แพกเกจความช่วยเหลือด้านการทหารที่สหรัฐฯ มอบแก่ยูเครนลดน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสต๊อกอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่เพนตากอนมีความตั้งใจดึงจากคลังแสงของตนเอง ส่งไปยังเคียฟลดน้อยลงอย่างมาก ตามรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.)
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความกังวลว่ามันจะส่งผลกระทบต่อความพร้อมทางทหารของสหรัฐฯ ในขณะที่บรรดาผู้ผลิตอาวุธของอเมริกาทั้งหลายยังคงล้าหลังในความพยายามไล่ตามอุปสงค์มหาศาลอันเนื่องมาจากสงครามกับรัสเซีย
ปัญหาขาดแคลนนี้ หมายความว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงมีเงินเหลืออีกราว 6,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับป้อนอาวุธและยุทโธปกรณ์แก่ยูเครน แต่เพนตากอนไม่มีอาวุธและยุทโธปกรณ์ในคลังสำรองเพียงพอที่จะมอบแก่เคียฟตามความตั้งใจเดิม ท่ามกลางสงครามที่ลากยาวมานานกว่า 2 ปี เจ้าหน้าที่ 2 ราย เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็น
หนึ่งในเจ้าหน้าที่กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสต๊อกในชั้นวางของเรา สิ่งที่ยูเครนร้องขอ และเราสามารถทำตามคำร้องขอเหล่านั้นได้หรือไม่กับสิ่งที่เรามีในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความพร้อมต่างๆ"
เพนตากอนเรียกร้องสภาคองเกรสมาแล้วหลายครั้งให้ใช้จ่ายเงินดังกล่าวก่อนที่มันจะหมดอายุลงในช่วงสิ้นเดือนกันยายน อ้างอิงจากพลตรีแพท ไรเดอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการกลับลำโดยสิ้นเชิงจากฤดูหนาวปีก่อน ซึ่งคราวนั้นรัฐบาลวิงวอนให้บรรดาสมาชิกรัฐสภา จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนยูเครน รับมือการรุกรานของรัสเซีย
"การเติมเต็มคลังแสงก็เป็นอีกประเด็นเช่นกัน" เจ้าหน้าที่ระบุ ทั้งนี้สหรัฐฯ กำลังยกระดับการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในนั้นรวมถึงกระสุน 155 มม. และระบบขีปนาวุธแพทริออต เพื่อป้อนแก่ยูเครนและเติมเต็มคลังสำรอง แต่กระบวนการดังกล่าวล่าช้ามานานเป็นปี ไม่รวดเร็วทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนหน้าสงครามในยูเครน คาดหมายว่าสหรัฐฯ มีกำลังผลิตกระสุนปืนใหญ่ 155 มม. จำนวน 15,000 นัดต่อเดือน และด้วยโรงงานใหม่และเปิดไลน์การผลิตใหม่ เวลานี้อเมริกามีกำลังผลิตกระสุนปืนใหญ่ 40,000 นัดต่อเดือน อย่างไรก็ตาม มันยังคงต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี สำหรับเป้าหมายของเพนตากอนในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ให้ได้ 100,000 นัดต่อเดือน
ขั้นตอนยกระดับการผลิตเป็นไปตามกำหนด แต่กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลานานหลายปี จำเป็นต้องเปิดโรงงานใหม่ๆ ขยายโรงงานเดิมที่มีอยู่และพึ่งพาความตั้งใจของสภาคองเกรสในการจัดสรรงบประมาณ
ยูเครนกำลังสัมผัสได้ถึงผลกระทบต่อปัญหาคลังสำรองขาดแคลน อ้างอิงคำกล่าวของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี โดยระหว่างพบปะกับกลุ่มพันธมิตรกลาโหมเพื่อยูเครน (Ukraine Defense Contact Group) ในเยอรมนี เมื่อช่วงต้นเดือน เซเลนสกี บอกกับสหรัฐฯ และพันธมิตรว่า การส่งมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศตามที่เคยรับปากนั้นมีความคืบหน้าล่าช้าเกินไป และเตือนถึงผลกระทบต่อความไม่เพียงพออย่างมากของความช่วยเหลืออันสำคัญ
ในเดือนเมษายน สภาคองเกรสได้ไฟเขียวรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้งบประมาณเพิ่มเติมอย่างเจาะจง 13,400 ล้านดอลลาร์ สำหรับส่งอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ดึงจากคลังแสงอเมริกา ป้อนแก่ยูเครน อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมไม่สามารถใช้งบประมาณดังกล่าวได้ทั้งหมด สืบเนื่องจากแทบไม่เหลืออาวุธและยุทโธปกรณ์ในคลังสำรองแบบเดียวกัน และหากตัดสินใจเดินหน้ามันก็จะก่อความเสี่ยงต่อความพร้อมของสหรัฐฯ เอง เจ้าหน้าที่เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็น
เพนตากอนแถลงในเดือนเมษายน ว่าพวกเขาจะส่งมอบอาวุธและยุทโธปกรณ์มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่ดึงจากคลังสำรองของสหรัฐฯ โดยตรง ป้อนแก่ยูเครน หลังจากในท้ายที่สุดสภาคองเกรสผ่านแพกเกจสนับสนุนด้านเสบียงแก่ยูเครน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นมูลค่าความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่ยูเครนในแต่ละครั้งถือว่าลดน้อยลงอย่างมาก ไม่มีหนไหนที่เกิน 400 ล้านดอลลาร์ มากที่สุดอยู่ราวๆ 125 ล้านดอลลาร์ ถึง 250 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 และ 2023 และเมื่อเร็วๆ นี้เพนตากอนแถลงแพกเกจปกติ ระหว่าง 600 ล้าน ถึง 800 ล้านดอลาร์ ซึ่งน้อยลงมากหากเทียบกับระดับสูงสุด 2,850 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2023
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกคนเน้นว่ารัฐบาลไม่สามารถดึงเสบียงมาจากคลังแสงของกระทรวงกลาโหม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี สืบเนื่องจากสภาคองเกรสอนุมัติเงินเสริมล่าช้า ขณะที่เจ้าหน้าที่รายนี้ยังบอกด้วยว่าอเมริกาจะไม่พยายามส่งอาวุธและยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนในแต่ละครั้งมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กล่าวเสริมว่า สหรัฐฯ ยังคงพยายามแถลงมอบแพกเกจความช่วยเหลือใหม่แก่ยูเครนในทุกๆ 2 สัปดาห์ ด้วยเชื่อว่าแรงสนับสนุนลักษณะดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่เคียฟ
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)