อเมริกาเร่งสะสมคลังอาวุธต่อต้านเรือรบที่มีต้นทุนต่ำและผลิตง่าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามป้องปรามจีนและเตรียมความพร้อมสำหรับกองกำลังสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ซีอีโอในอุตสาหกรรมขีปนาวุธคนหนึ่งชี้ว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียผลักดันให้อเมริกาต้องคิดถึงปรัชญาใหม่คือ “affordable mass” ซึ่งหมายถึงการมีอาวุธราคาถูกจำนวนมากที่พร้อมใช้งาน
ยวน เกรแฮม นักวิเคราะห์อาวุโสของกลุ่มคลังสมองที่ชื่อว่า สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย ชี้ว่า ปรัชญาดังกล่าวเป็นการรับมือคลังแสงของจีนที่ประกอบด้วยเรือและขีปนาวุธทิ้งตัวตามแบบที่รวมถึงขีปนาวุธที่ออกแบบมาเพื่อโจมตีกองเรือ
รอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมาอเมริกาเร่งทดสอบอาวุธ “ควิกซิงก์” (QUICKSINK) ซึ่งเป็นระเบิดที่อาจมีอยู่จำนวนมากและติดตั้งกับชุดนำทางด้วยระบบพิกัดดาวเทียมจีพีเอสและระบบติดตามวัตถุเคลื่อนที่ราคาถูก โดยในการทดสอบเมื่อเดือนที่แล้วในอ่าวเม็กซิโก กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนบี-2 โจมตีเป้าหมายด้วยควิกซิงก์
ทั้งนี้ แม้จีนมีความได้เปรียบอย่างมากในแง่จำนวนขีปนาวุธต่อต้านเรือ และสามารถประจำการใกล้ดินแดนของตนเอง ทว่า หากอเมริกาเพิ่มกำลังผลิตควิกซิงก์จะทำให้ช่องว่างนี้ลดลง รวมทั้งทำให้เรือรบราว 370 ลำของจีนมีความเสี่ยงมากขึ้นหากเกิดความขัดแย้งรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนที่ปักกิ่งจะเดินหน้าปรับปรุงกองทัพในช่วงทศวรรษ 1990
ควิกซิงก์ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นของโบอิ้ง ส่วนระบบติดตามวัตถุเคลื่อนที่เป็นของบีเออี ซิสเต็มส์ ระเบิดนี้สามารถใช้กับชุดพวงหางวัตถุระเบิดที่ใช้โจมตีร่วม (Joint-Direct Attack Munition – เจดีเอเอ็ม) ที่มีอยู่นับแสนชุด ระบบนี้สามารถทิ้งจากเครื่องบินของอเมริกาและพันธมิตร รวมทั้งสามารถแปลงระเบิดไม่นำวิถีขนาด 900 กก. เป็นอาวุธนำวิถีโดยมีต้นทุนต่ำมาก
กองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของอเมริกาต้องการควิกซิงก์นับพันลูกและมีอยู่ในครอบครองมานานหลายปีแล้ว ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของผู้บริหารในอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้เปิดเผยจำนวนที่แน่นอนเนื่องจากเป็นข้อมูลลับ
ผู้บริหารคนดังกล่าวเสริมว่า ด้วยอาวุธ "affordable mass" จำนวนมากพอที่ล็อกเป้าเรือรบจีน อาจสร้างความกดดันอย่างมากต่อปักกิ่ง โดยในสถานการณ์ดังกล่าว กองทัพสหรัฐฯ อาจใช้ขีปนาวุธต่อต้านเรือพิสัยไกล (LRASM) หรือเอสเอ็ม-6 โจมตีเรือรบจีนและระบบเรดาร์ ก่อนถล่มซ้ำด้วยอาวุธราคาถูกอย่างควิกซิงก์
ที่ผ่านมาอเมริกาสะสมอาวุธต่อต้านเรือหลายประเภทเอาไว้ในเอเชีย เช่น เดือนเม.ย. กองทัพบกได้นำชุดยิงขีปนาวุธเคลื่อนที่ไทฟอน (Typhon) แบบใหม่ของตนซึ่งมีต้นทุนต่ำเนื่องจากพัฒนาจากชิ้นส่วนที่มีอยู่ โดยที่มันสามารถยิงขีปนาวุธเอสเอ็ม-6 และโทมาฮอว์ก ไปยังเป้าหมายในทะเล ไปใช้ระหว่างการซ้อมรบร่วมกับฟิลิปปินส์
อาวุธดังกล่าวที่ผลิตได้ง่ายดายและมีอยู่ในคลังแสงจำนวนมาก อาจช่วยให้อเมริกาและพันธมิตรตามทันจีนอย่างรวดเร็วในการแข่งสะสมขีปนาวุธในอินโด-แปซิฟิกซึ่งปักกิ่งนำอยู่หลายช่วงตัว
จากเอกสารการจัดซื้อของกองทัพสหรัฐฯ อินโด-แปซิฟิกจะสั่งซื้อขีปนาวุธเอสเอ็ม-6 กว่า 800 ลูกในช่วง 5 ปีหน้า นอกจากนั้นอเมริกายังมีโทมาฮอว์กนับพันลูกและเจดีเอเอ็มหลายแสนลูกในสต็อก
เกรแฮมชี้ว่า แผนการของจีนคือจำกัดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรของกองทัพเรือสหรัฐฯ ทางด้านตะวันตกของแปซิฟิกและสายโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรก ซึ่งหมายถึงหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่ใกล้ชายฝั่งเอเชียตะวันออกมากที่สุด ทว่า ยุทธศาสตร์การใช้อาวุธราคาถูกจำนวนมากของอเมริกาจะทำให้กองทัพเรือจีนต้องทำงานหนักขึ้น
การติดตั้งอาวุธต่อต้านเรือในบริเวณ อาทิ ฟิลิปปินส์ อาจทำให้อาวุธเหล่านั้นสามารถโจมตีได้ถึงทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างสิทธิ์อธิปไตยถึง 90% ท่ามกลางการต่อต้านจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน
คอลลิน โก๊ะ นักวิชาการของสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศเอส ราชารัตนัมในสิงคโปร์ มองว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันยุติธรรมขึ้น โดยอ้างอิงตัวอย่างกลุ่มกบฏฮูตีที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านและใช้อาวุธต่อต้านเรือที่มีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อนเพื่อโจมตีเรือของพลเรือนในทะเลแดง กดดันให้อเมริกาและประเทศอื่นๆ ต้องใช้อาวุธราคาแพงเพื่อป้องกันการโจมตีดังกล่าว
(ที่มา: รอยเตอร์)