xs
xsm
sm
md
lg

เปรียบเทียบการบุกเข้าแคว้นคูร์สก์ของยูเครน กับ ยุทธการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายของนาซีเยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


รูปสามมิติแสดงให้เห็นสภาพทหารเยอรมนีในยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหารแห่งชาติ (National Museum of Military History ใช้อักษรย่อตามชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า MNHM) ของลักเซมเบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ในคอมมูนดีเคิร์ช (Diekirch) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลักเซมเบิร์ก (ภาพจาก Wikimedia Commons)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Kursk invasion looks like WWII’s Battle of the Bulge
by Stephen Bryen
12/08/2024

การที่กองทหารยูเครนรุกล้ำเข้าไปในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซียเวลานี้ มีอยู่หลายแง่หลายมุมที่คล้ายคลึงกับยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) ซึ่งนาซีเยอรมนีรวมกำลังเปิดการรุกใหญ่ตีโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรทางแนวรบด้านตะวันตกเป็นครั้งสุดท้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็เฉกเช่นเดียวกับฝ่ายเยอรมนีเมื่อครั้งปี 1944 การปฏิบัติการของยูเครนในปัจจุบัน คือการเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูงทั้งในทางยุทธศาสตร์และในทางการเมือง

ผู้อ่านบางคนของบล็อก “Weapons and Strategy” นี้ บอกว่ามีความคล้ายคลึงกันมากเหลือเกินระหว่าง ยุทธการคูร์สก์ -ที่ยูเครนส่งกองทหารรุกล้ำเข้าไปในแคว้นคูร์สก์ ทางภาคตะวันตกของรัสเซียในเวลานี้ กับ ยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) ซึ่งกองทัพนาซีเยอรมนีรวบรวมกำลังรบชุดสุดท้ายบุกเข้าตีโต้ตอบกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ในแนวรบด้านตะวันตก ที่บริเวณป่าอาร์แดน ในเขตประเทศเบลเยียมและประเทศลักเซมเบิร์ก โดยที่การรบครั้งนั้นเป็นไปอย่างดุเดือดในระหว่างเดือนธันวาคม 1944 ถึงเดือนมกราคม 1945 เรื่องนี้ถือเป็นหัวข้อที่มีคุณค่าควรแก่การสำรวจศึกษา

ทหารช่างอเมริกันออกมาจากป่า เพื่อเข้าสู่ที่มั่นสำหรับการรับศึก ภายหลังการสู้รบที่บริเวณชานเมืองบาสตองเน, เบลเยียม (ภาพจาก Wikimedia Commons)
ยุทธการตอกลิ่ม เป็นความพยายามของกองกำลังฝ่ายนาซีที่จะสกัดกั้นการรุกคืบหน้าของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมุ่งบุกเข้าสู่ดินแดนของเยอรมนี ฮิตเลอร์กำลังเผชิญกับกองกำลังหลักของฝ่ายสัมพันธมิตรใน 2 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ ทางด้านเหนือ เป็นกองทัพของสหราชอาณาจักรและกองทัพของแคนาดา ส่วนทางด้านใต้ คือกองทัพสหรัฐอเมริกา

แผนการรบของฝ่ายนาซีที่วางออกมาคือ การตัดเฉือนแนวรบของฝ่ายสัมพันธมิตรให้ขาดออกเป็นส่วนๆ เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายเยอรมนีเข้าโอบล้อมและทำลายไปทีละส่วน และรุกต่อไปทางตะวันตก ด้วยความหวังที่จะเข้ายึดเมืองท่าแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม เนื่องจากท่าเรือแอนต์เวิร์ปคือเส้นส่งกำลังบำรุงหลักสำหรับพวกกองทัพสัมพันธมิตร ถ้าหากการเดิมพันคราวนี้ประสบความสำเร็จ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากสาหัส และบางทีอาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะต้องทำข้อตกลงกับฮิตเลอร์

ถ้าสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรยอมเจรจากับฮิตเลอร์ ฝ่ายรัสเซียก็จะถูกทอดทิ้งให้ต้องสู้รบต่อไปตามลำพังของตนเอง ขณะที่ฝ่ายเยอรมนีอาจสามารถที่จะโยกย้ายกำลังทหารของพวกตนซึ่งอยู่ทางแนวรบด้านตะวันตกกลับไปป้องกันกรุงเบอร์ลิน

ฮิตเลอร์กำลังวาดหวังว่าจะสามารถพึ่งพาอาศัยการทำให้สหรัฐฯและสหราชอาณาจักรแตกแยกกับรัสเซีย ไม่เฉพาะเพียงแค่ในสนามรบเท่านั้นแต่ในทางอุดมการณ์ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากฮิตเลอร์ได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่สำคัญ กล่าวคือ ภายหลังการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference) ในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 และการประชุมพอตสดัม (Potsdam Conference) ในเดือนกรกฎาคม 1945 มันก็เป็นที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ (ซึ่งมีประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ เข้าประชุมที่ยัลตา และประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ที่พอตสดัม) และสหราชอาณาจักร (มีนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ที่ยัลตา และนายกรัฐมนตรีคลีเมนต์ แอตต์ลี เข้าร่วมตอนท้ายๆ ที่พอตสดัม) ต้องยินยอมต่อความต้องการของสตาลิน โดยยอมรับความทะเยอทะยานด้านดินแดนในยุโรปตะวันออกของรัสเซีย

วินสตัน เชอร์ชิล ขณะกล่าวคำปราศรัย “ม่านเหล็ก” ที่วิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ คอลเลจ เมืองฟุลตัน รัฐมิสซูรี สหรัฐฯ ในวันที่ 5 มีนาคม 1946
อีก 1 ปีต่อมา ที่เมืองฟุลตัน (Fulton) รัฐมิสซูรี ประธานาธิบดีทรูแมน ของสหรัฐฯ ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับ เชอร์ชิล ซึ่งในตอนนั้นพ้นจากอำนาจแล้ว ไปกล่าวปราศรัยที่วิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ คอลเลจ (Westminster College) ในคำปราศรัยดังกล่าว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเรียกขานว่า คำปราศรัยม่านเหล็ก (Iron Curtain speech) จุดสำคัญที่เชอร์ชิลกล่าว มีดังนี้:

จากเมืองสเตตติน (Stettin อยู่ในโปแลนด์) ในทะเลบอลติก ไปถึงเมืองตรีเยสเต (Trieste อยู่ในอิตาลี) ในทะเลเอเดรียติก ม่านเหล็กผืนหนึ่งได้กางกั้นแผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีป (ยุโรป) ด้านหลังของแนวม่านเหล็กดังกล่าวนี้ เป็นที่ตั้งของทุกๆ เมืองหลวงของบรรดารัฐโบราณแห่งยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก วอร์ซอ, เบอร์ลิน, ปราก, เวียนนา, บูดาเปสต์, เบลเกรด, บูคาเรสต์, และ โซเฟีย นครที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ทั้งหมด และประชากรที่อยู่รอบๆ นคร ต้องนอนคุดคู้อยู่ในสิ่งที่ผมต้องเรียกว่าเป็นเขตอิทธิพลโซเวียต (Soviet sphere) พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นคนในบังคับ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่เฉพาะแค่เพียงอยู่ภายในอิทธิพลโซเวียต แต่ยังอยู่ใต้อิทธิพลในระดับสูงมากๆ และในหลายๆ กรณียังถูกมาตรการบังคับควบคุมจากมอสโกมากขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงเฉพาะ เอเธนส์ –กรีซที่ยังคงเจริญรุ่งเรืองอย่างเป็นอมตะ— ซึ่งมีเสรีที่จะตัดสินอนาคตของตนเองด้วยการเลือกตั้งภายใต้การสังเกตการณ์ของสหราชอาณาจักร, อเมริกา, และฝรั่งเศส

ถ้าพวกนาซีประสบความสำเร็จในยุทธการตอกลิ่ม เชอร์ชิลก็จะไม่ต้องมากล่าวคำปราศรัยนี้ของเขา ขณะเดียวกัน สงครามเย็น อย่างที่พวกเราเข้าใจกันในทุกวันนี้ แม้อาจจะยังคงเกิดขึ้นมาอยู่นั่นเอง ทว่าพลวัตและดินแดนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะผิดแผกแตกต่างออกไป สหรัฐฯในตอนนั้นเป็นมหาอำนาจปรมาณูเรียบร้อยแล้ว และชาวรัสเซียถึงแม้ประสบความเสียหายใหญ่หลวงรวมทั้งความวิบัติหายนะที่เกิดขึ้นกับดินแดนรัสเซียสืบเนื่องจากสงคราม อาจจะถูกบังคับให้ต้องขบคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางดินแดนที่ สตาลิน มุ่งเสาะแสวงหาให้ได้มา ณ การประชุมที่ ยัลตา และ พอตสดัม

ยุทธการตอกลิ่ม มีการใช้กองกำลังขนาดใหญ่โตมหึมามาก ในตอนเริ่มต้นยุทธการ กองทัพนาซีมีความเหนือกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรแบบข่มกันมิด ทั้งในเรื่องกำลังพล (500,000 นาย ต่อ 229,000 นาย) และทางด้านฮาร์ดแวร์ (รถถัง 557 คัน ต่อ 448 คัน) แต่เมื่อถึงตอนท้ายของยุทธการ อัตราส่วนเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถนำเอากองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาเพิ่มเติมได้มากมายกว่า จนกระทั่งกองทัพสัมพันธมิตรมีกำลังทหาร 700,000 คน และกองทัพเยอรมนีลดลงมาเหลือ 383,000 คน สัมพันธมิตรมีรถถังในสนามรบ 2,428 คัน (ยังไม่นับรวมพวกยานพิฆาตรถถัง tank destroyer) ฝ่ายนาซีเหลืออยู่เพียง 216 คัน (และอยู่ในสภาพขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง)

ยานพิฆาตรถถัง M36 tank destroyers ติดตั้งปืนใหญ่ M3 ขนาด 90ม.ม. ขณะเคลื่อนไปข้างหน้าท่ามกลางหมอกหนา เพื่อสกัดกั้นหน่วยหน้าของฝ่ายเยอรมนี ที่บริเวณใกล้ๆ เมืองแวร์โบมงต์, เบลเยียม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1944 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสู้รบในยุทธการตอกลิ่ม (ภาพจาก Wikipedia)
เมื่อตอนเริ่มต้นยุทธการตอกลิ่ม กำลังพลฝ่ายสัมพันธมิตรในสนามรบส่วนใหญ่แล้วเป็นทหารชั้นสอง ซึ่งไม่มีประสบการณ์มากมายเท่าเทียมกับพวกทหารผ่านการฝึกมาอย่างดีที่สหรัฐฯจะนำออกมาใช้ในสมรภูมิเมื่อสถานการณ์มีความคืบหน้าไปแล้ว (ปรากฏว่า “อาวุธลับ” ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีการเผยโฉมออกมา ก็คือ นายพลจอร์จ แพตตัน ผู้กล้าหาญและกล้าเสี่ยง) ในทางตรงกันข้าม กองทหารเยอรมนี เป็นพวกที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี มีระเบียบวินัยสูง และเป็นนักรบที่เด็ดเดี่ยวและบึกบึนเหนียวแน่น

มีความคล้ายคลึงกันที่ตรงนี้ระหว่างการสู้รบที่แคว้นคูร์สก์ในเวลานี้กับยุทธการตอกลิ่ม รัสเซียไม่ได้มีกองทัพประจำการตามปกติของตนอยู่ในคูร์สก์ กองทหารรักษาดินแดนที่ขาดประสบการณ์คือผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องพื้นที่นี้ ในทางตรงกันข้าม พวกกองพลน้อยของยูเครนที่บุกเข้าไปในคูร์สก์ คัดสรรมาจากพวกทหารชั้นเยี่ยมที่สุดในยูเครน

การที่ทหารยูเครนสามารถรุกคืบหน้าได้อย่างรวดเร็วเข้าไปในแคว้น คูร์สก์ ของรัสเซีย และยึดเอาหมู่บ้านน้อยใหญ่ได้จำนวนหนึ่ง คือหลักฐานชัดเจนที่แสดงถึงการขาดไร้การเตรียมพร้อมของฝ่ายรัสเซีย และความสามารถที่จะนำเอาจุดนี้มาใช้ประโยชน์ของกองทัพยูเครน

ในกรณีของยุทธการตอกลิ่ม ฝ่ายเยอรมนีได้รับความช่วยเหลือจากสภาพอากาศที่เลวร้ายจนทำให้การตรวจการณ์ทางอากาศเป็นเรื่องทำไม่ได้ในบางเวลา ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถใช้แสนยานุภาพทางอากาศของพวกเขาเข้าเล่นงานกองทหารข้าศึกที่ชุมพลรวมตัวกัน แน่นอนทีเดียวว่า เรื่องดังกล่าวนี้เปลี่ยนไปเมื่อสภาพอากาศกลับกระจ่างแจ่มใส –และมันทำให้เกิดความแตกต่างออกไปเป็นคนละเรื่องทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเมืองบาสตองเน (Bastogne) และการทำลายเส้นทางส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเยอรมนี

ทหารของกรมทหารราบที่ 117กองพลทหารราบที่ 30 ของสหรัฐฯ เดินผ่านรถถัง M5 “สจวร์ต” ของอเมริกันที่ถูกทำลายเสียหาย ขณะเดินทัพเข้ายึดเมืองแซงต์วิธ (St. Vith) ประเทศเบลเยียม ในตอนท้ายของยุทธการตอกลิ่ม  ทั้งนี้ แซงต์วิธ ถูกทำลายเสียหายหนักระหว่างการสู้รบภาคพื้นดิน และการโจมตีทางอากาศภายหลังจากนั้น กองททหารอเมริกันเข้ายึดเมืองนี้คืนมาได้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 1945 (ภาพจาก Wikipedia)
สภาพอากาศในคูร์สก์เวลานี้ดูเหมือนอยู่ในอยู่ในภาวะแจ่มใส ฝ่ายยูเครนได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วยการปล่อยโดรนโจมตีเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน รวมทั้งหาทางโจมตีด้วยขีปนาวุธและปืนใหญ่พิสัยไกล ฝ่ายรัสเซียมีความล่าช้าในการใช้โดรนและปืนใหญ่ของฝ่ายตน โดยที่สำคัญเป็นเพราะยังไม่ได้มีกองทหารประจำการปกติของรัสเซียมาอยู่ที่แนวหน้า

ยังมีข้อที่น่าสังเกตด้วยว่า การเฝ้าสอดแนมยูเครนของฝ่ายรัสเซียมีความผิดพลาดมากที่ไม่พบเห็นการเตรียมการเพื่อเข้าโจมตีครั้งนี้ (แบบเดียวกับความผิดพลาดของฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนที่การโจมตีของเยอรมนีในยุทธการตอกลิ่มเริ่มต้นขึ้น) เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรในกรณีของคูร์สก์ ยังไม่เป็นที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนแจ๋วแหววว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นไม่มีความสามารถในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมการของทางเยอรมนีเพื่อเปิดยุทธการตอกลิ่มเอาเลย ทั้งนี้ ในทั้งสองกรณี สิ่งที่พวกเขาอาจจะมองเห็นหรืออาจจะมองไม่เห็น ได้เกิดชนปะทะกับการที่พวกเขามีความคิดเห็นอยู่แล้วล่วงหน้าในใจของพวกเขา ในเรื่องเกี่ยวกับสมรรถนะและเจตนารมณ์ของข้าศึก

ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เคยคาดหมายเลยว่าทางเยอรมนีจะทำอะไรมากมายไปกว่าความพยายามที่จะพิทักษ์ป้องกันดินแดนมาตุภูมิของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งนี่หมายความว่าฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เคยคาดหมายว่าจะมีการเปิดการรุก และที่แน่นอนเลยก็คือไม่เคยคาดหมายเลยว่าจะมีการเปิดการรุกอย่างห้าวหาญถึงขนาดที่ฝ่ายเยอรมนีกระทำขึ้นมา นอกจากนั้นแล้ว ทางสัมพันธมิตรก็ไม่เคยคาดคิดเช่นกันว่าฝ่ายเยอรมนีจะกล้าขับเคลื่อนแผนการมุ่งหน้าไปยึดแอนต์เวิร์ปเช่นนี้

ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายรัสเซียอยู่ในสภาพเดินหน้าไปได้ด้วยดีกับโปรแกรมที่กระทำอย่างเป็นระบบของพวกเขา ในการลดขนาดและลดความสามารถสู้รบของกองทัพยูเครน การรุกคืบหน้าไปได้อย่างสม่ำเสมอในแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) ถึงแม้ยังคงอยู่ในฝีก้าวที่เชื่องช้า กำลังเริ่มต้นที่จะเจาะทำลายลึกเข้าไปจนถึงด้านหลังของพลังต้านทานของฝ่ายยูเครนแล้ว –หรืออย่างน้อยที่สุดนี่คือฝ่ายรัสเซียก็เชื่อว่าเป็นเช่นนี้ การประเมินของพวกเขาดังกล่าวนี้ถือว่าถูกครึ่งหนึ่งและก็ผิดครึ่งหนึ่ง

ฝ่ายรัสเซียนั้นคาดการณ์ถูกต้องแล้ว ที่ว่าพวกเขากำลังประสบความสำเร็จในการสกัดเอาต้นทุนค่าใช้จ่ายอันมหาศาลออกมาจากกองทัพยูเครน คู่ขนานกันไปนั้นเอง ฝ่ายรัสเซียยังกำลังทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวดของยูเครน ซึ่งรวมไปถึงกระแสไฟฟ้าด้วย –เป็นการส่งข้อความที่มีความหมายทางการเมืองไปถึงคณะผู้นำและประชาชนของยูเครน

ทว่าฝ่ายรัสเซียก็ผิดพลาดตรงที่มองไม่ออกว่า ยูเครนยังคงมีกองทหารระดับกองพลน้อยที่แข็งแกร่งเหนียวแน่นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยูเครนสามารถนำเอามาใช้ในการปฏิบัติการพิเศษ และฝ่ายยูเครนก็เลือกที่จะใช้งานพวกเขาในแคว้นคูร์สก์ แทนที่จะเฝ้ามองพวกเขาถูกฝ่ายรัสเซียเข่นฆ่าทำลายไปในแนวรบด้านตะวันออกของยูเครนอย่าง ชาซอฟ ยาร์ (Chasov Yar) หรือ นิว ยอร์ก (Niu York)

(ความผิดพลาดอย่างฉกาจฉกรรจ์ประการหนึ่งของฝ่ายรัสเซีย คือ การที่พวกเขาล้มเหลวไม่มุ่งโฟกัสที่การทำลายพวกกองพลน้อยชั้นนำของยูเครน ตรงกันข้าม ฝ่ายรัสเซียจับจ้องสนใจอยู่ที่การยึดครองดินแดนเพิ่มขึ้นมา และปล่อยให้ฝ่ายยูเครนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้หน่วยทหารอะไรของพวกเขาไปสู้รบที่ไหน

ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2024 ระหว่างที่ยูเครนจัดให้สื่อมวลชนเดินทางไปดูผลงานของฝ่ายยูเครนในการบุกตีเข้าไปในแคว้นคูร์สก์ ทางภาคตะวันตกของรัสเซีย โดยในภาพนี้แสดงให้เห็นจุดข้ามพรมแดนที่ถูกทำลายเสียหาย บริเวณใกล้ๆ กับเมืองซุดซา (Sudzha) ในแคว้นคูร์สก์ ซึ่งทางยูเครนควบคุมเอาไว้ได้แล้ว
การรุกล้ำเข้าไปในแคว้นคูร์สก์มีขนาดขอบเขตเล็กนิดเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้กองทัพที่มีกำลังพลมหึมาในยุทธการตอกลิ่ม ในตอนเริ่มต้นการบุกเข้าไปใน คูร์สก์ ฝ่ายยูเครนใช้กำลังอาจจะเพียงแค่ 1,000 นาย บวกด้วยกำลังเสริมของยานเกราะและปืนใหญ่ระดับพอประมาณ ยูเครนยังใช้การป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งรวมไปถึงชุดระบบ “แพทริออต” แบบเคลื่อนที่ (mobile patriot batteries), ทรัพย์สินด้านการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์, และโดรนจจำนวนเยอะแยะ

ทำนองเดียวกัน ทางด้านรัสเซียนั้น มีการใช้เพียงแค่หน่วยทหารรักษาดินแดนที่ไม่มียานเกราะ และขาดไร้อาวุธต่อสู้รถถังสมัยใหม่ ในขณะที่เขียนข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ ฝ่ายรัสเซียเพิ่งนำเอาพวกนักรบเชชเนีย และนักรบวากเนอร์ (ซึ่งเวลานี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพประจำการตามปกติของรัสเซียไปแล้ว) เข้ามา มีรายงานหลายกระแสระบุว่ากองกำลังขนาดใหญ่กว่านี้อีกก็กำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปที่ คูร์สก์ เช่นกัน โดยดึงเอามาจากกองกำลังสำรอง ไม่ใช่พวกหน่วยที่กำลังสู้รบอยู่ในที่อื่นๆ ในยูเครน

จวบจนถึงวันที่ 11 สิงหาคม การรุกล้ำแทบทั้งหมดของยูเครนอยู่ในสภาพ “สร้างเสถียรภาพ” ซึ่งหมายความว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว การโจมตีของฝ่ายยูเครนกำลังถูกตอบโต้อย่างประสบความสำเร็จ

เมื่อพิจารณาถึงฉากการสู้รบปัจจุบันใน คูร์สก์ แล้ว มันไม่ได้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับในยุทธการตอกลิ่มหรอก จุดมุ่งหมายของพวกนาซีในครั้งนั้นคือการเจาะทะลุแนวของกองทัพสหรัฐฯและกองทัพสหราชอาณาจักร เพื่อตัดเฉือนพวกเขาให้ขาดจากกัน แล้วผลักดันให้ถอยร่นไปทางทะเล ขณะที่จุดมุ่งหมายของฝ่ายยูเครนในตอนนี้อยู่ที่การยึดครองดินแดนรัสเซียเอาไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ กระนั้นก็ตามที ในทั้ง 2 กรณี จุดมุ่งหมายก็เหมือนกันในเรื่องการมุ่งให้เกิดการเจรจาต่อรองกัน แต่พวกนาซีนั้นถึงขั้นวาดหวังที่จะทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความพ่ายแพ้ทีเดียว ขณะที่ฝ่ายยูเครนไม่ได้ตั้งความหวังถึงขนาดนั้นกับฝ่ายรัสเซีย

เวลานี้เรายังไม่ทราบว่ายูเครนจะสามารถประคองรักษาการโจมตีในแคว้นคูร์สก์เอาไว้ได้หรือไม่ ถ้าหากยูเครนส่งกำลังทหารเข้าไปมากยิ่งขึ้นอีก พวกเขาก็จะไม่มีความได้เปรียบอย่างเดียวกับในช่วงแรกของการสู้รบครั้งนี้อยู่ดี ดังนั้น การวางเดิมพันของยูเครนจึงอยู่เพียงแค่เท่าที่กล่าวมาข้างต้น โดยที่ต้องแบกรับความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์และทางการเมืองเอาไว้ หากพิจารณาในแง่นี้แล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่า ยุทธการตอกลิ่ม และการรุกล้ำเข้าแคว้นคูร์สก์ มีธีมที่เหมือนๆ กันอยู่

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ


ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น