่อสื่อสารต่างๆ ของตนมีความเชื่อถือได้พึ่งพาอาศัยได้ องค์การหนึ่งๆ จำเป็นที่จะต้องสามารถไว้วางใจได้ว่าผู้คนที่พวกเขากำลังพูดจาด้วยเป็นผู้คนตัวจริง ไม่ใช่ตัวปลอม (หรือเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีเอไอ -เรื่องนี้คือความกลัวที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี ดีพเฟคส์ deep fakes ซึ่งสามารถใช้เอไอสร้างคลิปวิดีโอที่ตัวบุคคลในคลิปถูกตกแต่งปลอมแปลงรูปโฉมหน้าตา หรือถูกตกแต่งให้แสดงพฤติกรรมที่ตัวจริงของเขาไม่ได้กระทำ)

เหล่าสมาชิกขององค์การยังจำเป็นต้องหาหนทางวิธีการที่จะทำให้เกิดความแน่ใจว่า พวกเขาไม่ได้กำลังถูกแอบดักฟัง –อันเป็นความกลัวที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอในยุคสมัยที่เครื่องมือสำหรับการติดต่อสื่อสารมีการวิวัฒนาการในเรื่องพลังอำนาจและความสลับซับซ้อนของพวกมันไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง

ด้วยเหตุนี้เอง องค์การใดๆ ก็ตามทีในยุคศตวรรษที่ 21 จึงต้องรู้สึกหวาดระแวงเกี่ยวกับภัยคุกคามของการสะดุดติดขัดทางดิจิตอล ตลอดจนหวาดระแวงเกี่ยวกับหนทางวิธีการต่างๆ หลายหลากที่ข้อมูลข่าวสารและการติดต่อสื่อสาร อาจจะถูกโจรกรรม, ถูกติดตามแกะรอย, และถูกทำให้เสื่อมทรามเลวร้าย, หรือถูกบงการถูกฉวยใช้ประโยชน์

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องมือเพื่อการติดต่อสื่อสารและเครื่องมือแห่งข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวัน ให้กลายเป็นอาวุธขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องถือว่าถึงขั้นก่อให้เกิดความหวาดระแวงและความหวาดกลัวประเภทใหม่ขึ้นมาแล้ว

เราควรที่จะวิตกกังวลมากน้อยแค่ไหน?

มีผู้คนจำนวนมากที่จะเสนอเหตุผลเพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นกันในเลบานอน จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในย่านพำนักอาศัยใกล้ๆ ตัวคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ออเดรย์ เคอร์ธ โครนิน (Audrey Kurth Cronin) ผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี (Institute for Strategy & Technology) ณ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ในสหรัฐฯ เพิ่งเสนอความคิดเห็น [4] ว่า หนึ่งในความท้าทายด้านความมั่นคงใหญ่โตที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ก็คือความเป็นไปได้ที่พวกตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) จะสามารถปรับปรุงยกระดับความสามารถในการคร่าชีวิตผู้คน ในช่วงเวลาแห่ง “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีแบบเปิดกว้าง”

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่บรรดาองค์การและปัจเจกบุคคล
ต่างๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังสามารถเข้าถึงและใช้งานพวกเทคโนโลยีที่มีผลก่อให้เกิดความสะดุดติดขัด เทคโนโลยีที่มีผลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในวิธีการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (disruptive technologies) มันไม่มีอีกแล้วที่พวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่เท่านั้นที่เป็นผู้กุมพลังอำนาจทางเทคโนโลยีเอาไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น

เวลาเดียวกันนั้น ในยุคสมัยที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเพิ่มทวีขึ้นทุกที อาจจะมีพวกผู้นำโลกที่รู้สึกว่าพวกเขาสามารถทดสอบความเป็นไปได้ของยุทธวิธีต่างๆ ซึ่งประดาแฮกเกอร์และผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของพวกเขากำลังวางแผนและกำลังทดลองกันอยู่

เมื่อปี 1999 มีนายทหารระดับพันเอก 2 คนในกองทัพจีน เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง [5] ว่าด้วยลักษณะของสงครามและการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิตอล โดยที่ผมได้อภิปรายเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวความคิดของพวกเขาเอาไว้ในหนังสือปี 2023 ของผมเรื่อง Theorising Future Conflict: War Out to 2049 [6]

หนึ่งในความเห็นที่ทำให้รู้สึกว้าวุ่นกังวลใจมากที่สุดในหนังสือเล่มดังกล่าวของพวกเขา ก็คือจุดที่พวกเขาพูดถึงความเป็นไปได้ที่ทุกสิ่งทุกสิ่งจะถูกทำให้กลายเป็นอาวุธขึ้นมาในการสู้รบขัดแย้งระดับโลกในอนาคต พวกเขาเขียนเอาไว้ดังนี้: “อาวุธตามแนวคิดใหม่เหล่านี้จะเป็นเหตุทำให้ทั้งประชาชนคนธรรมดาและทั้งผู้คนที่อยู่ในแวดวงทหาร ต่างก็ต้องเกิดความตื่นตระหนกอย่างใหญ่โตกับข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วโลก ต่างก็สามารถที่จะกลายเป็นอาวุธที่ถูกนำมาใช้ต่อสู้กันในสงคราม”

ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเลบานอนจึงเป็นสิ่งที่อาจให้ความรู้สึกแก่เราได้ ถึงสิ่งที่นักทำนายอนาคตทางทหารจากประเทศจีน 2 คนนี้มองเห็นว่ากำลังจะเกิดขึ้นมาในไม่ช้านี้แล้ว แน่นอนทีเดียว มันยังจะต้องติดตามกันต่อไปอีกว่า รัฐต่างๆ จะสามารถก้าวตามทันภูมิทัศน์ทางด้านความมั่นคงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้หรือไม่ เรานั้นกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีซึ่งปรากฏขึ้นมาใหม่หลายหลากชนิด มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

พวกรัฐที่มีจุดซึ่งต้องใส่ใจห่วงใยอย่างเร่งด่วนมากกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งขาดไร้ทรัพยากร อาจจะเป็นพวกที่ต้องรู้สึกวิตกกังวลยิ่งกว่าเพื่อน เวลาเดียวกันกลุ่มต่างๆ เฉกเช่นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็อาจจะกำลังเข้าสู่ระยะใหม่ของความอ่อนแอเปราะบาง ขณะที่ยุคใหม่แห่งการสู้รบขัดแย้งนี้ กำลังเคลื่อนตัวจากการเป็นเสียงคาดเดาของพวกนักทำนายอนาคต กลายมาเป็นความเป็นจริงอันโหดเหี้ยมร้ายกาจ

ภาพแสดงให้เห็นหลุมที่กองทัพเลบานอนใช้เพื่อดำเนินการจุดชนวนระเบิดแบบมีการควบคุม กับเครื่องวอล์คกี้ทอล์คกี้ เครื่องหนึ่ง ซึ่งถูกแอบวางวัตถุระเบิดไว้ข้างใน ที่บริเวณด้านนอกศูนย์การแพทย์ ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงเบรุต เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2024
ผลกระทบในทางภูมิรัฐศาสตร์

เวลานี้เหตุการณ์ในเลบานอนยังไม่ทันจบสิ้นลง และเราไม่ทราบหรอกว่ายังจะมีการโจมตีเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ เรายังไม่ทราบเช่นกันว่าการโจมตีเหล่านี้จะส่งผลกระทบในทางภูมิรัฐศาสตร์ขอบเขตกว้างขวางออกไป โดยเฉพาะต่อภูมิภาคแถบนี้โดยรวมอย่างไรบ้าง

แต่สำหรับในตอนนี้ มันดูเหมือนกับว่ากำลังเกิดการแบ่งแยกทางดิจิตอลและการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างพวกที่จะเจ็บปวดทุกข์ทรมานกับยุทธวิธีใหม่ๆ ในกระบวนการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นอาวุธนี้ และพวกที่สามารถจะประสานการโจมตีประเภทที่ดำเนินการจากทางไกลอย่างสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเล่นงานปัจเจกบุคคลและองค์การต่างๆ

สำหรับประดาประเทศเฉกเช่นสหราชอาณาจักร ดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่การสู้รบขัดแย้งระดับโลกจะมาถึงจุดที่พวกรัฐปรปักษ์อย่างเช่นรัสเซีย จะฉวยประโยชน์จากจุดอ่อนเปราะใดๆ ที่พวกเขาได้ค้นพบในเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้คนใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน

ยุทธศาสตร์แห่งการป้องปรามที่มีอยู่หลายหลากรูปแบบ –ตัวอย่างเช่น คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างความแน่ใจว่าแต่ละฝ่ายที่นำอาวุธนี้ออกมาใช้ ล้วนจะถูกทำลายกันโดยทั่วหน้า— อย่างน้อยที่สุดจนถึงในเวลานี้ ก็ยังคงสามารถทำให้การสู้รบขัดแย้งของเราจำนวนมาก อยู่ในระดับต่ำกว่าธรณีประตูของการเปิดทำสงครามกันอย่างเปิดเผย

และถ้าหากความตึงเครียดทางภูมิรัฐบาลบรรลุถึงจุดที่ว่า รัสเซียของวลาดิมีร์ ปูติน ดำเนินการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในทางทหารเหล่านี้แล้ว ถึงตอนนั้นบางทีเราคงจะต้องมีอะไรให้รู้สึกกังวล มากมายสาหัสยิ่งกว่าเรื่องที่ไอโฟนกำลังกลายเป็นระเบิดขึ้นมา

ทว่ามันเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐต่างหาก ซึ่งอาจจะไม่ได้รู้สึกถูกกดดันป้องปราม จนกระทั่งต้องถอยห่างจากการใช้วิธีการโจมตีประเภทนี้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องวาดหวังกันว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเหล่านี้ เป็นพวกขาดไร้ทักษะความชำนาญอย่างร้ายแรงในเรื่องการจัดตั้งจัดองค์กร โดยที่ทักษะดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแปรเปลี่ยนข้าวของประจำวันให้กลายเป็นอุปกรณ์ระเบิด -- รวมทั้งเราจำเป็นต้องวาดหวังกันว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหลายตลอดทั่วโลก จะกำลังเฝ้าจับตามองพวกภัยคุกคามต่างๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นมาเรื่อยๆ

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นใจและอย่างรวดเร็วว่องไวยิ่ง ทั้งทางด้าน เอไอ, โดรน, หุ่นยนต์, และการโจมตีทางไซเบอร์ สิ่งที่แน่นอนมีอยู่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือความไม่แน่นอนในโลกอันแสนสลับซับซ้อน และบ่อยครั้งเต็มไปด้วยความหฤโหดสยดสยอง ที่เรากำลังพำนักอาศัยกันอยู่แห่งนี้

มาร์ก เลซี เป็นอาจารย์อาวุโสด้านการเมือง, ปรัชญา, ศาสนา ณ มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์, สหราชอาณาจักร

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/lebanon-pager-attacks-the-weaponisation-of-everything-has-begun-239423

เชิงอรรถ


[1] https://www.theweek.in/news/world/2024/09/18/lebanon-panic-as-two-solar-panel-systems-explode-amidst-pager-walkie-talkie-blasts-in-beirut-targeting-hezbollah.html
[2] https://www.amazon.co.uk/Weaponisation-Everything-Field-Guide-New/dp/0300270410/ref=sr_1_1?crid=2S5TW2YP75SOR&dib=eyJ2IjoiMSJ9.RGk-9UsB-9KYYj6t1NDjpLKo_9IphigMrKxwu5Q20WHNP-DBuu8YxiQba-lqIKl4.Ojfi-sKO-AoeTtvKrafPVl4Gn0utA18Ogei2WpMs3Ic&dib_tag=se&keywords=mark+galeotti+weaponisation&qid=1726740278&s=books&sprefix=mark+galeotti+weaponisation%2Cstripbooks%2C60&sr=1-1
[3] https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/lebanon-israel-hezbollah-pagers-devices-explosions-attacks-latest-b2615542.html
[4] https://www.amazon.co.uk/Power-People-Technological-Innovation-Terrorists/dp/019088214X/
[5] https://www.ft.com/content/d425ee0a-f9bf-11e8-8b7c-6fa24bd5409c
[6] https://www.research.lancs.ac.uk/portal/en/publications/theorising-future-conflict(35e06a08-ff54-4739-9a5f-96bb6bf0509d).html
กำลังโหลดความคิดเห็น