เยอรมนีจะไม่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลของพวกเขาโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย แม้หากว่าชาติอื่นๆ จะเลือกทำเช่นนั้น จากคำยืนยันของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์
สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบ่งชี้ว่าพวกเขาอาจไฟเขียวให้เคียฟใช้ขีปนาวุธอย่าง ATACMS ที่ผลิตโดยอเมริกา และสตอร์ม ชาโดว์ ที่ผลิตโดยสหราชอาณาจักร โจมตีเป้าหมายลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โชลซ์ กล่าวระหว่างเซสชันถามตอบในรัฐบรันเดินบวร์ค เมื่อวันเสาร์ (14 ก.ย.) ยืนยันว่า เบอร์ลินยังคงไว้ซึ่งนโยบายไม่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลที่เยอรมนีมอบให้โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
"ผมยังคงยึดมั่นกับจุดยืนของผมเอง แม้กระทั่งประเทศอื่นๆ ตัดสินใจต่างออกไป" โชลซ์กล่าว "ผมจะไม่ทำสิ่งนี้ เพราะผมคิดว่ามันจะเป็นปัญหา"
เยอรมนีคือผู้บริจาคทางทหารรายใหญ่ที่สุดลำดับ 2 ของยูเครนรองจากสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมา เบอร์ลินมอบหรือรับปากจะมอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่เคียฟมากกว่า 28,000 ล้านยูโร นับตั้งแต่ความขัดแย้งกับรัสเซียเริ่มต้นขึ้น อ้างอิงข้อมูลบนเว็บไซต์ของรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ เบอร์ลินยังคงปฏิเสธเดินตามสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ที่มอบขีปนาวุธพิสัยไกลแก่ยูเครน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม โชลซ์ อธิบายว่าการจัดหาขีปนาวุธทอรัสแก่ยูเครน ซึ่งมีพิสัยทำการ 500 กิโลเมตร จะเท่ากับว่าเยอรมนีเข้าไปมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งโดยตรง
"มันจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลกับการอาวุธที่ส่งมอบเหล่านี้ หากว่าเราเป็นผู้ตัดสินใจหรือกำหนดเป้าหมายต่างๆ ด้วยตัวเราเอง และเป็นอีกครั้งที่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง" เขาเน้นย้ำ
ในวันพฤหัสบดี (5 ก.ย.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตือนมหาอำนาจตะวันตกต่อสถานการณ์ความเป็นปรปักษ์ที่ลุกลามบานปลาย "เราไม่ได้พูดถึงการอนุญาตให้ห้ามรัฐบาลเคียฟ จากการโจมตีดินแดนรัสเซีย" ปูติน อธิบายเน้นว่ายูเครนกำลังทำสิ่งนี้อยู่ก่อนแล้ว
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก ปูติน เคยเตือนว่าการปล่อยให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลที่พวกเขาจัดหาให้ โจมตีเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่ภายในดินแดนของประเทศของเขา เท่ากับเป็นการทำให้นาโตเปิดศึกสงครามโดยตรงกับรัสเซีย
รายงานข่าวระบุว่ายูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS และสตอร์ม ชาโดว์ โจมตีเป้าหมายต่างๆ ในไครเมียและภูมิภาคดอนบาส นำมาซึ่งความสูญเสียเกิดขึ้นกับพลเรือนหลายราย
ขณะที่ ปูติน ชี้ว่ายูเครนไม่ได้มีความสามารถที่จะใช้งานระบบพิสัยไกลของตะวันออกอย่างอิสระ และการเล็งเป้าหมายต่างๆ สำหรับการโจมตีดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพิงข่าวกรองจากดาวเทียมของนาโต และการเข้าสู่ขั้นตอนการยิงนั้นจะเข้าได้เฉพาะบุคลากรทางทหารของนาโตเท่านั้น
"นั่นหมายความว่าบรรดาชาตินาโต สหรัฐฯ และเหล่าประเทศยุโรปกำลังสู้รบกับรัสเซีย" ปูตินเน้นย้ำ พร้อมชี้ว่าการมีส่วนร่วมโดยตรงดังกล่าวจะเป็น "ลักษณะและแก่นของความขัดแย้ง" นั่นหมายคความว่ารัสเซียจะจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างเหมาะสมในการจัดการกับภัยคุกคามต่างๆ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน ปูติน ประกาศว่ามอสโกจะสอยร่วงขีปนาวุธใดๆ ที่ถูกใช้ในการโจมตีพิสัยไกล และแก้แค้นกับพวกที่อยู่เบื้องหลัง หนึ่งในความเป็นไปได้ของการตอบโต้ คือการส่งอาวุธที่ล้ำสมัยแบบเดียวกันไปให้กองกำลังต่างๆ ที่กำลังสู้รบขัดแย้งกับตะวันตก
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)